มารู้จักตัวจริง “หมอชิต” หมอที่คนไทยพูดถึงเยอะที่สุด เป็นใคร?

หมอชิต นายชิต นภาศัพท์ ฉากหลัง เป็น สถานีหมอชิต แห่งที่ 2

“หมอชิต” เป็นชื่อหนึ่งที่คนไทยคุ้นเคยกันมาก จนเกือบจะเรียกได้ว่ารู้จักทั่วทั้งประเทศ อย่าง สถานีหมอชิต นั่นก็ใช่ 

นอกจาก “หมอชิต” จะเป็นชื่อคนและชื่อยานัตถุ์แล้ว ยังเป็นชื่อสถานที่อีกด้วย เช่น เพลงลูกทุ่งของสายัณห์ สัญญา เพลงหนึ่งชื่อ “อกหักที่หมอชิต” อย่างนี้ไม่ต้องอธิบาย เป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงอกหักที่สถานีขนส่งสายเหนือ-สายอีสาน ที่เรียกกันเข้าใจง่ายๆ ว่า สถานีหมอชิต หรือแม้สถานีขนส่งนั้นย้ายไปตั้งในที่แห่งใหม่ใกล้ๆ กันแล้วก็ยังเรียกที่แห่งใหม่ว่า “หมอชิต 2” อีก ข้อนี้ขอให้สังเกตว่ามีคนสามัญเพียงไม่กี่คนที่มีชื่อติดหูคนมาก เช่น หมอชิต

อย่างไรก็ตาม ปัญหามีอยู่ว่า

  1. หมอชิตตัวจริงหน้าตาอย่างไร ใช้นามสกุลอะไร มีประวัติอย่างไร
  2. หมอชิตทํายานัตถ์ุขายเมื่อไร ขวดยานัตถุ์หมอชิตมีกี่รุ่น โฆษณายานัตถ์ุของหมอชิตเคยเห็นทําสวยๆ และลงตามหนังสือต่างๆ เสมอ มีใครรวบรวมไว้บ้าง ?
  3. ตลาดหมอชิตเกิดขึ้นเมื่อไร ใครเคยถ่ายรูปไว้บ้างหรือไม่ และตลาดกลายเป็นสถานีขนส่งเมื่อใด
  4. หมอชิตสร้างอะไรไว้บ้าง

“หมอชิต” ตัวจริงหน้าตาอย่างไร ใช้นามสกุลอะไร มีประวัติอย่างไร

แรกสุดผู้เขียนทราบเลาๆ ว่าหมอชิตใช้นามสกุล นภาศัพท์ ซอยนภาศัพท์ที่ถนนสุขุมวิทต้องเกี่ยวข้องกับหมอชิตไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

พ.ศ. 2540 ผู้เขียนเขียนจดหมายไปถามทางบริษัทเพื่อนำมาประมวลในหนังสือ “หมายเหตุประเทศสยาม” ได้รับประวัติหมอชิตจากคุณศศินา (นภาศัพท์) ประจวบเหมาะ พร้อมรูปถ่าย 1 รูป ประวัตินั้นยาวเพียง 5 หน้า ถ่ายเอกสารมาจากหนังสืองานฌาปนกิจศพ ไม่ระบุชื่อคนเขียน สรุปว่า

หมอชิตหรือ นายชิต เป็นลูกคนที่ 3 ของนายเจ็ง นางเลี่ยม นภาศัพท์ เกิดที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2438 ถึงแก่กรรมที่บ้านถนนเพชรบุรี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 อายุ 58 ปี

หมอชิต หรือนายชิต นภาศัพท์

เมื่อเยาว์วัย เรียนภาษาไทยที่คลองสวน จังหวัดฉะเชิงเทรา ออกจากการเป็นทหารเกณฑ์แล้วมาอยู่กับป้าที่กรุงเทพฯ เป็นเสมียนห้างเต๊กเฮงหยูของตระกูลโอสถานุเคราะห์

พ.ศ. 2462 บวชที่วัดเทพศิรินทราวาส 1 พรรษา สึกแล้วย้ายไปเป็นเสมียนห้างเพ็ญภาค แล้วสมรสกับนางวอน เนติโพธิ์ มีบุตรธิดา 3 คนคือ

  1. นางสอางค์ จารุศร
  2. นายสนั่น นภาศัพท์
  3. นายยงยุทธ นภาศัพท์

หมอชิตทํายานัตถ์ุขายเมื่อไร

ทีแรกหนังสือไม่บอกว่าเริ่มทํายาขายเมื่อไร บอกแต่ว่าแต่งงานแล้วก็แยกตัวออกมาตั้งร้านค้าส่วนตัวที่หน้าวัดมหรรณพาราม ใช้เครื่องหมายการค้าตรามังกร แล้วย้ายไปอยู่ที่เสาชิงช้า กับปากคลองตลาดตามลําดับ เป็นที่รู้จักกันว่า ร้านขายยาตรามังกร ได้คิดปรุงยานัตถุ์โดยอาศัยตําราโบราณของบรรพบุรุษ เรียกว่า ยานัตถุ์หมอชิต

คราวนี้นายชิต นภาศัพท์ ได้นามใหม่ว่า “หมอชิต” ร้านขายยาตรามังกรก็เปลี่ยนเป็นห้างขายยาตรามังกร

จากนั้นก็ไปตั้งโรงงานที่บ้านถนนเพชรบุรี กับตั้ง “บริษัทยานัตถุ์หมอชิต” ขึ้น เครื่องหมายการค้าก็เก็บเอาตราบนกล่องไม้ขีดมาเป็นเครื่องหมาย

ถึงตรงนี้หนังสืองานศพว่า “รวมเวลาที่หมอชิตทําการค้ายานัตถุ์มา 29 ปี”

ถ้าเอา 29 ลบออกจากปี 2496 ที่ถึงแก่กรรม ก็เท่ากับเริ่มทํายานัตถุ์เมื่อ พ.ศ. 2467 ปลายสมัยรัชกาลที่ 6 ถ้านับจาก พ.ศ. 2542 ก็เท่ากับ 25 ปีมาแล้ว นับว่ายานัตถุ์หมอชิตมีอายุยาวนานมากทีเดียว

ขวดและโฆษณายานัตถุ์ของหมอชิตมีกี่แบบกี่ชิ้น ยังชําระไม่ได้

ภาพโฆษณายานัตถ์ุหมอชิต จากหนังสือคณะช่าง พ.ศ. 2481

ตลาด “หมอชิต” เกิดขึ้นเมื่อไร ใครเคยถ่ายรูปไว้บ้างหรือไม่ และตลาดกลายเป็นสถานีขนส่งเมื่อใด

หนังสือไม่กล่าวถึงตลาดนัดหมอชิต และสถานีขนส่งหมอชิตไว้เลย เท่าที่เคยถามคนเก่าเช่น นายชุบ ยุวนะวณิชย์ อายุ 80 กว่าปี ท่านว่าตลาดนัดหมอชิตซึ่งอยู่ริมคลองบางซื่อนั้น เดิมเป็นตลาดนัดเล็กๆ ที่ชาวสวนเอาผลไม้มาขาย เริ่มติดตลาดแต่ปีใดไม่แน่ กลายเป็นสถานีขนส่งหมอชิต หรือสถานีขนส่งสายเหนือสายอีสานเมื่อปีใดก็ไม่ทราบ

ค้นหนังสือ “62 ปี บริษัท ขนส่ง จํากัด” ฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2535 มาดู ก็บอกแต่ว่า บ.ข.ส. ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 เริ่มด้วยการบินและการเดินรถก่อน หาได้กล่าวถึงประวัติที่ตั้งไม่ รูปถ่ายความเปลี่ยนแปลงตลอดจนรายละเอียดอื่นใด ผู้เขียนก็ยังไม่กล้ารบกวนคุณศศินาและตระกูล จึงตอบเรื่องนี้ได้สั้นเหลือเกิน

หมอชิตทําอะไรบ้าง

หนังสือว่าหมอชิตสร้างห้องเย็นราคานับล้านที่สมุทรปราการ หมอชิตเคยเป็นกรรมการราชตฤณมัยสมาคม และเป็นกรรมการสมาคมพ่อค้าไทย พ.ศ. 2486 กับ พ.ศ. 2487 หมอชิตช่วยสร้างหอพักนักเรียนจุฬาฯ ชื่อ “หอพักนภาศัพท์” หมอชิตสร้างเครื่องทําไฟให้วัดยืมไปใช้

“เมื่อทางราชการพระราชทานตั้งยศพ่อค้าไทย หมอชิตมีเกียรติได้รับการแต่งตั้งเป็นชั้นเอก”

ปัญหาที่ยังไม่ได้ชําระ

ประวัติและผลงานหมอชิตนอกเหนือจากนี้ มีพบเพิ่มเติมอีกบ้างเพียงเล็กน้อย เช่นที่ ประยุทธ สิทธิพันธ์ เขียนถึงในหนังสือ คนหมายเลข 1 พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2507 (ผู้เขียนบังเอิญเพิ่งซื้อได้ที่พัทลุงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541) แต่ข้อมูลบางอย่างของประยุทธขัดแย้งกับหนังสืองานศพ

เช่น บอกว่าเกิดที่บางละมุง ชลบุรี แล้วมาขออาศัยอยู่กับป้าที่ฉะเชิงเทรา ได้เรียนวิชาผสมยาจากป้า หรือแม้วิธีทํายานัตถ์ุก็ได้จากป้า กระทั่งอายุครบเกณฑ์ทหารจึงไปเป็นทหาร พอถูกปลดเป็นทหารกองหนุนแล้วก็มาอยู่กับป้าอีก แล้วจึงบวช แล้วเข้ามาทํางานในเมืองหลวง อนึ่ง คนที่ช่วยให้หมอชิตประสบความรุ่งโรจน์ เป็นอย่างมากคือน้องชายที่ชื่อ ช้อย นภาศัพท์ ประยุทธว่านายช้อยเป็นกําลังให้พี่มาตั้งแต่ยังกัดก้อนเกลือกิน

หนังสืองานศพหมอชิต

ผู้เขียนได้หนังสืองานศพหมอชิตเล่มจริงมาโดยบังเอิญเมื่อ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2541 ในหนังสืองานศพมีรูปหมอชิตเพียง 2 รูป เป็นรูปตอนบวช 1 รูป รูปสวมเสื้อนอกเมื่อมีอายุมาก 1 รูป

หนังสืองานศพหมอชิตชื่อ “เทศน์มหาชาติ” พิมพ์แจกในงานศพเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2497 วัดเทพศิรินทราวาส หนาเกือบ 500 หน้า มีภาพจิตรกรรมไทยประกอบกัณฑ์ต่างๆ ทั้ง 13 กัณฑ์ พิมพ์ด้วยหมึกสีม่วงแก่

เรื่องของหมอชิตจึงยังต้องชําระต่อไปอีกมากมาย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2563