การทำบุญของคนล้านนาเมื่อ 500 ปีก่อน ภาพสะท้อนถึงความมั่งคั่ง

วิหารวัดและหอธรรม ที่เมืองนคร (ลําปาง) ในบันทึกของ Carl Bock ภาพจาก Carl Bock, Temples and Elephants (Bangkok: White Orchid Press, 1985)

การค้าระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขยายตัวมากขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 จนได้ชื่อว่ายุคสมัยแห่งการค้า ทำให้การค้าของเมืองท่าชายฝั่งอย่างกรุงหงสาวดี และกรุงศรีอยุธยา เติบโต และส่งผลให้การค้าของเมืองในภาคพื้นทวีปอย่างล้านนารุ่งเรืองไปตามด้วยการส่งสินค้าของป่าออกมายังเมืองท่าชายฝั่ง เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของล้านนา

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนความมั่งคั่งของบ้านเมืองเวลานั้นก็คือ การทำบุญบำรุงศาสนา ซึ่งวิชญา มาแก้ว ได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือ “ยุคทองล้านนา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสามัญชน” (สนพ.มติชน, มีนาคม 2546) ไว้ดังนี้

Advertisement

 

ในสมัยหลัง ราว ค.ศ. 1820-1911 มีการสำรวจรายชื่อวัดต่างๆ เฉพาะภายในกำแพงเวียงเชียงใหม่ทั้งชั้นนอกและชั้นใน พบว่ามีวัดวาอารามรวมกันมากถึง 161 แห่ง ดังนั้นทั่วทั้งอาณาจักรคงมีวัดจำนวนมาก

เอกสารจีนหยูนหนานทงจื้อ เขียนในสมัยราชวงศ์หมิง ระบุว่า “ประเทศปาไป่สีฟู่ (ล้านนา)…ประชาชนมีจิตศรัทธาปสาทะในพระศาสนา วัดและเจดีย์จะพบเห็นได้ในทุกๆ หมู่บ้าน ดังนั้นจึงนับจำนวนวัดและเจดีย์ได้เป็นหมื่นแห่ง…” ทั้งนี้เนื่องจากกษัตริย์ในราชวงศ์มังรายเกือบทุกรัชกาลจะทรงสร้างวัดใหม่ๆ ขึ้นเสมอทั้งในเมืองเชียงใหม่และต่างเมือง รวมไปถึงบรรดาขุนนางใหญ่น้อยระดับต่างๆ หรือแม้กระทั่งสามัญชนซึ่งมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ล้วนต้องการสร้างวัด ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ เพื่อแสดงถึงการเป็นส่วนหนึ่งในการอุปถัมภ์ค้ำชูและสืบทอดพุทธศาสนา

แม้จารึกในล้านนาส่วนใหญ่จะมุ่งหมายแสดงบทบาทของกษัตริย์ หรือชนชั้นสูงในการเป็นผู้นำในการทำบุญ-กัลปนา หรืออุทิศทรัพย์สินจำนวนมากให้แก่พุทธศาสนา แต่จะพบได้ว่ารายละเอียดเนื้อหาในศิลาจารึกหลายหลักกล่าวถึงการ “ชักเชิญนักบุญทั้งหลาย” คือเชิญชวนบุคคลทั่วไป ทั้งพระสงฆ์ ขุนนาง และสามัญชน ผู้มีจิตศรัทธามาร่วมกันทำบุญด้วย อาจกล่าวได้ว่าในการกัลปนาผลประโยชน์หรือสร้างศาสนสถาน-ศาสนวัตถุ ทรัพยากรที่ถูกใช้ไปไม่ได้มาจากทรัพย์สินของผู้นำในการทำบุญซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นสูงไปเสียทั้งหมด แต่ได้มาจากการเรี่ยไรหรืออาจเรียกได้ว่า ระดมทุนจากผู้คนในเครือข่ายของชนชั้นสูงผู้นั้นด้วยซึ่งคงหมายรวมถึงขุนนางชั้นผู้น้อย ตลอดจนไพรในสังกัด ไพร่มั่งมีทั้งหลาย

ดังจารึกวัดศรีสุทธาวาส เมืองเวียงป่าเป้า ค.ศ. 1503 ระบุว่า “…เจ้าพัน (นาหลังญาณวิสารอด) มาชักเชิญนักบุญทั้งหลายได้เงิน 3,950 (เงิน) มายอ เอาคนทั้งหลาย 12 ครัว มี 45 ตน” แปลว่า เจ้าพันนาหลังญาณวิสารอด ได้เชิญชวนผู้คนทั้งหลายมาร่วมกันทำบุญ โดยสามารถเรี่ยไรเงินได้ถึง 3,950 เงิน (ประมาณ 3,160,000-4,345,000 เบี้ย) ก่อนจะนำไปจัดหาผู้คนได้ 12 ครอบครัว มีจำนวนคนร่วม 45 คน มาถวายให้เป็นข้าพระ

หลักฐานจารึกหลายแห่งแสดงให้เห็นว่ามีพระสงฆ์และสามัญชน ผู้มีจิตศรัทธาทำบุญโดยการอุทิศกัลปนาทรัพย์สิน พืชผล สิ่งของ หรือผู้คนให้กับวัดร่วมกับชนชั้นสูง ตัวอย่างที่ชัดเจนปรากฏในจารึกมหาเถรสัทธรรมพรคัมภีร์ฯ วัดสิบสองห้อง พะเยา ค.ศ. 1515 ระบุว่าได้มีพระเถระชักชวนคณะสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกามาช่วยกันสร้างพระพุทธรูป โดยในขั้นต้นสามารถรวบรวมเงินได้ 400 เงินนำไปจัดหาคนได้ 2 ครอบครัว มาถวายเป็นข้าพระ ที่สำคัญคือในการทำบุญดังกล่าว มีการรวบรวม “ทอง” (ทองแดง) ที่ใช้สำหรับหล่อพระพุทธรูปได้มากถึง 1,400,000 ทอง…

ส่วนหนึ่งของหลักฐานที่สะท้อนปริมาณการทำบุญอุทิศเพื่อพุทธศาสนาในช่วงยุคทองของล้านนา สามารถพิจารณาได้จากตัวอย่างกิจกรรมการกัลปนาที่ปรากฎบนศิลาจารึกอันเป็นหลักฐานร่วมสมัย และพบมากในเขตล้านนา การกัลปนาหมายถึงการอุทิศที่ดิน แรงงาน คน พืชผล หรือสิ่งของให้ศาสนสถาน…  

ปัจจัยซึ่งส่งเสริมการกัลปนาในล้านนาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15-16 ประกอบไปด้วยความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม ความเชื่อเรื่องปัญจอันตรธาน หรือพุทธศาสนา 5,000 ปี ความเชื่อในเรื่องการอุทิศผลบุญให้กับผู้ล่วงลับ ตลอดจนปัจจัยด้านความเจริญ-ความศรัทธาต่อพุทธศาสนา และปัจจัยทางด้านการเมืองภายในและการเมืองในระดับภูมิภาค ในล้านนาโดยมากจะพบการอุทิศถวาย “ที่กัลปนา” คือการให้สิทธิ์แก่วัดได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินในรูปของส่วยค่านา ค่าสวน และโดยมากวัดจะได้รับผลประโยชน์เป็นรายปี ซึ่งการกัลปนาผลประโยชน์ดังกล่าวมีมูลค่าสูงมากโดยเฉพาะตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา

จากการสำรวจข้อมูลจารึกในหนังสือชุดประชุมจารึกล้านนาของคลังข้อมูลจารึกล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เฉพาะจารึกที่ระบุตัวเลขการบริจาคเป็นเงินตรา พบว่าระหว่าง ค.ศ. 1491-1509 เฉพาะในเขตเมืองเชียงใหม่ มีการกัลปนาค่านารวมกันเป็นมูลค่ามากถึง 3,691,000 เบี้ย แสดงว่าวัดต่างๆ ในเขตเมืองเชียงใหม่คงมีรายได้จากการกัลปนาปีหนึ่งรวมกันไม่น้อยกว่า 3,000,000 เบี้ย นอกจากนี้ยังพบว่ามีการบริจาคเงินเป็นค่าก่อสร้าง ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่านาอีกร่วม 1,028,743 เงิน จากการคำนวณมูลค่าเงินตราล้านนาที่อัตรา 1 ตาเงิน ต่อ 800-1,100 ตาเบี้ย รวมค่าใช้จ่ายที่ถูกอุทิศให้วัดเฉพาะในเมืองเชียงใหม่ดังกล่าวจะเท่ากับมูลค่าราว 822,994,400-1,131,617,300 เบี้ย นับว่าเป็นมูลค่ามหาศาล

ส่วนในหัวเมืองอื่น ได้ทำการประมวลเท่าที่มีข้อมูลเฉพาะตัวเลขการกัลปนาเป็นเงินตรา เช่น เมืองพะเยา ระหว่าง ค.ศ. 1411-1513 มีมูลค่ากัลปนารวม 8,177,724 เบี้ย เมืองลำพูน ระหว่าง ค.ศ. 1509-1512 มีมูลค่ากัลปนาร่วม 3,125,000 เบี้ย เวียงจอมทอง ระหว่าง ค.ศ. 1496-1555 มีมูลค่ากัลปนาร่วม 1,700,000 เบี้ย เมืองเชียงราย ระหว่าง ค.ศ. 1484-1522 มีมูลค่ากัลปนาร่วม 1,332,900 เบี้ย เมืองเชียงแสน ระหว่าง ค.ศ. 1496-1488 มีมูลค่ากัลปนาร่วม 700,000 เบี้ย…บางเมือง เช่น เมืองนคร (ลำปาง) ระบุค่ากัลปนาเป็น “ข้าว” หมายถึง “น้ำหนักตวงข้าวเชื้อ” ที่ใช้ในการเพาะปลูก…

สถิติตัวเลขการกัลปนาของล้านนาในเขตหัวเมืองอาจเป็นสถิติที่ไม่ค่อยดีนัก และดูเหมือนตัวเลขปริมาณการกัลปนาในต่างเมือง จะแตกต่างอย่างมากกับเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากจารึกในเมืองต่างๆ จำนวนมากอาจชำรุดสูญหายไป ทำให้ไม่อาจได้ข้อมูลที่สะท้อนข้อเท็จจริงเท่าที่ควร แต่อย่างน้อยที่สุดข้อมูลดังกล่าวก็แสดงให้เห็นว่า หัวเมืองอื่นๆ นอกจากราชธานีก็มีการกัลปนาผลประโยชน์ให้กับวัดวาอารามด้วยไม่น้อย

เมื่อประมวลข้อมูลตัวเลขการกัลปนาจากจารึกที่นำมาแสดงในที่นี้ทั้งหมดแล้ว พบว่าอย่างน้อยที่สุดเท่าที่มีข้อมูลตั้งแต่ราว ค.ศ. 1411-1554 ซึ่งตรงกับช่วงเวลายุคทองของอาณาจักรล้าน มีการกัลปนาทั่วทั้งอาณาจักรไม่น้อยกว่า 1,244,00,524 เบี้ย เฉลี่ยแล้วในเวลาประมาณ 143 ปีนี้มีมูลค่าการกัลปนาทรัพย์สินให้แก่วัดทั่วทั้งอาณาจักรไม่น้อยกว่า 8-9 ล้านเบี้ยต่อปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นความมั่งคั่งในภาพรวมของอาณาจักรได้เป็นอย่างดี

การถ่ายโอนผลประโยชน์จำนวนมากให้กับศาสนจักร ซึ่งประกอบด้วยพระสงฆ์และผู้คนที่อยู่ในเครือข่ายของวัด ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้น่าจะได้รับผลประโยชน์จากการทำบุญด้วยเช่นกัน เห็นได้จากการที่วัดเป็นแหล่งทุนหนึ่งที่มีบทบาทในการปล่อยเงินกู้ เช่น จารึกวัดพระธาตุหริภุญไชย ค.ศ. 1509 ระบุว่า เงินที่ทำบุญให้วัดนั้นเป็นเงินต้นที่ให้ทางวัดนำไปปล่อยกู้เพื่อนำดอกผลมาบำรุงศาสนา และมีหลักฐานบ่งชี้ว่าผู้ที่กู้เงินไปแล้วไม่ใช้คืนก็จะต้องกลายเป็นข้าพระไปด้วย เช่น ที่ปรากฏในจารึกวัดพระธาตุศรีจอมทอง ค.ศ. 1540 และแม้ว่าโดยทั่วไปจะมีความเข้าใจว่าข้าพระเป็นชนชั้นที่มีสถานะต่ำสุดในสังคม แต่ก็พบว่าขุนนางบางคนอุทิศลูกเมียให้เป็นข้าพระ ทั้งยังระบุว่าทรัพย์ที่ถวายวัดให้ตกเป็นผลประโยชน์แก่ลูกเมียของตนด้วย

การยอมเป็นข้าพระส่วนหนึ่งจึงเป็นไปเพื่อเหตุผลทางศาสนา เช่น การอุทิศส่วนกุศลและสั่งสมบุญบารมีให้ไปเกิดในภพชาติที่ดีขึ้น หรือเพื่อความพ้นทุกข์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสถานภาพของข้าพระนั้นไม่ได้ถูกกำหนดตายตัว และค่อนข้างมีความซับซ้อน แต่ที่แน่ๆ แล้ว ผู้คนที่เกี่ยวข้องต้องได้รับผลประโยชน์จากการทำบุญจำนวนมากมายเหล่านี้  

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มีนาคม 2564