“มะละกอ” พืชต่างถิ่นเข้าสู่ไทยเมื่อใด? ทำไมคนอีสานเรียกว่า “บักหุ่ง”

มะละกอ ส้มตำ
(ซ้าย) เมนูส้มตำมะละกอ (ภาพจาก pixabay.com), (ขวา) แปลงปลูกมะละกอ ที่เกษตรบางเขน กรุงเทพฯ เมื่อ ค.ศ. 1948 หรือ พ.ศ. 2491 (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

คนไทยส่วนใหญ่ยังคงเข้าใจผิดว่า “มะละกอ” เป็นพืชท้องถิ่น เพราะมีการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้กันมากมาย แต่แท้จริงแล้วมะละกอมีที่มาเหมือนพืชอีกหลายชนิด เช่น มันฝรั่ง, ยาสูบ, มะเขือเทศ, ฟักทอง, สับปะรด, มันสําปะหลัง, โกโก้ ฯลฯ คือเป็นพืชนำเข้าจากต่างแดน จากนั้นมีการปรับตัวโดยตัวของพืชเองส่วนหนึ่งหรือผู้คนเป็นตัวช่วยส่วนหนึ่ง ทำให้สามารถเจริญเติบโตได้ดี จนเสมือนเป็นพืชประจำท้องถิ่นไปเสียแล้ว

มะละกอ มาจากไหน โปรตุเกสหรือสเปน?

ในหนังสือ “พรรณพืช ในประวัติศาสตร์ไทย” ของ ดร. สุรีย์ ภูมิภมร สืบหาที่มาของมะละกอ จนพบเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศของโปรตุเกส ระบุไว้ชัดเจนว่า “มะละกอ” มีถิ่นกำเนิดเดิมที่เทือกเขาแอนดีส แต่บางเอกสารอ้างอิงว่ามะละกอมาจากเม็กซิโก บ้างก็ว่ามะละกอมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลาง บริเวณเม็กซิโกตอนใต้ และคอสตาริกา นอกจากนี้ ยังพบเอกสารบางฉบับระบุอีกเช่นกันว่าสเปนได้มะละกอมาจากฝั่งทะเลแคริบเบียนของปานามาและโคลัมเบีย

นายสินโซเตน นักท่องเที่ยวชาวดัตช์ ในสมัยกรุงธนบุรี เขียนรายงานไว้ว่าคนโปรตุเกสนำมะละกอมาปลูกที่มะละกา จากนั้นนำไปปลูกที่อินเดีย ส่วนอีกทางหนึ่งได้ขยายไปปลูกที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย คาดว่ามะละกอน่าจะเข้ามาทางภาคใต้ทางอ่าวไทย ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

เอกสารส่วนใหญ่ระบุว่าโปรตุเกสนำมะละกอเข้ามาปลูกในเอเชีย แต่เอกสารหมอบรัดเลย์ระบุว่าสเปนนำมะละกอเข้ามาปลูก ทั้งนี้มีหนังสือ PROSEA สนับสนุน หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมการกระจายพันธุ์พืชในเอเชียไว้

ดังนั้น จึงไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่าระหว่างโปรตุเกสหรือสเปนกันแน่เป็นผู้นำมะละกอสู่เอเชีย อาจจะนำมาจากทั้งสองชาติ เพียงแต่ใครก่อนใครหลังเท่านั้นเอง แต่ถิ่นกำเนิดของมะละกอนั้นค่อนข้างแน่ชัดว่าอยู่ในทวีปอเมริกากลาง-ใต้

ภาพบ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี สังเกตเห็นต้นมะละกอ ถ่ายโดย Robert Larimore Pendleton เมื่อ ค.ศ. 1936 หรือ พ.ศ. 2479 (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

มะละกอ ในอยุธยา?

ชาสโปรตุเกสเดินทางเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แล้ว สืบเนื่องจากการยึดครองมะละกาเมื่อ พ.ศ. 2053 ดังนั้น ช่วงเวลาจากนั้นเป็นต้นมาจึงมีความเป็นไปได้ว่ามะละกออาจแพร่เข้าสู่เอเชียแล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ามะละกอเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาเมื่อใด

ในบันทึกของ ลา ลูแบร์ ที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในช่วง พ.ศ. 2230-2231 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้กล่าวถึงคำว่า “Papayer” หรือ ปาปายา-มะละกอ ไว้ด้วย ความว่า “Thus the Melons of Siam are not true Melons, but the Fruit of Tree known in the Isles of America under the name of Papayer.”

สันต์ ท. โกมลบุตร แปลความตอนนี้ไว้ว่า “มะเดื่อของอินเดีย ซึ่งชาวสยามเรียกว่ากล้วยงวงช้าง ไม่มีรสชาติอย่างมะเดื่อของเราเลย และตามรสนิยมของข้าพเจ้าก็ต้องว่าไม่เป็นรสเป็นชาติเลยทีเดียว ทำนองเดียวกับแตงไทยในประเทศสยามก็มิใช่แตงไทยแท้ แต่เป็นผลไม้ของต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งรู้จักกันในหมู่เกาะของอเมริกาในชื่อว่า มะละกอ ข้าพเจ้าไม่เคยกินผลไม้ชนิดนี้”

ท่านผู้รู้เห็นว่า ลา ลูแบร์ อาจสับสนเรื่องมะเดื่อ ดังนั้น จึงน่าจะมีความสับสนเรื่อง Melon ไทย กับ Papayer ด้วย อีกทั้ง ลา ลูแบร์ ก็ไม่เคยกิน Papayer เสียด้วย ดังนั้น หลักฐานว่าในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้นมีมะละกอในกรุงศรีอยุธยาแล้วจึงยังไม่เป็นที่แน่ชัด

ต้นมะละกอที่จังหวัดสุพรรณบุรี ถ่ายโดย Robert Larimore Pendleton เมื่อ ค.ศ. 1936 หรือ พ.ศ. 2479 (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

หลักฐานที่พบคำว่า “มะละกอ” ซึ่งอาจเก่าแก่ที่สุดนั้นอยู่ใน “เสภาขุนช้างขุนแผน”  ในตอนบรรยายตลาดเมืองเชียงใหม่ คราวขุนแผนยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ ความว่า “…ตาหลอหัวร่อร่าออกราแต้ วันนี้แลพ่อจะสั่งปีสังก้อ เขาตีตบหลบขนเอาจนพอ ทั้งส้มกล้วยมะละกอก็พอการ ฯ…”

แต่เสภานี้คนไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นผู้แต่ง จะอนุมานว่ามะละกอแพร่หลายในเมืองเชียงใหม่ด้วยไม่ได้ แต่นี่ก็เป็นสิ่งยืนยันว่าคนในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (หรืออาจจะตั้งแต่ยุคปลายกรุงศรีอยุธยา) รู้จักมะละกอกันแล้ว

ใน “นิราศวัดเจ้าฟ้า” ของสุนทรภู่ ก็พบคำว่ามะละกอเช่นกัน ความว่า “…ไม่เห็นของต้องห้ามก็ลามขอ มะละกอกุ้งแห้งแตงมะเขือ ขอส้มสูกจุกจิกทั้งพริกเกลือ จนชาวเรือเหลือระอาด่าในใจ ฯ…”

ดังนั้น สันนิษฐานว่ามะละกอคงนำมาปลูกในยุคปลายกรุงศรีอยุธยาแล้วเป็นแน่ แต่อาจจำกัดอยู่ในเฉพาะพื้นที่หรือเฉพาะกลุ่มคนชนชั้นสูง ก่อนที่พืชชนิดนี้จะแพร่หลายกระจายพันธุ์ไปตามท้องที่ต่าง ๆ ถึงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มะละกอก็เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

เหตุใดเรียกบักหุ่ง?

หากนึกถึงอาหารที่ทำจากมะละกอ ก็คงหนีไม่พ้นเมนู “ส้มตำมะละกอ” ที่ปัจจุบันกลายเป็นอาหารอีสานยอดนิยม ทั้งนี้ มะละกอเข้าสู่ภาคอีสานของประเทศไทยเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด บ้างว่ารับมาจากภาคกลางของประเทศไทย บ้างว่ารับมาจากญวนหรือเวียดนาม

ในนิทานคนอีสาน เล่าต้นตอของมะละกอว่า พระยาคำผง เจ้าเมืองอุบลราชธานี นำพันธุ์มะละกอจากกรุงเทพฯ มาปลูกที่อุบลฯ โดยเจ้าเมืองนำมาเผยแพร่ปลูกไว้รับประทานผลสุก ซึ่งในสมัยนั้นปลูกกันเฉพาะเจ้าขุนมูลนาย เพราะถือว่าเป็นผลไม้ต่างถิ่น เป็นอาหารในรั้วในวัง และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับมาจากกรุงเทพฯ สมัยนั้นจึงเรียกว่า “กล้วยกรุงเทพ” หรือ “กล้วยเทพ”

ต่อมา เจ้าเมืองหัวเมืองต่าง ๆ ในภาคอีสานได้นำพันธุ์มะละกอไปปลูกตามพื้นที่ต่าง ๆ ใครที่ปลูกเอาผลสุกไปถวาย หรือไปให้เจ้าเมืองรับประทานก็จะได้รางวัล เจริญรุ่งเรืองกันถ้วนหน้า ดังนั้น ชาวอีสานจึงเรียกมะละกอว่า “บักหุ่ง” หมายถึง “ควมฮุ่งเฮือง” หรือรุ่งเรืองนั่นเอง

แปลงปลูก ผักกาดหอม และ มะละกอ เกษตรบางเขน
แปลงปลูกผักกาดหอมและมะละกอ ที่เกษตรบางเขน กรุงเทพฯ ถ่ายโดย Robert Larimore Pendleton เมื่อ ค.ศ. 1948 หรือ พ.ศ. 2491 (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

อย่างไรก็ตาม ดร. สุรีย์ ภูมิภมร ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่าคนในภาคอีสานอาจจะรู้จักมะละกอโดยรับผ่านทางเวียดนาม ทั้งนี้ที่เวียดนามมีอาหารที่ชื่อ GỎI ĐU ĐỦ KHÔ BÒ แปลว่า ยำมะละกอเนื้อแห้ง เป็นอาหารทานเล่น ลักษณะคล้ายกับส้มตำเป็นอย่างมาก คนเวียดนามกินเล่น และกินกับเส้นขนมจีน แต่ก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครได้รับอิทธิพลจากใคร

แต่จากดังกล่าวนี้ทำให้ทราบชัดเจนว่า “ตำบักหุ่ง” หรือ “ส้มตำมะละกอ” ไม่ใช่อาหารดั้งเดิมของภูมิภาคนี้ และไม่ได้เก่าแก่อย่างที่คิด คนในภาคอีสานมีเมนู “ตำส้ม” ของตัวเองอยู่ก่อนแล้ว ส้ม ก็คือรสชาติเปรี้ยว ตำส้มก็หมายถึงตำอะไรก็ได้ที่มีรสชาติเปรี้ยว อาจใช้วัตถุดิบที่มีรสชาติเปรี้ยวนำ เช่น กล้วยหรือมะม่วง กระทั่งอาจมีคนลองฝานมะละกอดิบลงไปตำหรือคลุก เติมน้ำปลาร้าลงไปเพิ่มความนัว จนกลายมาเป็นเมนู “ส้มตำ-ส้มตำ” อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พานิชย์ ยศปัญญา. (ตุลาคม, 2555). ไม่ได้เป็นพืชพื้นถิ่นของไทย แต่ “มะละกอ” ก็ได้รับการพัฒนาจนเป็นพืชพรรณล้ำค่า. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 33 : ฉบับที่ 12.

กองบรรณาธิการทางอีศาน. (สิงหาคม, 2556). มหัศจรรย์บักหุ่ง. ทางอีศาน. ปีที่ 2 : ฉบับที่ 16.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มกราคม 2565