ทาเบบูย่า ต้นไม้นำเข้า ที่ชอบเอาชื่อ”หม่อมราชวงศ์” มาตั้งเป็นชื่อ

ชมพูพันธุ์ทิพย์ ทาเบบูย่า ที่ สถานีรถไฟฟ้า หมอชิต สวนจตุจักร
ทาเบบูย่า หรือชมพูพันธุ์ทิพย์ ที่สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต เมื่อปี 2560 (ภาพจาก มติชนออนไลน์ โดยศุภกาญจน์ เรืองเดช)

ทาเบบูย่า มีชื่อไทยหลายชื่อแตกต่างไปตามสายพันธุ์ อาทิ ชมพูพันธุ์ทิพย์, เหลืองปรีดิยาธร, เหลืองคึกฤทธิ์, เหลืองถนัดศรี, เหลืองถวัลภากร โดยตั้งชื่อตาม “หม่อมราชวงศ์” หลายคน บางชื่อก็มีเหตุและผลชัดเจน บางชื่อก็ไม่ทราบเหตุที่ชัดเจน

ทาเบบูย่า (Tabebuia) บ้างเรียก ทาเบบูยา, ตาเบบูย่า ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เวลาทาเบบูย่าออกดอกใบจะร่วง ทั้งต้นจึงมีแต่ดอกไม้สีชมพูบานสะพรั่ง จนมีคนเรียกมันว่า “ซากุระเมืองไทย” เพราะคุ้นเคยกับทาเบบูย่าที่มีดอกสีชมพู ที่มีชื่อไทยว่า “ชมพูพันธุ์ทิพย์”

ทาเบบูย่าเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศแถบร้อน ในอเมริกาใต้ อเมริกากลาง (ปารากวัย, อาร์เจนตินา, บราซิล ฯลฯ) มีการนำเข้ามาเมืองไทยหลายครั้งด้วยกัน หลายพันธุ์ และมีดอกสีอื่นๆ อีก เช่น เหลือง, ส้ม, ม่วง, ขาว ฯลฯ ที่มีชื่อแตกต่างกันไป เช่น

ทาเบบูย่า (Tabebuia rosea; Bertol, D.C.) ดอกสีชมพู ม.ร.ว. พันธ์ุทิพย์ บริพัตร ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต เป็นผู้นำเข้ามาประมาณ พ.ศ. 2490 หลวงบุเรศรบำรุงการ (เจริญ วงศ์ตลาดขวัญ) จึงตั้งชื่อไทยให้ว่า “ชมพูพันธุ์ทิพย์” ก่อนหน้านี้มีผู้เรียกว่า “ชมพูบริพัตร” อยู่บ้าง ด้วยเข้าใจผิดว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต เป็นผู้นำเข้ามา เพิ่งได้นิยมปลูกกันแพร่หลายเมื่อประมาณ พ.ศ. 2514-2515

แหล่งชมต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ในกรุงเทพฯ ที่ปรากฏเป็นข่าวเสมอแทบทุกปี คือ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต นอกจากนี้ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ก็มีต้นชมพูพันธุ์ทิพย์จำนวนมาก ประชาชนนับพันเดินทางไปท่องเที่ยวทุกปี

ชมพูพันธ์ทิพย์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

ส่วนทาเบบูย่า (Tabebuia spectabilis) ดอกสีเหลือง พระยาอายุรเวชวิจักรณ์ (นายแพทย์ มอร์เด็น คาทิว) นำเข้ามาจากประเทศอินเดียอีกทอดหนึ่ง แล้วมาปลูกไว้ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา (ปัจจุบันคือ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา) ทาเบบูย่าพันธุ์นี้ชื่อไทยว่า “เหลืองอินเดีย”

ทาเบบูย่า (Tabebuia aurea) ดอกสีเหลืองเช่นกัน วิชัย อภัยสุวรรณ นักเขียนเกี่ยวกับต้นไม้ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ นำเข้ามาและต้องการจดทะเบียนกับกรมป่าไม้เป็นชื่อภาษาไทย จึงขอต่อ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ซึ่งอนุญาตให้นำชื่อ “ปรีดิยาธร” มาเป็นชื่อทาเบบูย่าสายพันธ์ุนี้ว่า “เหลืองปรีดิยาธร”

เหลืองปรีดียาธร ริมถนนมิตรภาพ ระหว่างหลัก กม.ที่ 31-33 อ.เมือง จ.นครราชสีมา (ภาพจาก มติชนออนไลน์)

ครั้งนั้น นอกจาก “เหลืองปรีดิยาธร” แล้ว วิชัยยังนำทาเบบูย่า ซึ่งมีดอกสีเหลืองสายพันธุ์อื่น เข้ามาพร้อมกัน โดยติดต่อขอใช้ชื่อ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์, ม.ร.ว. ถวัลภากร วรวรรณ มาเป็นชื่อทาเบบูย่าที่ตนนำเข้ามาว่า เหลืองคึกฤทธิ์, เหลืองถนัดศรี และเหลืองถวัลภากร ตามลำดับ ทว่าไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าเหลืองปรีดิยาธร

น่าแปลกตรงที่ว่าชื่อที่วิชัยเลือกยืมมาเป็นชื่อต้นไม้ซึ่งมีดอกอ่อนช้อยนั้นเป็น ม.ร.ว. ที่เป็นชายทั้งสิ้น และที่ว่าชื่อไทยของทาเบบูย่าก็มักใช้ชื่อ “หม่อมราชวงศ์” มากกว่าชื่อบุคคลอื่นๆ ส่วนเหตุผลว่าทำไมยังไม่สามารถตอบชัดเจนได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

“ทาเบบูยา” ใน, วารสารพืชสวน ปีที่ 10 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2518. สโมสรพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (ไม่ได้ระบุชื่อผู้เขียน)

ทวีศักดิ์ บุญเกิด และคณะ. พรรณไม้ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มีนาคม 2566