ค้นอดีต “วัดต้นเกว๋น” ที่พักขบวนแห่พระบรมธาตุยุคก่อน สู่การคืนชีพในฉาก “กลิ่นกาสะลอง”

วิหาร วัดอินทราวาส หรือวัดต้นเกว๋น (ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ)

สื่อบันเทิงย้อนยุคที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันนอกจากให้ความบันเทิงเริงรมย์แก่ผู้ชมในสมัยนั้นๆ หากผลงานแต่ละชิ้นมีรายละเอียดที่น่าสนใจย่อมทำให้ผู้ชมได้รับความรู้ไปด้วย เช่นเดียวกับกรณีกระแสความนิยมในภูมิภาคตอนเหนือช่วงกลางปี 2562 ซึ่งละครโทรทัศน์ชื่อดังถ่ายทำในสถานที่สำคัญหลายแห่งในพื้นที่รวมถึงวัดอินทราวาส หรือวัดต้นเกว๋น

รายงานข่าวจากสื่อชื่อดังหลายแห่งในไทยเผยว่า วัดอินทราวาส ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ถ่ายทำละคร “กลิ่นกาสะลอง” มีบรรยากาศคึกคักจากประชาชนและนักท่องเที่ยวไปกราบสักการะพระพุทธรูปในวิหาร และรูปหล่อครูบาศรีวิชัย ในศาลาด้านนอกจำนวนมาก รายงานข่าวอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ นายกำจร สายวงศ์อินทร์ อดีตที่ปรึกษานายกเทศมนตรีตำบลหนองควาย ซึ่งเผยว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10 เท่า จากเดิมวันละ 100 คน กลายเป็นวันละ 1,000 คน ไม่เพียงแค่พระพุทธรูปและรูปหล่อครูบาเท่านั้น บรรยากาศภายในวัดซึ่งมีลักษณะทรงโบราณแบบล้านนายังเป็นที่สนใจของผู้เยี่ยมชมด้วย

วัดอินทราวาส ในสมัยก่อนเป็นที่รู้จักในชื่อ วัดต้นเกว๋น ในบ้านต้นเกว๋น หมู่ 4 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ข้อมูลจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ ระบุว่า ที่ดินของวัดเนื้อที่ 5 ไร่ 37 ตารางวา ปัจจุบันสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

ที่มาที่ไปของชื่อ วัดต้นเกว๋นนี้ ข้อมูลจากเอกสารทางการทั้งสารานุกรม และแหล่งข้อมูลทางวัฒนธรรมท้องถิ่นบรรยายตรงกันว่า มาจากชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งในบริเวณที่สร้างวิหารในปัจจุบัน ทางเหนือเรียกว่า “ต้นบ่าเกว๋น” (ภาคกลางเรียก “ตะขบ” นั่นเอง) ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อมาตั้งตามเจ้าอาวาสที่เชื่อว่าเป็นผู้สร้างวัดนี้ คือ “ท่านครูบาอินทร์” สารานุกรมระบุว่า เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 2 แต่เป็นเจ้าอาวาสรูปสำคัญเนื่องจากเป็นนายช่างฝีมือดีผู้สร้างวิหารที่เห็นในปัจจุบัน

วัดแห่งนี้ถูกบันทึกว่าสร้างเมื่อจ.ศ. 1218-1231 (พ.ศ. 2399-2412) ในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ แต่หลักฐานในส่วนผู้สร้างวัดนี้ยังไม่ปรากฏอย่างชัดเจน แต่จากข้อมูลในสมุดข่อยซึ่งพบในวัดเจดีย์หลวง ปรากฏชื่อวัดต้นเกว๋นในสังกัดหมวดอุโบสถวัดหนองควาย

สมหมาย เปรมจิตต์ ผู้ปริวรรต ให้ความเห็นว่า ลักษณะสมุดข่อยที่บันทึกรายชื่อวัดและนิกายสงฆ์โบราณอันแบ่งหมวดอุโบสถดังกล่าวข้างต้น เชื่อว่าน่าจะเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระสังฆราชมีดำริจะปรับโครงสร้างสงฆ์ให้เป็นเอกภาพทั่วประเทศนำมาสู่การสำรวจชื่อวัดในภาคเหนือด้วย

บรรยากาศเมื่อครั้งอดีต สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ อธิบายว่า สมัยก่อนวัดแห่งนี้ใช้เป็นที่พักขบวนแห่พระธาตุจอมทองมาสู่นครเชียงใหม่ซึ่งกระทำในทุกปีเป็นประเพณีของเจ้าหลวงเชียงใหม่และประชาชน จึงถือได้ว่ามีความสำคัญสำหรับชาวเชียงใหม่อย่างมาก ภายหลังฝ่ายราชการใช้วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ประชุมตำบล และหน่วยเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาจังหวัด แต่ภายหลังในช่วง พ.ศ. 2540 วัดแห่งนี้มีพระภิกษุประจำวัดเพียงรูปเดียว บางครั้งมีสามเณรมาพักชั่วคราวระหว่างเดินทางไปเรียนหนังสือที่วัดในตัวเมือง เห็นได้ว่าศรัทธาในวัดลดลง กระทั่งมาสู่กระแสความนิยมในปี 2562 ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ด้านการท่องเที่ยวในท้องถิ่น

สำหรับสิ่งสำคัญภายในวัด มีตั้งแต่วิหารทรงพื้นเมืองล้านนา มีบันทึกอักษรไทยวนที่เพดาน เชื่อว่าพระวิหารถูกสร้างในพ.ศ. 2401 มีการปั้นลวดลายปูนปั้นที่หน้าแหนบพร้อมกันด้วย โบราณวัตถุสถานอย่างพระวิหารด้านหน้าหลังคาซ้อนสามชั้นลาดต่ำ ด้านหลังซ้อนสองชั้น ราวบันไดที่ทอดไปสู่ตัววิหารประดับตกแต่งเป็นปูนปั้นรูปพญานาค หน้าต่างวิหารด้านนอกทำเป็นลูกกรงไม้แกะสลักลาย ขณะที่โครงสร้างภายในยังเปิดให้เห็นหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินขอ

ส่วนภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนืออ้างอิงคำบอกเล่าของพ่อน้อยตวง อาจารย์วัด ซึ่งเล่าว่า ในวิหารแห่งนี้เดิมมีพระพิมพ์มากถึง 625 องค์ติดอยู่ด้านหลังพระประธาน (ข้อมูลจากการรวบรวมเอกลักษณ์และภูมิปัญญาประจำจังหวัดระบุว่า แบ่งเป็นแบบใบโพธิ์ปางมารวิชัยและแบบนาคปรก) แต่พ่อน้อยตวง อาจาร์ยวัด เล่าวา สูญหายไปตั้งแต่ก่อนพ.ศ. 2540 เช่นเดียวกับพระพุทธรูปหิน พระพุทธรูปไม้จันทน์ และไม้อื่นๆ รวมกว่า 40 องค์

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญในวัดคือมณฑปจตุรมุขแบบพื้นเมืองล้านนา ข้อมูลส่วนนี้ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสร้างสมัยใด แต่จากคำบอกเล่าเชื่อกันว่าสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2399-2412 ในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์

มณฑปจตุรมุข สันนิษฐานว่าเป็นที่หยุดพักขบวนแห่พระบรมธาตุศรีจอมทอง ให้ประชาชนได้สรงน้ำพระธาตุ (ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ)

นอกเหนือจากนั้นยังมีของสำคัญอีกหลายอย่าง อาทิ เสลี่ยงสำหรับหามบ้องไฟไปบูชา กลองโยน อาสน์สำหรับตั้งโกศพระบรมธาตุ ธรรมาสน์โบราณ หีบพระไตรปิฎก

วัดแห่งนี้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี 2526 และยังเป็น 1 ในรายชื่อแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมซึ่งเตรียมจะประกาศเป็น 1 ใน 10 แหล่งวัฒนธรรมที่จะไปแทนฮิโนกิแลนด์ที่ถูกถอดถอน


อ้างอิง:

เหตุหื้อเสียยส – แฮริส, ศาสนาจารย์ ดร. วิลเลียม. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ. จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดเชียงใหม่. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. กระทรวงศึกษาธิการ, กรมศิลปากร. 2542

“แห่ตามรอย ‘กลิ่นกาละลอง’ ไหว้พระ ‘วัดต้นเกว๋น’ คึกคัก”. ใน มติชนรายวัน. 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2562