“สถานีขนส่งหมอชิต” หมุดหมายสำคัญของคนไกลบ้าน เคยเป็นตลาดมาก่อน?

สถานีขนส่งหมอชิต หมอชิต
สถานีขนส่งหมอชิตเดิม (ภาพ : ba.e-pics.ethz.ch)

“หมอชิต” ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายในกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยผู้คน ที่อยู่อาศัย ร้านรวง สวนสาธารณะ ทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับสัญจรไปมาทั้งทางใกล้และไกลของกรุงเทพฯ เนื่องจากมีทั้งรถไฟฟ้า BTS, รถไฟใต้ดิน MRT, ป้ายรถเมล์ที่มีผู้คนคึกคักแทบจะตลอดเวลา, มีหน่วยงานรัฐอย่างกรมการขนส่งทางบกตั้งอยู่ รวมถึงเป็นที่ตั้งของ “สถานีขนส่งหมอชิต” เดิมอีกด้วย

แต่รู้หรือไม่ว่า… “สถานีขนส่งหมอชิต” แห่งนี้ เคยเป็นตลาดมาก่อน…

เรื่องนี้ เอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2563 ได้พูดถึงไว้ในบทความ “มารู้จักตัวจริง ‘หมอชิต’ หมอที่คนไทยพูดถึงเยอะที่สุด เป็นใคร?” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542

เอนก ได้พยายามค้นหาที่มาของ “หมอชิต” ว่าเป็นใคร ใครอยากรู้สามารถ อ่านได้ที่นี่ และได้กล่าวถึงเรื่องที่ว่าขนส่งหมอชิตเคยเป็นตลาดมาก่อน ดังนี้…

“หนังสือ (หนังสืองานศพหมอชิตชื่อ ‘เทศน์มหาชาติ’) ไม่กล่าวถึงตลาดนัดหมอชิต และสถานีขนส่งหมอชิตไว้เลย เท่าที่เคยถามคนเก่าเช่น นายชุบ ยุวนะวณิชย์ อายุ 80 กว่าปี ท่านว่าตลาดนัดหมอชิตซึ่งอยู่ริมคลองบางซื่อนั้น เดิมเป็นตลาดนัดเล็กๆ ที่ชาวสวนเอาผลไม้มาขาย เริ่มติดตลาดแต่ปีใดไม่แน่ กลายเป็นสถานีขนส่งหมอชิต หรือสถานีขนส่งสายเหนือสายอีสานเมื่อปีใดก็ไม่ทราบ

ค้นหนังสือ ‘62 ปี บริษัท ขนส่ง จํากัด’ ฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2535 มาดู ก็บอกแต่ว่า บ.ข.ส. ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 เริ่มด้วยการบินและการเดินรถก่อน หาได้กล่าวถึงประวัติที่ตั้งไม่ รูปถ่ายความเปลี่ยนแปลงตลอดจนรายละเอียดอื่นใด ผู้เขียนก็ยังไม่กล้ารบกวนคุณศศินาและตระกูล จึงตอบเรื่องนี้ได้สั้นเหลือเกิน”

แม้ข้อมูลจะบอกไม่ได้แน่ชัด แต่จากคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ ก็ทำให้ทราบว่าสถานีขนส่งหมอชิตเคยเป็นตลาดมาก่อน ก่อนจะพัฒนากลายมาเป็นหมุดหมายของคนต่างถิ่น

จน ปี 2541 ก็ได้ย้ายจากบริเวณถนนพหลโยธิน ไปอยู่ที่ เส้นกำแพงเพชร 2 เนื่องจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เจ้าของพื้นที่ ได้เปลี่ยนให้ BTS เข้ามาเช่าใช้พื้นที่และหวังจะแก้ปัญหาจราจรติดขัด กลายเป็น สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) / หมอชิตใหม่ หรือที่เรียกว่า “หมอชิต 2” สถานีขนส่งทางบกที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศไทย นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.silpa-mag.com/history/article_43909

https://web.archive.org/web/20191017153116/http://www.mot.go.th/about.html?id=20


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 เมษายน 2567