จริงหรือ คนรุ่นตายายใช้ปุยต้นงิ้วยัดฟูกที่นอน?!?

ฟูก ต้นงิ้ว นุ่น
ภาพประกอบเนื้อหา - ที่นอนของคานธีในบ้านพักที่เมืองมุมไบ (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

ที่นอน หรือ ฟูก ของคนสมัยโบราณ จะเย็บด้วยมือและยัดไส้ด้วยนุ่นที่ได้มาจาก “ต้นงิ้ว” และ “ต้นง้าว” [มีอีกชื่อที่เรียกทั่วไปว่า “ต้นนุ่น”] ทั้งนั้น ไม่ใช่ที่นอนยัดไส้ด้วยใยสังเคราะห์เหมือนในสมัยนี้

ที่นอนนอนสบายและไม่ป่นเป็นฝุ่น ต้องเป็นนุ่นที่ได้มาจาก ต้นงิ้ว เท่านั้น เพราะไส้ที่นอนที่ใช้กันยังมีนุ่นจากต้นง้าวอีกชนิดหนึ่งอีกด้วย

ต้นงิ้ว ที่คนรู้จักกันดี เป็นต้นไม้ยืนต้นเก่าแก่ตั้งแต่สมัยโบราณ แถมยังมีเรื่องเกี่ยวกับชู้สาวว่าใครเป็นชู้กับเมียใคร  ตายไปต้องไปปีนต้นงิ้วมียมบาลคอยถือหอกทิ่มแทงอยู่ใต้ต้นให้ได้รับความเจ็บปวดเลือดไหลโทรมกาย

ส่วนต้นง้าว [อีกชื่อหนึ่งของต้นนุ่น] เป็นพืชสมัยใหม่ คนไม่ค่อยรู้จักเพราะไม่มีเรื่องปรัมปรามาเล่าให้จำ ต้นง้าวนั้นเป็นพืชยืนต้น ต้นใหญ่บ้างเล็กบ้าง ออกดอกเป็นดอกสีขาวและดอกจะกลายเป็นผลยาวๆสีเขียว ถ้าแก่จัดผลจะแตกออกเป็นปุยเหมือนผลงิ้วทั่วไป ซึ่งนำไปยัดเบาะหรือที่นอนได้เหมือนงิ้ว แต่นุ่นที่ได้จากต้นง้าวจะไม่ทนทานเหมือนนุ่นจากต้นงิ้ว มันจะเละเป็นฝุ่นป่นๆ ในเวลาไม่นาน ส่วนนุ่นจากต้นงิ้วนั้นทนทานไม่เละเป็นฝุ่นเหมือนนุ่นง้าว

คนสมัยก่อนที่จะซื้อที่นอนเขาต้องมีความแน่ใจว่าเป็น ฟูก ที่ยัดด้วยนุ่นงิ้วเท่านั้น 

สมัยก่อนคนที่รับเย็บที่นอนขายจะให้คนว่าจ้างนั่งดูเลยว่าเป็นนุ่นงิ้วเท่านั้นที่นำมาใช้ยัดที่นอน นอกจากยัดไส้นุ่นงิ้วแล้วถ้าเป็นที่นอนคู่แต่งงานใหม่มาว่าจ้างเพื่อปูผ้าเข้าเรือนหอแล้ว คนเย็บที่นอนจะมีการใส่ใบเงินใบทองและข้าวเปลือกข้าวสารอย่างละนิดอย่างละหน่อยไว้กลางที่นอนเพื่อเป็นเคล็ดสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาวด้วย และคนที่เย็บที่นอนขายก็จะมีความซื่อสัตย์ใช้แต่นุ่นงิ้วเท่านั้นเพื่อไม่ให้เสียชื่อเสียง

ต่างจากสมัยนี้ที่ซื้อที่นอนตามร้านขายที่นอนซึ่งยัดนุ่นมาสำเร็จแล้ว เลยไม่รู้ว่าใช้นุ่นคุณภาพแบบนุ่นงิ้วหรือนุ่นง้าว ถ้าโชคดีก็ได้นุ่นงิ้วไป ถ้าโชคไม่ดีก็จะได้นุ่นง้าว ใช้ไปไม่เท่าไรก็จะเละเป็นฝุ่นผง ร้านค้าเก่าแก่บางร้านเขาก็ซื่อสัตย์กับผู้ซื้อ ที่นอนยัดนุ่นงิ้วและนุ่นง้าวจะขายราคาต่างกันตามคุณภาพ ทางร้านจะบอกความจริง เราก็เลือกซื้อที่นอนที่มีคุณภาพคือยัดด้วยนุ่นงิ้วซึ่งก็จะทนทานนานนับสิบๆ ปี  ดังที่ผู้เขียนใช้มาหลายสิบปีจึงจะเปลี่ยนที่นอนเพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น มันยังนุ่มสบายและตบได้ฟูดีเหมือนเดิม

เด็กในชนบทจะรู้จักต้นงิ้วและต้นง้าวเป็นอย่างดี เพราะต้นงิ้วง้าวนิยมปลูกในบริเวณบ้าน เมื่อถึงฤดูออกดอกคนก็จะเห็นความแตกต่างของดอกชัดเจน ดอกงิ้วจะมีสีแสดแดงดอกสั้นๆ เมื่อมันร่วงลงมา เด็กผู้หญิงมันเอาไปเล่นขายข้าวขายแกงเพราะดอกมันใหญ่สีสวย ส่วนผู้ใหญ่จะเอาเสื่อหรือผ้าผืนๆ มาปูรองรับดอกร่วงแล้วแกะเอาแต่เกสรตากแห้งไว้เพื่อใส่แกงแบบทางเหนือๆ หรือแกงแคแกงลาว  หรือใส่ในเครื่องน้ำเงี้ยว

ผิดกับดอกง้าวจะมีดอกเป็นสีขาวซึ่งไม่สามารถนำมาใช้เล่นขายของได้ เพราะดอกจะร่วงลงมาไม่เป็นชิ้นเป็นอันเก็บเป็นดอกๆ ไม่ได้เลย ก็เลยไม่จูงใจให้เก็บไปเล่น เด็กๆ จึงไม่สนใจ  ผู้ใหญ่ก็ไม่สามารถเก็บดอกไปต้มแกงรับประทานได้ จึงปล่อยให้มันร่วงหล่นตามโคนต้น ที่ไม่ร่วงลงมาก็ติดลูกกลายเป็นฝักนุ่นสีเขียวอ้วนๆ ยาวๆ รอจนแก่จัดจึงสอยลงมา หรือบางครั้งก็ปล่อยให้มันแตกอ้าเห็นปุยนุ่นสีขาวอยู่บนต้น พอลมพัดมาแรงๆ ปุยนุ่นก็จะลอยไปตามลม ไปตกที่ไหนที่นั่นก็ขาวโพลนเพราะปุยนุ่นเกาะ

แต่บางบ้านเขาก็สอยลูกแก่สีน้ำตาลลงมาแกะปุยนุ่นที่มีสีขาวข้างในเอาไว้ปั่นเป็นสำลีเอาไว้ยัดหมอนยัดที่นอนใช้ แต่คนไม่นิยมทำเพราะได้ปุยนุ่นที่ไม่ทนทานเหมือนนุ่นงิ้วเขา บางคนจึงปล่อยให้มันแตกอ้าปุยนุ่นลอยไปตามลม ซึ่งก็สามารถทำความรำคาญให้เพื่อนบ้านที่ต้องคอยปัดปุยนุ่นที่ลอยมาเกาะพื้นหรือข้าวของใช้อยู่ทุกวันจนกว่าปุยนุ่นจะแตกอ้าลอยตามลมไปจนหมดต้น

ปัจจุบันคนที่ซื้อที่นอนจะไม่สนใจว่าเป็นนุ่นงิ้วนุ่นง้าวแล้ว เพราะที่นอนเหล่านั้นไม่มีคนนิยมเสียแล้ว เขาใช้ที่นอนสมัยใหม่ที่เป็นที่นอนผลิตสำเร็จโดยไม่ต้องมีนุ่นอยู่ข้างใน เพราะคนปัจจุบันมักแพ้ฝุ่นละอองที่ฟุ้งมาจากที่นอนและหมอน คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ไม่ต้องการที่นอนยัดนุ่นใดๆ ร้านค้าสมัยใหม่จึงมีที่นอนทำด้วยวัสดุสมัยใหม่ไม่ต้องใช้นุ่นให้เป็นฝุ่นและเป็นที่นิยมมากขึ้น ที่นอนยัดนุ่นไม่ว่างิ้วว่าง้าวก็จะไม่มีผู้ซื้อต่อไปในอนาคต  ถ้าเป็นเช่นนั้นต้นไม้อย่างงิ้วหรือง้าวก็จะไม่มีประโยชน์สำหรับผู้คนอีกต่อไป เด็กรุ่นใหม่ก็คงจะไม่รู้คุณค่าของต้นนุ่นไม่ว่างิ้วหรือง้าวกันอีกต่อไปในอนาคต

มีข้อความรู้เรื่อง “นุ่น” วัสดุธรรมชาติ และเส้นทางคืนชีพสู่ตลาดร่วมสมัย โดย สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์ เผยแพร่ใน http://www.tcdc.or.th  เห็นว่าเป็นประโยชน์จึงคัดมาให้ได้อ่านกันดังนี้ “ครั้งหนึ่งไทยเราเคยเป็นประเทศผู้ส่งออกปุยนุ่น (Kapok Fiber) อันดับต้นๆ ของโลก และนุ่นไทยก็เคยได้รับการยอมรับว่าเป็น “นุ่นที่คุณภาพดีที่สุด” แต่ไม่นานตำแหน่งแชมป์อันนี้ก็ถูกโค่นลงอย่างรวดเร็วโดยประเทศอินโดนีเซีย…เพราะอะไร? 

สาเหตุหลักมิใช่ที่คุณภาพปุยนุ่นไทยด้อยคุณภาพลงแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะ “ความมักง่ายของผู้ประกอบการบางราย” ที่หวังแต่ผลกำไรตรงหน้า ขาดซึ่งจริยธรรม และนำสิ่งเจือปนต่างๆ เช่น ใยฝ้าย เศษผ้า นุ่นเก่า หรือแม้กระทั่งโฟม เข้าไปผสมกับปุยนุ่นเพื่อให้มีน้ำหนักมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ณ วันนี้ไทยเราแทบไม่สามารถส่งออกปุยนุ่นสู่ตลาดโลกได้อีกเลย ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเองก็ตั้งอยู่ในแถบป่าฝนเขตร้อน อันเป็นภูมิประเทศที่ “เหมาะสมที่สุด”สำหรับการปลูกต้นนุ่นบนโลกใบนี้!

หากแต่มีคนไทยซึ่งเห็นคุณค่าของวัสดุ “นุ่น” เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นวัสดุเส้นใยธรรมชาติของไทยในปี พ.ศ.2554 ทุกวันนี้เส้นใยนุ่นของแบรนด์ “จารุภัณฑ์” ได้รับการรับรองจากห้องสมุดเพื่อการออกแบบ Material ConneXion, Inc. ประเทศอเมริกา (ขึ้นทะเบียนเป็นวัสดุธรรมชาติ MC#: 6805-01) ว่ามีคุณสมบัติเฉพาะของเส้นใย ดังต่อไปนี้

– มีน้ำหนักเบากว่าเส้นใยฝ้ายถึง 5 เท่า 

– เป็นวัสดุที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม 

– ไม่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ ปราศจากกลิ่น 

– ลอยน้ำได้ และมีแรงต้านน้ำถึง 30 เท่าต่อน้ำหนักจริงของตัววัสดุ (หรือประมาณ 5 เท่าของแรงดีดตัวในน้ำเมื่อเทียบกับวัสดุไม้ก๊อก)

– เป็นฉนวนควบคุมอุณหภูมิได้ดีเยี่ยม 

– สามารถซึมซับคราบน้ำมันได้เป็นอย่างดี

ผลจากการวิจัยครั้งนั้นสะท้อนให้เห็นว่า อันที่จริงแล้ว “เส้นใยนุ่น” ของไทยมีศักยภาพสูงมากในทางเศรษฐกิจ หากนำไปผ่านกระบวนการออกแบบและพัฒนา ก็สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หมอน ที่นอน ถุงนอน เสื้อกันหนาว เสื้อชูชีพ ฯลฯ” 

จึงต้องฝากความหวังไว้กับคนไทยรุ่นใหม่ที่ยังมองเห็นคุณค่าของของไทยและพัฒนาให้ทันโลกเพื่อของดีของไทยจะได้มีไว้ใช้ประโยชน์กับคนรุ่นหลังได้ต่อไป [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 เมษายน 2565