เผยแพร่ |
---|
พืชพรรณผลไม้หลายชนิดจากทวีปอเมริกา หรือโลกใหม่ ถูกนําสู่โลกเก่าเข้าถึงยุโรปเป็นครั้งแรกโดยคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (ค.ศ. 1451 – 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1506) หลังจากนั้นก็แพร่กระจายไปทวีปอื่นๆ ทั้งโลก
นับแต่นั้นมาโลกก็ไม่เหมือนเดิม เพราะสภาพแวดล้อมทาง ธรรมชาติเปลี่ยนแปลง อาหารการกินก็เปลี่ยนไป รวมถึงอาหาร ไทยค่อยๆ ปรับจนมีรสชาติเพิ่มหลายหลากมากกว่าแต่ก่อน
พืชจากทวีปอเมริกาใต้ที่โคลัมบัสขนไปยุโรป แล้วแพร่หลายไปทั่วโลกรวมทั้งไทย ได้แก่ ข้าวโพด, มันฝรั่ง, ถั่วลิสง และถั่วต่างๆ, ยาสูบ, มะเขือเทศ, ฟักทอง, สับปะรด, มันสําปะหลัง, โกโก้ (ช็อกโกแลต), พริกต่างๆ, อะโวคาโด, มะละกอ ฯลฯ
รายการพรรณพืชต่างๆ ข้างต้นนั้น โคลัมบัสและคณะของเขา ได้นำพรรณพืชต่างจากทวีปอเมริกากลาง และอเมริกาใต้มาปลูกในทวีปยุโรป เมื่อประมาณ พ.ศ. 2035 (ตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2) ก่อนะจแพร่หลายไปยังพื้นที่อื่นในเวลาต่อมา เช่น ประมาณ พ.ศ. 2112 ชาวสเปนและโปรตุเกส นำพันธุ์พริกไปปลูกในอินเดียและประเทศใกล้เคียงจนถึงอุษาคเนย์และไทย ส่วนมะละกอเข้ามานำมาปลูกในเอเชียประมาณ พ.ศ. 2314 (สมัยกรุงธนบุรี) โดยเริ่มปลูกที่มะละกา ก่อนจะขยายมาไทย
การทางพบโลกใหม่ [อเมริกาใต้และกลาง]แล้วนําพืชพรรณบางชนิด สู่โลกเก่า [ยุโรป] ของโคลัมบัสเดิน ทำให้สภาพแวดล้อมโลกเปลี่ยนไป มีข้อความพรรณนาใน หนังสือโคลัมบัสแลเรื่องราวของการค้นพบโลกใหม่ ว่า
“โลกในปี 1492 มีความแตกต่างจากปัจจุบันมาก ตอนที่ โคลัมบัสเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกนั้น มะเขือเทศและ ซอสมะเขือเทศ ยังไม่เป็นที่รู้จักในอิตาลีหรือในที่ไหนๆ ในยุโรป
เช่นเดียวกันกับช็อกโกแลตซึ่งเป็นที่แพร่หลายในอเมริกา ก่อนโคลัมบัสมาถึงราวสามพันปี แต่ไม่เป็นที่รู้จักของชาวยุโรปเลย
ยาสูบก็เช่นกัน มันมีความผูกพันอย่างมากกับชีวิตและ พิธีกรรมของพวกอินเดียน แต่ไม่เป็นที่รู้จักของชาวยุโรป
เมื่อโคลัมบัสและลูกเรือพบกับสิ่งดังกล่าว พวกเขาไม่รู้จะทําอะไรกับมัน กระนั้น ผลจากการที่พวกเขานําผลิตผลเหล่านี้ เข้าสู่ยุโรป และลงมือปลูกทั้งดอกไม้และพฤกษชาติที่นําติดตัวมา พืชบางชนิดมีขนาดใหญ่โตเท่ากับม้า บางชนิดเล็กจนแทบมอง ไม่เห็น โลกเก่าและโลกใหม่ได้เชื่อมโยงกันในวิถีทางที่ไม่มีใคร แม้ตัวโคลัมบัสเองจะคาดเดาได้
ไม่มีสิ่งใดเหมือนเดิมอีกต่อไป โคลัมบัสคงคิดไม่ถึงว่าผลจากการเดินทางของเขาที่ดํารงอยู่นานที่สุด นอกเหนือการแสวงหาจักรวรรดิและการค้า คือการที่เขาได้เปลี่ยนสภาพแวดล้อมของโลกโดยไม่ตั้งใจ”
ข้อมูลจาก
สุจิตต์ วงษ์เทศ. อาหารไทย มาจากไหน, สำนักพิมพ์นาตาแฮก 2560
ลอเรนซ์ เบอร์กรีน (เขียน), อนุสรณ์ ติปยานนท์ สมหวัง แก้วสุฟอง (แปล). โคลัมบัสและเรื่องราวของการค้นพบโลกใหม่, สำนักพิมพ์ ยิบซี กรุ๊ป, 2557
ดร.สุรีย์ ภูมิภมร. พรรณพืช ในประวัติศาสตร์ไทย, สำนักพิมพ์ติชน มกราคม 2548
เผยแพร่ข้อมูลครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2562