การปลูก “มะฮอกกานี” ต้นไม้ประวัติศาสตร์เมืองเพชรบุรี สมัยร.5 สู่ร่องรอยในยุคหลัง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประทับบนแคร่หามทอดพระเนตรแบบการก่อสร้างพระตำหนักแบบโมเดิร์นสไตล์ ที่ตำบลบ้านหม้อ เมืองเพชรบุรี สมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิตถวายรายงาน จะเห็น คาร์ล ดอห์ริง สถาปนิกยืนอยู่ด้วย (ภาพจาก กอง บ.ก. ศิลปวัฒนธรรม)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี (รัชกาลที่ 5) ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณนานัปการที่เสริมสร้างความเจริญเป็นปึกแผ่นมั่นคงก้าวหน้าแก่เมืองเพชร ซึ่งชาวเพชรบุรีรุ่นปู่ย่าตายายจะเรียกนามพระองค์ว่าพระพุทธเจ้าหลวงพระองค์โปรดเมืองเพชร และมีพระเมตตาต่อชาวเพชรบุรี เจริญรอยตามพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ รัชกาลที่ 4 ได้ทรงคุ้นเคยกับเมืองเพชรและชาวเพชรบุรี ทรงใช้เพชรบุรีเป็นที่ประทับแรม พักผ่อนพระราชอิริยาบถ และเพื่อใช้รับรองแขกเมืองด้วย พระองค์ท่านได้เสด็จประพาสเมืองเพชรเป็นประจำตลอดรัชกาล ตั้งแต่ ร.. 94129 รวมถึงทรงมีสัมพันธ์กับเมืองเพชรในฐานะทรงมีบาทบริจาริกาถึง 8 คน เป็นธิดาเจ้าเมืองเพชรในสกุลบุนนาค7 ท่านและหลานเจ้าเมืองเพชรบุรีอีก 1 ท่านคือ

เจ้าจอมมารดาอ่อน
เจ้าจอมมารดาอ่อน

1. เจ้าจอมมารดาอ่อน (เจ้าจอมหกแผ่นดิน) มีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และพระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา

เจ้าจอมเอี่ยม
เจ้าจอมเอี่ยม

2. เจ้าจอมเอี่ยม

เจ้าจอมเอิบ
เจ้าจอมเอิบ

3. เจ้าจอมเอิบ (เจ้าจอมที่รักแห่งรัชกาลที่ 5)

เจ้าจอมอาบ
เจ้าจอมอาบ

4. เจ้าจอมอาบ

เจ้าจอมเอื้อน
เจ้าจอมเอื้อน

5. เจ้าจอมเอื้อน

ทั้ง 5 ท่านนี้ ชาวบ้านต่างเรียกขานว่าเจ้าจอมก๊ก อ.” เพราะท่านมีนามอักษร อ. ตามท่านผู้หญิงอู่ (วงศาโรจน์) ผู้เป็นมารดา

6. เจ้าจอมแส (มารดาชื่อ ทรัพย์)

7. เจ้าจอมแก้ว (มารดาชื่อ พวง)

เจ็ดท่านนี้ก็เป็นบุตรีของเจ้าพระยาสุรพันธุ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) เจ้าเมืองเพชรบุรี ซึ่งเป็นน้องชาย (ต่างมารดา) ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และ

8. เจ้าจอมแถม เป็นบุตรีของพระสัจจาภิรมย์ (แถบ บุนนาค) ผู้เป็นบุตรชายร่วมมารดาเดียวกับเจ้าจอมก๊ก อ.

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งข้าวแช่, งานศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ตามวัดวาอารามแล้ว ยังมีน้ำใจ น้ำคำ น้ำมือของกุลสตรีชาวเมืองเพชรบุรีนี้ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผูกพระราชหฤทัยให้โปรดเมืองเพชรบุรีได้ไม่น้อยด้วย

อีกทั้งยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับพระองค์ในเรื่องอากาศเพชรบุรี ถูกกับพระโรคที่ทรงพระประชวรในช่วงฤดูฝนโดยเฉพาะน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีที่วัดท่าไชยศิริ อำเภอบ้านลาด โปรดเสวยและใช้ในพระราชพิธีอยู่เป็นนิตย์ นับได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงคุณประเสริฐต่อชาวเพชรบุรีอย่างอเนกอนันต์ เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 ชาวเพชรบุรีได้โกนหัวนุ่งขาวห่มขาวไว้ทุกข์บำเพ็ญกุศลถวาย และได้ร่วมใจบริจาคเงินจำนวนหนึ่งไปสร้างโรงเรียนเป็นอนุสรณ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามว่าเบญจมราชูทิศและภายหลังได้เปลี่ยนเป็น เบญจมเทพอุทิศ

ตลอดรัชสมัยอันยาวนานถึง 42 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี และทรงใช้เพชรบุรีเป็นที่ประทับแรม และพักผ่อนพระราชอิริยาบถ และรับรองแขกเมืองด้วย นับแต่พระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อ พ.. 2411 (สวรรคต 23 ตุลาคม 2453) ขณะทรงพระเยาว์ พระชนมายุเพียง 15 พรรษา 10 วัน และทรงบรรลุนิติภาวะในปีระกา พ.. 2416 ทรงว่าราชการโดยพระองค์เอง ไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

การที่พระองค์โปรดประพาสเพชรบุรีเป็นประจำ จึงโปรดให้เจ้าพระยาสุรพันธุ์พิสุทธิ์ซื้อที่ดินสร้างพระที่นั่งศรเพชรปราสาท (รามราชนิเวศน์) ที่ตำบลบ้านหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี อยู่ไม่ไกลจากศูนย์การตลาดมากนัก เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2453 เมื่อมีพระชนมายุ 58 พรรษา และสร้างเสร็จ พ.. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนชื่อใหม่เมื่อ พ.. 2462 ว่า พระรามราชนิเวศน์ เป็นพระตำหนักแบบโมเดิร์นสไตล์แห่งศตวรรษที่ 20 ในยุโรป ทำเป็น 2 ชั้น มียอด 2 ยอด ความยาวตะวันออกตะวันตก 1 เส้น 15 วา กว้างเหนือใต้ 1 เส้น 10 วา พระตำหนักหันไปทางทิศใต้ คาร์ล ดอห์ริง เป็นผู้ออกแบบ สมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิต และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ค่าใช้จ่าย 1,347,158 บาท

ก่อนจะเริ่มสร้างฐานรากพระตำหนักบ้านปืนในเดือนมกราคม 2453 พระองค์ทรงพระราชดำริเห็นว่าถนนรอบๆ วังทั้งสองฟากฝั่ง ควรจะขยับขยายให้กว้างขวางกว่าเดิม จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมโยธาธิการตัดถนนของเมืองขึ้น 4 สาย และถนนในเขตพระตำหนักบ้านปืนอีก 2 สาย ตามพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงพระยายมราช เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ร.. 129 ว่า

“…ถนนนั้นเป็นสองอย่าง อย่างหนึ่งถนนของเมือง คือ ถนนราชดำเนิน ดำรงรักษ์ แลราชดำริ ตัดแล้ว ถนนบริพัตร ฝั่งตะวันออกถนนส่วนพระคลังข้างที่ คือ ถนนในบริเวณวัง มีถนนสายใหญ่ ถือ ถนนสนามไชยแลคันธนู ซึ่งยาว 1213 เส้น ทั้งสองสาย นอกนั้นเป็นถนนสั้นๆ เล็กๆ แคบๆ เป็นถนนในสวนมีมาก

ถนนทั้ง 4 สาย คือ ถนนราชดำเนิน ดำรงรักษ์ ราชดำริ และถนนบริพัตร นับเป็นพระราชมรดกตกทอดสืบมาถึงปัจจุบัน และสิ่งสำคัญมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเพชรบุรีอย่างยิ่ง นอกเหนือไปจากการสัญจรไปมาก็คือ ต้นไม้ที่ทรงปลูกประดับริมถนนทั้ง 4 สาย ได้แก่ ต้นมะฮอกกานี ถนนราชดำเนินทรงให้ปลูกทั้งสองฝั่ง คือ ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ช่วงห่างระหว่างต้นประมาณ 1011 เมตร

ถนนราชดำริ ทรงให้ปลูกทั้งสองฝั่ง คือ ฝั่งเหนือและฝั่งด้านใต้ ตั้งแต่วงเวียนถนนตกจนถึงทางรถไฟสายใต้

ถนนดำรงรักษ์ ทรงให้ปลูกทางฝั่งซ้ายด้านเดียว เนื่องจากตัวถนนแคบ

ถนนบริพัตร ทรงให้ปลูกทั้งสองฝั่ง คือ ฝั่งตะวันออกและตะวันตก

ถนนสนามไชยและถนนคันธนู ให้ปลูกฝั่งเดียว รวมเป็นต้นมะฮอกกานีที่ปลูกในครั้งนั้นเกือบพันต้น นับตั้งแต่ปลูกจนถึงปัจจุบัน ต้นมะฮอกกานีเหล่านี้มีอายุได้ถึง 105 ปี ได้ให้ความร่มรื่น สวยงาม เป็นศักดิ์ศรีแก่บ้านเมือง ผู้ผ่านไปมาก็ได้รับความร่มเย็นสมกับกาลสมัยอนุรักษ์ป่า ต้นไม้ และสิ่งแวดล้อม นับเป็นพระบรมราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นพระราชมรดกแก่ชาวเพชรบุรี พระราชมรดกนี้ พระองค์ทรงรักและหวงแหนยิ่ง ซึ่งชาวเพชรบุรีควรอนุรักษ์ รักษา และถนอมไว้ให้คงอยู่คู่กับถนนทั้ง 4 สายต่อไปไม่สิ้นสูญ

ในการนำต้นกล้าไม้มะฮอกกานีมาปลูกที่เพชรบุรี ได้นำมาโดยทางเรือบ้าง ทางรถไฟบ้าง นายงานผู้ทำการปลูกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมอบหมาย คือ พระยามหาเทพ กรมพระตำรวจในซ้าย โดยมีจ่าห้าวยุทธการ จ่าหาญยุทธกิจ เป็นผู้ช่วย ดังปรากฏในคำกราบบังคมทูล ของพระยามหาเทพ เจ้ากรมตำรวจในซ้าย เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ร.. 129 ว่า

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมลาไปปลูกต้นมะฮอกกานี ที่เมืองเพชรบุรี วันที่ 1 มิถุนายน ร..129 ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานจ่าห้าวยุทธการ จ่าหาญยุทธกิจออกไปด้วย ข้าพระพุทธเจ้าได้ขนต้นมะฮอกกานีส่งออกไปบ้างแล้ว…”

ในการปลูกต้นมะฮอกกานีที่บริเวณถนนทั้ง 4 สายนั้น ได้ทำการปลูกเป็นช่วงๆ เช่น วันที่ 19 พฤศจิกายน ร.. 128 ปลูกที่ถนนราชดำเนิน ตามที่ปรากฏจากพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงพระยายมราช เมื่อวันที่ 29 กันยายน ร..128 ตอนหนึ่งว่า

“…ต้นมะฮอกกานีที่ส่งออกมาเล็กเหลือเกิน ทั้งที่จ่ายถนนและที่ส่งครั้งนี้ ถ้าได้ขนาดยังเช่นห่อหยวกไปปลูกที่ท้องนา จะค่อยเร็วกว่าสักหน่อย ไม้ปลูกถนนตามจำนวนที่ส่งมาแต่ก่อนว่ายังขาดอีก ๓๐ ถ้าจะเอาไม้ที่ส่งมาครั้งนี้จ่ายไปถนนเสียแทน ขอต้นขนาดศอกหนึ่งส่งมาให้สัก ๒๐ ต้น สำหรับที่จะปลูกในบ้านได้จะดี

ตามความจริงแล้ว ได้มีการเตรียมการเรื่องมะฮอกกานีที่จะนำมาปลูกตามถนนเพชรบุรีเป็นบางส่วนแล้ว ตั้งแต่เดือนตุลาคม ร.. 128 ตามพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีถึงเจ้าพระยายมราช เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ร.. 128 ว่า

“…ได้รับหนังสือส่งต้นมะฮอกกานี ตรวจทานต้นมะฮอกกานีใหญ่หน่อยหนึ่งนั้น เพราะจะปลูกหน้าเรือนด้านตะวันตกให้บังแดด ต้นใหญ่หน่อยจะได้โตเร็ว ต้นเล็กที่ส่งมา กว่าจะโตก็ตาลอย

และเมื่อได้มีการปรับปรุงถนนราชดำเนินใหม่ จึงทรงให้ทำการขุดปลูกตกแต่งต้นมะฮอกกานีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม ถึงวันที่ 12 สิงหาคม ร.. 129 ตามปรากฏในคำกราบบังคมทูลของพระมหาเทพ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ร.. 129 ว่า

ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบถวายบังคมลาออกไปขุดต้นมะฮอกกานี ที่ถนนราชดำเนิน เมืองเพชรบุรี ระหว่างถนนราชดำริถึงถนนดำรงรักษ์ ถนนสูงที่ฉายดินออกได้ขุดขึ้นปลูกใหม่ได้ระดับ 76 ต้น ที่ต่ำฉายดินเสริมตุ้มไม่ได้ขุด 62 ต้น ที่ตรงถนนมหาไชย 1 ต้น ถนนคันธนู 2 ต้น ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นด้วยเกล้าฯ ว่ากีดถนนจึงได้ขุดออก 3 ต้น

ในวันที่ 27 สิงหาคม ร.. 129 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยายมราชได้ปรารภถึงเรื่องการปลูกต้นมะฮอกกานีที่เพชรบุรีว่า

“…พระยามหาเทพเป็นฝีจะยังไม่หาย ถึงเวลาควรที่จะลงต้นไม้ถนนได้แล้ว ยังถนนราชดำริฟากตะวันออก และถนนบริพัตรเป็นถนน 6 วาทั้งนั้น จะต้องปลูกต้นไม้เป็นแนวเดียวกันออกไป เห็นจะต้องเป็นมะฮอกกานีถนนราชดำริ 18 เส้น ถนนบริพัตร 30 เส้น ครั้นคิดต้นไม้เพิ่มขึ้นจากจำนวนเดิมประมาณ 60 ต้น แต่ถนนบริพัตรยังกำลังแก้อยู่ครึ่งหนึ่งแล้ว ครึ่งหนึ่งถนนราชดำริแล้ว ครึ่งหนึ่งถมไปตลอดแล้วคงไม่ถึงที่อีกครึ่งหนึ่ง คงจะแล้วสำเร็จในเร็วๆ นี้

ต้นมะฮอกกานี บางต้นก่อนมีการขุดย้าย? ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว (ภาพจาก https://www.facebook.com/ ปภังกร จรรยงค์)
ต้นมะฮอกกานี บางต้นก่อนมีการขุดย้าย? ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว (ภาพจาก https://www.facebook.com/ ปภังกร จรรยงค์)

ตามที่ได้อัญเชิญพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบางส่วนมาศึกษาวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องต้นมะฮอกกานีที่ทรงปลูกบนถนน 4 สาย คือ ถนนราชดำเนิน ถนนราชดำริ ถนนดำรงรักษ์ และถนนบริพัตร อันเป็นพระบรมราชานุสรณ์ของพระองค์นั้น ได้ก่อให้เกิดการปลูกต้นมะฮอกกานีประดับตามถนนให้ความร่มเย็นสวยงามมาแล้วกว่า 100 ปี นับเป็นพระบรมราชานุสรณ์ที่ทรงคุณค่ายิ่งทางประวัติศาสตร์ เป็นพระราชมรดกทางวัฒนธรรมที่ตกทอดให้แก่เมืองเพชรบุรี ต้นมะฮอกกานีเป็นสมบัติของชุมชนที่คนเพชรบุรีทุกคนควรจะภาคภูมิใจ และช่วยกันอนุรักษ์ดูแลรักษาปลูกเสริมแทนต้นที่ตาย เพื่อให้เป็นต้นไม้คู่แผ่นดินเมืองเพชร และเป็นศักดิ์ศรีคู่พระราชวังรามราชนิเวศน์สืบต่อไปอีกนานแสนนาน

ประวัติศาสตร์จรดจารนับนานเนื่อง

เพชรบุรีเป็นเมืองเก่าเมืองหนึ่ง

โบราณสถานล้ำค่างามตราตรึง

ย้อนคำนึงสำหรับการรับรู้

สมเด็จพระปิยมหาราช

เสด็จประพาสเมืองเพชรงามอร่ามหรู

ทรงสร้างพระราชวังหวังเชิดชู

ต้อนรับผู้มาเยือนยังวังบ้านปืน

ทรงดำริเห็นชอบถนนรอบวัง

สองฟากฝั่งควรเน้นเย็นร่มรื่น

ทั้งสวยเด่นเป็นศักดิ์ศรีที่ยั่งยืน

และให้ความสดชื่นทุกคืนวัน

ทรงปลูกมะฮอกกานีทั้งสี่สาย

ริมถนนขวาซ้ายดั่งหมายมั่น

ราชดำเนิน,ดำรงรักษ์ประจักษ์กัน

ราชดำริ,บริพัตรนั้นสืบทอดมา

ราชมรดกราชันอันยิ่งใหญ่

ทรงโปรดให้ชาวเพชรบุรีเฝ้ารักษา

เป็นสมบัติคู่แผ่นดินปิ่นประชา

สมดั่งพระเจตนา .ห้านี้

ไม่อยากให้มะฮอกกานีนี้สูญพันธุ์

ต้องร่วมกันอนุรักษ์เทิดศักดิ์ศรี

พี่น้องประชาชนคนเพชรบุรี

อยากเห็นมะฮอกกานีปลูกที่เดิม

 


เอกสารอ้างอิง

ประสิทธิ์ ธีรานันท์. “สมเด็จพระปิยมหาราชกับเจ้าจอมพระสนมเมืองเพชร,” ใน พระปิยมหาราชกับเมืองเพชร. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ จ่าสิบเอกหญิง อุไร อังกินันทน์. เพชรบุรี : เพชรภูมิการพิมพ์, ๒๔๔๒.

เสยย์ เกิดเจริญ. “พระราชดำริรัชกาลที่ ๕ ในการสร้างพระราชนิเวศน์,” ใน พระปิยมหาราชกับเมืองเพชร. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ จ่าสิบเอกหญิง อุไร อังกินันทน์. เพชรบุรี : เพชรภูมิการพิมพ์, ๒๕๔๒.

______. มะฮอกกานี ราชมรดกล้นเกล้า,” ใน พระปิยมหาราชกับเมืองเพชร. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ จ่าสิบเอกหญิง อุไร อังกินันทน์. เพชรบุรี : เพชรภูมิการพิมพ์, ๒๕๔๒.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ธันวาคม 2559