การเดินทางของ “ข้าวโพด” จากพืชป่าในอเมริกา สู่อาหารของคนและ(ปศุ)สัตว์ทั่วโลก

ข้าวโพด (ภาพจาก pixabay.com)

ข้าวโพด (Corn, Maize) เป็นพืชผลที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของโลก ต้นไม้ตระกูลหญ้าลำต้นสูงให้ผลเป็นฝักซึ่งเต็มไปด้วยเมล็ดนี้ นอกจากจะเป็นอาหารสัตว์ชั้นดีแล้วยังเป็นหนึ่งในธัญพืชยอดนิยมของคนทั่วโลกด้วย หนึ่งในเมนูจากข้าวโพดที่แพร่หลายเป็นที่รู้จักทั่วโลกย่อมหนีไม่พ้น “ป๊อบคอร์น” (Popcorn) หรือ ข้าวโพดคั่ว หนึ่งในอาหารทานเล่นที่โปรดปราน เพราะทานง่ายได้ทุกเพศทุกวัย

ในสมัยปัจจุบันข้าวโพดเป็นพืชที่ปลูกแพร่หลายทั่วทวีปอเมริกา เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของหลาย ๆ ประเทศ เพราะทั้งทนต่อสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย เป็นแหล่งอาหารสำคัญ และนำมาเลี้ยงสัตว์ได้ตั้งแต่ต้น ใบ ไปจนถึงเมล็ด

ข้าวโพดแบ่งได้หลากหลายชนิด ยกตัวอย่างหลัก ๆ 5 กลุ่ม คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือข้าวโพดไร่ (Field Corn) ข้าวโพดหวาน (Sweet Corn) ข้าวโพดแป้ง (Flour Corn) ข้าวโพดเทียนหรือข้าวโพดข้าวเหนียว (Waxy Corn) และข้าวโพดคั่ว (Pop Corn) แม้จะมีหลักฐานการปลูกข้าวโพดมาแล้วหลายพันปี แต่ข้าวโพดแต่ละกลุ่มที่กล่าวไปล้วนถูกพัฒนาสายพันธุ์เมื่อไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานี่เอง

นักโบราณคดีส่วนใหญ่เชื่อว่ามนุษย์รู้จักปลูกข้าวโพดมาอย่างน้อย 4,500 ปีมาแล้ว โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาบริเวณกลุ่มวัฒนธรรมลาตินอเมริกา ได้แก่ ภูมิภาคอเมริกากลาง โดยเฉพาะประเทศเม็กซิโก และทวีปอเมริกาใต้ ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้เลยเกี่ยวกับการเดินทางของข้าวโพดที่เริ่มต้นจาก “โลกใหม่” คือไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการปลูกข้าวโพดในพื้นที่อื่น ๆ ของโลกเลยก่อน ค.ศ. 1492 ซึ่งเป็นปีที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) นักเดินเรือชาวเจนัวภายใต้การอุปถัมภ์ของราชบัลลังก์สเปนได้ไปค้นพบทวีปอเมริกา

สำหรับต้นกำเนิดการเพาะปลูกข้าวโพดอย่างจริงจังนั้น แม้จะมีการอธิบายอย่างรวม ๆ ว่าอยู่ในทวีปอเมริกาบริเวณกลุ่มวัฒนธรรมลาตินอเมริกา แต่สามารถวิเคราะห์ความแตกต่างโดยแบ่งเป็นสองพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างทั้งหลักฐานที่พบและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ค่อนข้างชัดเจน โดยหลักฐานการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพดจนเป็นพืชกสิกรรมของสองพื้นที่มีลักษณะ ดังนี้

1. กลุ่มวัฒนธรรมที่ราบสูงในทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ ประเทศเปรู โบลิเวีย เอกวาตอร์ เปรู ชิลี อาร์เจนตินา และบราซิล มีการค้นพบข้าวโพดพันธุ์พื้นเมืองหลายสายพันธุ์ที่มีความปรวนแปรทางกรรมพันธุ์และมีลักษณะอันหลากหลายอย่างมาก พื้นที่เหล่านี้ยังพบสายพันธุ์ที่มีลักษณะคล้ายข้าวโพดป่าด้วย

2. กลุ่มวัฒนธรรมอเมริกากลาง ประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา รวมถึงโคลัมเบีย และเวเนซุเอลา พบหญ้าพื้นเมืองสองชนิด คือ ทริพซาคัม (Trip sacum) และเทโอซินเท (Teosinte) ซึ่งมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์หลายประการคล้ายข้าวโพดอย่างมาก และมีความเป็นไปได้ว่าหญ้าเหล่านี้อาจเป็นบรรพบุรุษของข้าวโพดที่กลุ่มชนอารยธรรมเมโสอเมริกันนำมาพัฒนาสายพันธุ์จนกลายเป็นพืชกสิกรรมสำหรับบริโภค

ทางใต้ของหุบเขาลุ่มแม่น้ำบัลซาส (Balsas River) ตอนกลางของประเทศเม็กซิโก พบร่องรอยการเพาะปลูกหญ้าเทโอซินเทที่มีอายุกว่า 9,000 ปี แต่รูปลักษณ์กายภาพของพืชชนิดนี้แตกต่างจากข้าวโพดสมัยใหม่ที่เราคุ้นตากันอย่างมาก เพราะฝักเล็กและเมล็ดถูกห่อหุ้มด้วยเปลือกแข็ง แน่นอนว่ารสชาติคงไม่ถูกปากนัก ต่อมามีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าหญ้าสองชนิดข้างต้นและข้าวโพดน่าจะวิวัฒนาการแตกแขนงมาจากพืชดั้งเดิมร่วมกันเท่านั้น ไม่ได้เป็นเป็นบรรพบุรุษของกันและกันแต่อย่างใด

ทั้งนี้ นักโบราณคดียังพบซากซังข้าวโพดปนอยู่กับโบราณวัตถุต่าง ๆ ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินลึกลงไปกว่า 28 เมตรในบริเวณเมืองหลวงของประเทศเม็กซิโก ทั้งจุดที่เป็นถ้ำและสุสานหลายแห่ง จากการพิสูจน์อายุทำให้ทราบว่าร่องรอยเก่าแก่เหล่านี้มีอายุกว่า 4,000-5,000 ปี แสดงให้เห็นว่ามีการปลูกข้าวโพดปลูกแถบนี้มาหลายพันปีแล้ว

การค้นพบอันน่าแปลกใจอีกประการคือ ณ ช่วงอายุของซังข้าวโพดในถ้ำที่เม็กซิโก ข้าวโพดได้แพร่กระจายออกไปนอกพื้นที่ของเม็กซิโกก่อนหน้านั้นแล้ว มีร่องรอยการเพาะปลูกในแอมะซอนทางตะวันตกเฉียงใต้เมื่อประมาณ 1,500 ปีมาแล้ว ค่อนข้างแน่นอนว่าวิวัฒนาการของข้าวโพดจากการพัฒนาสายพันธุ์โดยชาวอินเดียนในทวีปอเมริกาถูกแบ่งออกเป็นสองเส้นทางอย่างชัดเจนก่อนคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (หรือลูกเรือของเขา) จะนำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดจากหมู่เกาะแคริบเบียนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกกลับไปยังยุโรปในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 และขยายพันธุ์จนแพร่กระจายไปทั่วโลก

จาก “โลกใหม่” กระจายไปทั่วโลก

การเดินทางของข้าวโพดจากภูมิภาคลาตินอเมริกาไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลก นอกจากเป็นผลงานของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส และคณะของเขาแล้ว กลุ่มคนที่มีส่วนสำคัญที่สุดย่อมเป็น “ชาวอินเดียน” หรืออินเดียนแดง ชนพื้นเมืองของทวีปอเมริกา เราะพวกเขาคือผู้นำเข้า-ส่งออกสายพันธุ์ข้าวโพดจากบริเวณอเมริกากลางไปปลูกทางตอนเหนือ หมู่เกาะทะเลแคริบเบียน และทวีปอเมริกาใต้ เป็นนักพัฒนาสายพันธุ์ที่ทั้งคัดเลือกพันธุ์ กำหนดสีสัน คุณภาพเมล็ด และหลักการเพาะปลูก

เมื่อคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส มาถึงทวีปอเมริกาใน ค.ศ. 1492 เขาก็พบการปลูกข้าวโพดอยู่ทั่วไปในดินแดนนี้ คณะสำรวจของเขาจึงทั้งแปลกใจและฉงนสังสัยว่าพืชประหลาดที่พวกเขาเห็นคืออะไร หลังจากเรียนรู้เกี่ยวกับพืชชนิดใหม่จากชนพื้นเมือง เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดพร้อมพืชพรรณประหลาดสำหรับชาวยุโรปอีกหลายชนิดก็เดินทางกลับสเปนพร้อมกองเรือที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส หมายมั่นว่าจะล่องไปยังจีน แต่กลับต้องพบดินแดนแห่งใหม่ที่คิดว่าเป็น “อินเดีย”

ดังนั้น พืชพรรณต่าง ๆ และข้าวโพดที่พวกเขานำกลับไม่ด้วยนั้น ไม่เพียงแค่ชาวยุโรปที่ไม่รู้จัก ทั้งชาวอินเดียกับชาวจีนในเอเชียก็ไม่มีใครรู้จักเช่นกัน

การปลูกข้าวโพดเริ่มต้นขึ้นในยุโรปก่อนขยายไปยังดินแดนอื่น ๆ กลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีการทำไร่ข้าวโพดอย่างแพร่หลายในพื้นที่ยุโรปใต้ ขยายไปยังยุโรปตอนกลางและตะวันออกของทวีป รวมถึงเกาะอังกฤษ สามร้อยปีหลังเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดข้ามน้ำข้ามทะเลมายังยุโรป มีการเพาะปลูกพืชชนิดนี้โดยทั่วไปและกระจายไปทั่วโลกพร้อมเครือข่ายค้าทางทะเลที่เติบโตและการขยายตัวของจักรวรรดินิยม ไร่ข้าวโพดโผล่ขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ทวีปแอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย แน่นอนว่าข้าวโพดกลายเป็นพืชเศรษฐกิจในอเมริกาด้วย

ทวีปแอฟริกาเริ่มเพาะปลูกข้าวโพดทางตอนเหนือของทวีปตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 16 ด้วยเมล็ดพันธุ์จากอิตาลีและสเปน ส่วนทวีปเอเชียมีการนำเข้าในช่วงเวลาเดียวกันจากหลายเส้นทาง คือ การค้าในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมายังซีเรีย จากทะเลดำมายังตุรกี ภูมิภาคคอเคซัส และเอชียกลาง เส้นทางเหล่านี้นำข้าวโพดจากตะวันตกมายังตะวันออกกลางและอินเดีย อีกเส้นทางคือการค้าทางทะเลมายังญี่ปุ่นโดยชาวโปรตุเกส กับหมู่เกาะฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียโดยชาวสเปน

ในส่วนของชื่อเรียกข้าวโพดว่า “Corn” บางครั้งจะหมายถึงข้าวสาลีหรือธัญพืชชนิดอื่น ๆ ด้วย จึงเรียกว่า “Maize” เพื่อเจาะจงยิ่งขึ้น โดยคำว่า “เมซ” ก็คืออินเดียนคอน มาจากคำว่า “มาฮิซ” (Mahiz) ภาษาอินเดียนท้องถิ่นในอเมริกา เป็นชื่อเรียกข้าวโพดที่ชนพื้นเมืองบอกกับคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เมื่อครั้งเขาได้พบพืชชนิดนี้เป็นครั้งแรก [1]

ข้าวโพดในประเทศไทย

หลักฐานการปลูกและบริโภคข้าวโพดในไทยนั้นปรากฏหลักฐานเก่าสุดในบันทึกจดหมายเหตุของ “มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์” (Monsieur De La Loubere) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยายุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่าง ค.ศ. 1687-1688 (พ.ศ. 2230-2231) มีข้อความว่า “คนไทยปลูกข้าวโพดแต่ในสวนเท่านั้น และต้มกินหรือเผากินทั้งฝักโดยมิได้ปอกเปลือก หรือกะเทาะเมล็ดเสียก่อน” [2]

ทั้งมีการเอ่ยถึง “ข้าวโพดสาลี” (Kaou-possali) ว่าเป็นพระกระยาหารของพระเจ้าแผ่นดินสยาม เชื่อว่าข้าวโพดในสมัยโบราณอาจเป็นพืชหลวง ราษฎรทั่วไปไม่นิยมบริโภคกันมากนัก

มีเอกสารที่ระบุว่าคนไทยปลูกข้าวโพดนำมาเลี้ยงสัตว์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) โดยหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร อดีตอธิบดีกรมเพาะปลูก (กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน) นำข้าวโพดพันธุ์อาหารสัตว์มาทดลองปลูก กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา การใช้ข้าวโพดเป็นอาหารสัตว์จึงแพร่หลายขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้นำข้าวโพดมาเลี้ยงไก่เพื่อการค้า ประชาชนจึงเริ่มรับเป็นแนวทาง แต่เนื่องจากแหล่งปลูกในไทยมีน้อยมาก ข้าวโพดจึงทั้งหายากและมีราคาที่สูงในระยะแรก

ปัจจุบันมนุษย์นำข้าวโพดมาใช้ประโยชน์ในระดับที่ชาวอินเดียนแดงผู้พัฒนาสายพันธุ์พืชชนิดนี้ไม่อาจคาดถึง เพราะนอกจากเป็นอาหารของคนและสัตว์แล้ว ข้าวโพดยังถูกนำไปหมุนเวียนเป็นพลังงานทดแทนในรูปแบบของ เอทานอล (Ethanol) และแปรรูปเป็นพลาสติกด้วย

มีข้อมูลเป็นสถิติตัวเลขระหว่างปี 2016-2017 ว่าผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มาจากข้าวโพดหนึ่งพันล้านตันทั่วโลกกลายเป็นพลังงาน 6% ของปริมาณแคลอรีจากอาหารทั้งหมดที่มนุษย์บริโภคเข้าไปเลยทีเดียว

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

[1] มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ : ‘เรื่องที่ ๒ ข้าวโพด’ / ‘ประวัติของข้าวโพดในประเทศไทย’. (ออนไลน์)

[2] Internet Archive Book Images, www.flickr.com : Image from page 416 of “Natal province : descriptive guide and official hand-book” (1911). (Online)

ฐานส่งเสริมข้อมูลและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP, สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : ข้าวโพด. (ออนไลน์)

Brigit Katz, Smithsonian Magazine : Rethinking the Corny History of Maize. (Online)

Laura Drury, Bright Maize : THE SURPRISING HISTORY OF MAIZE. (Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2565