อาหารมื้ออร่อยที่สุดของพุทธทาสภิกขุ คืออาหารชนิดใด?

พุทธทาสภิกขุ กับ ชาวบ้าน ฆราวาส
ท่านพุทธทาส (กลาง) คณะสงฆ์ และฆราวาส

ระหว่างเข้าพรรษาปี 2477 พระธรรมโกศาจารย์ หรือรู้จักในนาม พุทธทาสภิกขุ (27 พฤษภาคม 2449 – 8 กรกฎาคม 2536) แห่งสวนโมกพลาราม ได้กำหนดที่จะฝึกฝนตนเองอย่างเข้มข้น โดยงดพูดและงดติดต่อกับบุคคลภายนอก แต่ละวันท่านยังเขียนบันทึกลงใน “สมุดบันทึกธรรมปฏิบัติรายวัน” ที่ใช้กันในสวนโมกข์ ที่ภายหลังธรรมสภารวบรวมจัดพิมพ์เผยแพร่ในงานปลงศพของท่าน เมื่อปี 2536 โดยใช้ชื่อว่า “อนุทินการปฏิบัติธรรม” ซึ่งในที่นี้ขอนำเนื้อหาบางส่วนของเรื่อง “อาหารมื้ออร่อยที่สุด” ที่ท่านพุทธทาสเขียนไว้มานำเสนอดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


อาหารมื้ออร่อยที่สุด

อาหารมื้อที่มีความปรารถนาน้อยเปนเนื้อข้าว มีความสันโดษเปนกับข้าว เปนอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกนี้ บางคนกล่าวว่ามื้อที่หิว ข้อนั้นย่อมไม่แน่นอนนัก เพราะคนที่มีหิวบางคนก็ยังเลือกอาหาร และติเตียนเมื่อบริโภคแล้ว.

ข้าวสุกเปล่าที่เคี้ยวบดอยู่ในปากมีความสันโดษในห้วงแห่งดวงใจเปนกับ ย่อมหวานยิ่งกว่าข้าวสุกระคนด้วยนมข้นอย่างหวาน แต่เคี้ยวกลืนด้วยหัวใจแห่งชาวโลกธรรมดา! แม้ว่าตามธรรมชาติของแป้งข้าวในข้าวสุข เมื่อผสมกับน้ำลายแล้ว แปรธาตุเปนน้ำตาลรู้สึกหวานแก่ผู้เคี้ยวก็จริง แต่มันหวานไม่ถึง 1/100 ของข้างที่เคี้ยวและกลั้วด้วยน้ำลายอันผสมด้วยเชื้อแห่งสันโดษ.

เคยปรากฏแก่ข้าพเจ้าในบางครั้งว่า หวานจนขนลุกและเย็นซ่าไปทั่วตัว มีกลิ่นหอมและชุ่มชื่น จนรู้สึกว่า 3-4 คำก็พอแล้วสำหรับชีวิตในวันนี้ แต่ถ้าบางวันข้าพเจ้าเผลอลืมราดน้ำปรุงรสกล่าวคือความสันโดษนี่แล้ว ย่อมรู้สึกว่า ชาวบ้านช่างใจจืดแก่พวกเราเสียจริงหนอ! เขาไม่ให้อาหารที่เปนรสชาติแก่ลิ้นเสียเลย ทั้งที่วันนั้นมีการแกงไม่น้อยกว่า 2-3 อย่างก็มี

พระพุทธบิดาตรัสว่า จิตต์เปนธรรมชาติที่มีอารมณ์อันเดียว หมายความว่ามันเสวยอารมณ์ หรือรู้สึกอารมณ์ได้คราวละอัน ท่านจะป้อนอารมณ์อันไหนก็ให้แก่มันย่อมแล้วแต่ท่านจะเลือก เมื่อสันโดษเปนธรรมารมณ์ที่จิตเสวยอยู่แล้ว เมื่อนั้นมันย่อมเปนเด็กที่เลี้ยงง่ายไม่อ้อน และไม่รู้สึกถึงการที่มันเคยเลี้ยงยากครั้งก่อนๆ หรือครั้งอื่นๆ เลย

เพราะมันมีอารมณ์อันเดียว เปนแต่มันเปลี่ยนอารมณ์เร็วมากเท่านั้น เมื่อท่านไม่ยอมให้มันเปลี่ยน ผูกมัดไว้แน่นกับเสาเขื่อนคือสันโดษเหมือนลูกโคที่เขาจะนำไปฆ่าแล้ว ผักล้วนๆ หรือข้าวสุกล้วน ไม่มีอะไรเจือปน ก็ทำความพอใจอิ่มเอมให้แก่จิตต์เท่ากันกับอาหารที่ท่านหลงเพ้อว่าวิเศษทั้งหลาย ซึ่งเปนอาหารชนิดยาเสพติดมากกว่า ถ้าทำถูกวิธีจิตต์จะมีอารมณ์อันเดียว และไม่อ้อนเลย

วันหนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นโคกินหญ้าด้วยความสังเกตยิ่งกว่าทุกวัน เข้าใจว่ามันรู้สึกอร่อยเท่าที่พวกมันเปนทาสลิ้นเห็นอาหารตามภัตตาคารสูงๆ หรือแม่ครัวฝีมือดีเหมือนกัน วันหนึ่งข้าพเจ้าเลี้ยงปลาในสระด้วยข้าวสุกอย่างเดียว ข้าวสุกซึ่งมนุสส์กินแต่อย่างเดียวไม่ได้ แต่พวกปลามันเห็นเปนดุจว่า เทวดาเอาของทิพย์มาหว่านให้ทีเดียว นี่คือธรรมชาติ! มนุสส์ได้ยอมเปนขี้ข้าของปิสาจมหาอุบาทว์คือตัณหาในรสที่ลิ้นไปเสียแล้ว จึงกินข้าวสุกอย่างเดียวไม่ได้ ทั้งที่มนุสส์ก็คือสัตว์ธรรมชาติชนิดหนึ่งเหมือนกัน

วันหนึ่งข้าพเจ้าสละทองหยิบ และขนมหม้อแกง และของอื่นบางอย่าง แทนที่จะบริโภคเอง ให้พวกปลานั้นกิน แต่มันหากินไม่ ดูเถิดธรรมชาติ! มนุสส์สัตว์ธรรมชาติ ได้ละจากสิ่งที่บริสุทธิ์ ไปยึดสิ่งที่เศร้าหมอง เสพติดยาฝิ่นอย่างเงียบๆ ให้เป็นของจำเป็นสำหรับชีวิตด้วยการยึดถือ เห็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติเปนของเลวทราม สิ่งที่ปรุงใหม่ และหายากเปนของดี เพราะอุปทานที่ลิ้น!…ข้าวต้องผัดต้องปรุงเสียก่อน จึงจะกินข้าวนั้นได้โดยไม่ต้องกินกับข้าว ซึ่งความจริงมันก็เหมือนกับข้าวนั่นเอง

ธรรมชาติต้องการอาหารที่บำรุง หาต้องการอาหารที่แสลงไม่, อาหารที่ปรุงยิ่งวิเศษยิ่งขึ้นเพียงใด ก็ยิ่งเป็นอาหารเลวทรามลงเพียงนั้น เพราะแสลงและไม่เปนประโยชน์แก่ร่างกายยิ่งขึ้น ก็ยิ่งเป็นอาหารเลวทรามลงเพียงนั้น เพราะแสลงและไม่เปนประโยชน์แก่ร่างกายยิ่งขึ้น เปนแต่มีกลิ่น, สี, รส ฝั่งมนุสส์ให้โง่หลงผิดยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2564