“กระถิน” พืชพื้นบ้านที่คนไทยคุ้นเคย แต่ไม่ใช่ของไทย

กระถิน
ส่วนยอดอ่อนของ กระถิน ที่คนไทยนิยมรับประทาน (https://www.technologychaoban.com/)

ในบรรดาพืชผักพื้นบ้านของไทย “กระถิน” เป็นชื่อหนึ่งที่ขาดไม่ได้ กระถินเป็นต้นไม้ที่ปลูกง่าย และเป็นผักที่คนไทยนิยมกินกันทั่วไปมานาน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารริมทาง หรือภัตตาคาร จึงอาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนว่า กระถินเป็นพืชดั้งเดิมของไทย

เรื่อง “กระถิน” นี้ สุรีย์ ภูมิภมร เขียนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2534 อธิบายว่า กระถินเป็นพืชนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

กระถินบ้านหรือกระถินไทยแท้จริงแล้วเป็นพันธุ์ไม้ต่างประเทศที่ได้นำเข้ามาปลูกนานเต็มที แต่เพราะมีการที่คนไทยปลูกกระถินกันทุกหนทุกแห่ง ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ไม้กระถินเป็นไม้พื้นเมือง แถมมีชื่อพื้นเมืองที่เรียกต่างกันออกไป…

บ้านเดิมอยู่อเมริกากลาง

กระถินเป็นเพียงพืชพื้นบ้านไม่ว่าจะขึ้นอยู่ในส่วนไหนของโลก มีความผูกพันกับหมู่บ้านในชนบทมากกว่าหมู่บ้านในเมือง มีการค้นพบภาพวาดเก่าแก่อูเอซิน (uaxin) ที่พบในบริเวณชายแดนด้านตะวันตกของพื้นที่ภาคกลางของเม็กซิโก คาดว่าคงจะเป็นภาพที่วาดเมื่อ พ.ศ. 2093 หรือประมาณ 450 ปีมาแล้ว ภาพวาดนี้ได้แสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีไม้กระถินขึ้นอยู่ ต่อมาชาวสเปนได้นำชื่ออูเอซินมาใช้ในการตั้งชื่อเมืองโอเอซาก้า (Oaxaca) ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองใหญ่อันดับห้าของเม็กซิโก

จากหลักฐานทางพฤกษาศาสตร์ได้รายงานว่า ไม้กระถินยักษ์มีถิ่นกำเนิดในประเทศกัวเตมาลา ฮอนดูรัส เอลซัลวาดอร์ ตอนเหนือของนิการากัว ไปจนถึงฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของเม็กซิโก

ชนเผ่ามายา (Maya) และอินเดียนแดงเผ่าซาโปเทค (Zapotec) ได้ใช้กระถินยักษ์เพื่อบำบัดความต้องการของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ มานานกว่า 2,000 ปี

เมื่อกองทัพอันแข็งแกร่งของสเปนได้เข้ายึดครองพื้นที่ในบริเวณอเมริกากลางและอเมริกาใต้ในช่วง พ.ศ. 2100 นั้น สเปนใช้ไม้กระถินเลี้ยงม้า แล้วก็ติดนิสัยที่จะเอาใบกระถินไปเลี้ยงม้าแม้เมื่อเดินทางไกลไปยังประเทศอื่น

ภายหลังสเปนได้ขยายอิทธิพลทางทะเลจนมีแสนยานุภาพกล้าแกร่งมากขึ้นแล้ว สเปนสามารถยึดครองฟิลิปปินส์ในช่วง พ.ศ. 2108-2368 นับเป็นการถือครองที่ยาวนานมาก อิทธิพลของสเปนยังปรากฏให้เห็นอยู่ในพิธีกรรมทางศาสนา หรือแม้แต่ประเภทอาหารการกินของชาวฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่บนกระโปรงรถจี๊ปของคนฟิลิปปินส์จะมีรูปม้าประดับประดาตัวเดียวบ้าง สี่ห้าตัวบ้าง

ในช่วงที่ทหารสเปนมีอิทธิพลบนเกาะฟิลิปปินส์นั้น กองทัพสเปนได้นำกองทัพม้ามาโดยทางเรือ และได้นำเมล็ดกระถินมาจากเกาะอคาปุลโก เพื่อที่จะเพาะปลูกเป็นอาหารม้าด้วย ภายในระยะเวลาอันสั้นกล้าไม้กระถินได้เจริญเติบโตภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ได้อย่างสวยงาม และสามารถให้ดอกและเมล็ดได้ในปีถัดมา ต่อมาได้มีการขยายพันธุ์จนปลูกกันไปทั่วทุกเกาะ

ใครเป็นคนนำเข้ามาปลูกในไทย

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ใครเป็นคนนำเมล็ดกระถินยักษ์จากฟิลิปปินส์มาปลูกในไทย ได้พยายามค้นคว้าจากหลายต่อหลายแหล่งก็ยังสื่อความไม่ชัดเจนว่าในช่วงนั้นคนไทยทำมาค้าขายกับคนในหมู่เกาะฟิลิปปินส์อยู่แล้ว แต่ทำไมจึงเอาพืชชนิดนี้มาปลูกในไทย

มีหลักฐานยืนยันว่าในราวศตวรรษที่ 19 ชาวดัตช์ได้นำกระถินมาปลูกที่อินโดนีเซีย เกาะปาปัวนิวกีนี และมาเลเซีย ส่วนใหญ่จะปลูกเป็นพืชพี่เลี้ยงให้แก่ต้นกาแฟ ควินิน และพริกไทย

ฉะนั้น การนำกระถินมาปลูกในประเทศไทยนั้นอาจจะผ่านอินโดนีเซีย หรือมาเลเซียมาก็ได้ เพราะประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับประเทศทั้งสองมาช้านานแล้ว รสนิยมการกินก็คล้าย ๆ กัน โดยเฉพาะการกินยอดกระถินพร้อมน้ำพริก หรือแนมกับแซมบ้าของชาวมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย

นี่คือที่มาของกระถินบ้านหรือกระถินพันธุ์ไทยที่รู้จักกันนาม Leucaena glauca แต่แท้ที่จริงแล้วนี่คือกระถินยักษ์ Leucaena leucoce phala (Lam) de Wit นั่นเอง

หลักฐานการปลูกในไทย

แม้ไม่ปรากฏว่ามีเอกสารใด ๆ ที่จะระบุว่า ได้นำกระถินมาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใด ใครเป็นคนเอามาปลูก เอามาจากฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย ก็ไม่ปรากฏหลักฐานไว้แน่ชัด แต่คาดว่าคงจะเข้ามาในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา เพราะในสมัยตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้นก็มีกระถินขึ้นอยู่ทั่วไป

เอกสารในวรรณคดีไทยเท่าที่ได้ตรวจค้นดูมีอยู่ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งทรงชมไม้กระถินไว้ในหนังสือรามเกียรติ์ อุณรุท และดาหลัง ดังข้อความต่อไปนี้

รามเกียรติ์

เที่ยวชมมิ่งไม้ในสวน   หอมหวนทุกพรรณบุปผา

การเกดแก้วแกมกรรณิการ์   กุหลาบสร้อยฟ้าอินทนิล

ชาตบุษย์พิกุลแกมประยงค์   มลิลามหาหงส์ส่งกลิ่น

สารภีร่วงรสรวยริน   กระถินนางแย้มมลิวัลย์

อุณรุท (ฉากของสระอโนดาต)

สาลิกาพากันมาจับแก้ว   เสียงแจ้วร่ายโจนโผนผยอง

น้อยหน่าอินทนิลกระถินทอง   พลับพลองหมู่พลองตะขบเคี้ยว

นกกระทาบินมาจับกระถิน   ใช้เกสรกินแล้วส่งเสียง

สายหยุดนางแย้มรังเรียง   หันเหียงหาดแหนแน่นนันต์

ดาหลัง

บ้างเก็บจําปาสารภี   มะลุลีลําดวนกระดังงา

อีกทั้งกาหลงส่งกลิ่น   กุหลาบกระถินอินทนิลป่า

นอกจากจะปรากฏในวรรณคดีขององค์สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแล้ว ชื่อกระถินยังปรากฏเป็นชื่อของนางเอกในนวนิยายอมตะเรื่องสําเภาล่ม ของปรมาจารย์ ไม้ เมืองเดิม ปัจจุบันมีคนใช้ชื่อกระถินกันน้อยมาก ถ้าลองเปิดสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ก็จะไม่เจอชื่อกระถินแต่อย่างใด เข้าใจว่าคงมีการตั้งชื่อบ้างตามชนบทที่ห่างไกล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 สิงหาคม 2562