วาทะพุทธทาส-ทำบุญปีใหม่ต้องไม่งมงาย…ต้องลืมหูลืมตาสว่างไสว แจ่มแจ้งขึ้น

พุทธทาส ภุทธทาสภิกขุ กล่าวถึง ทำบุญปีใหม่
ภาพประกอบจาก หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ-สวนโมกข์กรุงเทพ (https://main.bia.or.th)

วาทะ พุทธทาสภิกขุ ทำบุญปีใหม่ ต้องไม่งมงาย… ต้องลืมหูลืมตาสว่างไสว แจ่มแจ้งขึ้น

เทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคนส่วนใหญ่คือ “ทำบุญ” ด้วยคาดหวังให้ปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงเป็นปีที่ดีในด้านต่างๆ ระยะหลังๆ จึงเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมทำบุญส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว เช่น ไหว้พระวัด 9 วัด, สวดมนต์ข้ามปี ฯลฯ

พระธรรมโกศาจารย์ หรือรู้จักในนาม พุทธทาสภิกขุ (พ.ศ. 2449-2536) เคยแสดงธรรมะเทศนาเกี่ยวกับการทำบุญวันขึ้นปีใหม่ไว้เช่นกัน ซึ่งเว็บไซต์ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ-สวนโมกข์กรุงเทพ (https://main.bia.or.th) แสดงและรวบรวมไว้ในบทความชื่อ “เทศน์วันขึ้นปีใหม่ ปี พ.ศ. 2514” ซึ่งในที่นี้ขอคัดย่อเนื้อหามาบ้างส่วน ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]


 

ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุเป็นอภิรักขิตสมัย กล่าวคือวันขึ้นปีใหม่…การทำบุญในวันปีใหม่นี้อย่างน้อยที่สุดมันก็จะต้องทำด้วยความรู้สึกคิดนึกชนิดที่เป็นความไม่ประมาท ที่ว่าได้ล่วงมาปีหนึ่งแล้ว ก็จะได้ทำให้ดีในปีต่อไป…

…การทำบุญมันจึงมีอยู่กัน 3 ชั้นอย่างนี้

ทำบุญให้สบายใจเหมือนคนที่ทำกันทั่วไปนี้ ไม่ยาก ทำตามเขาว่า ละเมอเพ้อๆ ไปก็ยังอิ่มอกอิ่มใจได้ แม้ที่สุดจะเป็นบุญปลอม ก็ยังอิ่มอกอิ่มใจได้  เหมือนคนมีเงินปลอม เมื่อไม่รู้ว่าปลอมมันก็สบายใจว่ามีเงินมากได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การที่จะเอาแต่ความอิ่มใจเป็นหลักนั้น ยังไม่ปลอดภัย ยังจะต้องระวังให้ดีๆ ว่ามันอิ่มอกอิ่มใจถูกต้องจริงๆ หรือเปล่า

ทีนี้บุญชั้นที่ 2 ก็คือให้มันเห็นชัดลงไปว่ามันล้างบาป อะไรที่เป็นบาป มันก็ทำให้หมดไปสิ้นไป เช่นว่าความขี้เหนียว เป็นสิ่งที่ทำให้ร้อนใจ ก็ทำบุญ เพื่อจะล้างความขี้เหนียวนั้นเสีย คือการบริจาค เพื่อจะทำลายเสียซึ่งมัจฉริยะ ดังนี้เป็นตัวอย่าง เรียกว่าทำบุญเพื่อล้างบาป

ส่วนอันสุดท้ายนั้น ทำบุญเพื่อจะให้ส่งขึ้นไปจนถึงระดับที่มีบุญเต็มปรี่ แล้วก็ยังรู้สึกว่ามันยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ก็เลยอยากจะให้หยุดเวียนว่ายตายเกิด จึงทำไปในทางที่เป็นวิชาความรู้ ให้รู้ว่าถ้ายังมีความหลง มีอวิชชา มีตัวกู มีของกู อยู่เพียงใดแล้ว ยังมีความทุกข์อยู่เพียงนั้น แม้จะเป็นตัวกูในสวรรค์ชั้นฟ้า ชั้นพรหมอะไรก็ตาม จึงมุ่งที่จะทำลายล้างเสียซึ่งความผูกพันของอวิชชา อย่าให้มีความรู้สึกว่าตัวกู ของกู อีกต่อไปดังนี้

ในวันนี้ท่านทั้งหลายก็ได้ทำบุญปีใหม่ด้วยการตักบาตร ด้วยการรับศีล ด้วยการฟังเทศน์ เป็นต้น มันจะนำมาซึ่งความอิ่มใจ หรือว่ามันจะนำมาซึ่งการล้างบาป หรือว่ามันจะนำมาซึ่งความหลุดพ้น ก็แล้วแต่ท่านทั้งหลายจะกระทำ

แต่อยากจะแนะให้สังเกตอยู่สักข้อหนึ่งว่า เมื่อตอนเช้านี้ก็มีการกล่าวคำถวายทานตามธรรมดาว่า อิทัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ อย่างนี้ถึง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นธรรมเนียมประเพณีของที่นี่ แต่แล้วขอให้พิจารณาดูจากถ้อยคำที่ว่านั้นว่า อิทัง วะตะ เม ทานัง ทานของข้าพเจ้าวันนี้หนอ อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ จงเป็นสิ่งนำมาซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะ

คำว่าความสิ้นไปแห่งอาสวะนั้นมันหมายความว่า หมดกิเลส หมดอวิชชา หมดตัณหา หมดอุปาทาน หรือที่เรากล่าวกันตามธรรมดาว่าหมดตัวกู ของกู โดยสิ้นเชิง เมื่อมีการถวายทานยังมีความประสงค์ว่าให้ทานนี้เป็นไปเพื่อความหมดแห่งตัวกู ของกู ดังนี้ ถ้ามันเป็นได้อย่างนั้นจริง

…เพราะว่า ทำบุญปีใหม่ มันต้องไม่งมงาย มันต้องไม่หลับหูหลับตาอยู่อย่างเดิม มันจะต้องลืมหูลืมตาสว่างไสว แจ่มแจ้งขึ้น

ถ้าจะว่า อิทัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง อีกต่อไปแล้ว ขอให้ระมัดระวังในเรื่องนี้ให้เป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เป็นไปตามนั้นได้จริงๆ ก็จะเรียกได้ว่าการทำบุญนั้นสมกับที่จะว่าเป็นการทำบุญปีใหม่ และเป็นปีใหม่เอี่ยมทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ธันวาคม 2565