กลับพุมเรียง สุราษฎร์ พุทธทาสภิกขุตัดสินใจไม่ถลำเรียนปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ

ภาพถ่าย พุทธทาสภิกขุ นั่งหันหลัง ที่ วัดธารน้ำไหล สวนโมกข์
พุทธทาสภิกขุ ที่วัดธารน้ำไหล (สวนโมกข์) สุราษฏร์ธานี (ภาพจาก www.buddhadasa.org)

พระธรรมโกศาจารย์ หรือรู้จักในนาม พุทธทาสภิกขุ (พ.ศ. 2449-2536) เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 20 ปี ที่วัดบ้านเกิด หลังสอบได้นักธรรมโทแล้ว ท่านเดินทางมาศึกษาธรรมะต่อที่กรุงเทพฯ จนสอบได้นักธรรมเอก และภาษาบาลีได้เปรียญ 3 ประโยค

พุทธทาสภิกขุกลับพุมเรียง

แต่เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2475 ท่านพุทธทาสตัดสินใจเดินทางกลับบ้านที่สุราษฎร์ธานี สาเหตุการกลับบ้านเกิดนั้น ในจดหมายถึงน้องชายของท่านนายธรรมทาส พานิช ระบุว่า

Advertisement

“…เราตกลงใจกันแน่นอนแล้วว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่เป็นที่ที่จะค้นพบความบริสุทธิ์ การถลำเข้าเรียนปริยัติธรรม ที่เจือด้วยยศศักดิ์ เป็นผลดีให้เรารู้สึกตัวว่าเป็นการก้าวผิดไปก้าวหนึ่ง และยากที่จะถอนออกได้เหมือนบางคน จากการรู้สึกว่าก้าวผิดนั่นเอง ทำให้พบเงื่อนงำว่าทำอย่างไรเราจะก้าวถูกด้วย…

เราเดินตามโลกตั้งแต่นาทีที่เกิดมา จนถึงนาทีที่มีความรู้สึกนี้ ต่อนี้ไปเราจะไม่เดินตามโลก และลาโลกไปค้นหาสิ่งที่บริสุทธิ์ ตามรอยพระอริยะที่ค้นแล้วจนพบ หากเราขึ้นเดินตามโลกและเป็นการเดินตามหลังโลก ตามหลังอย่างไม่มีเวลาทัน ถึงแม้ว่าเราได้เกิดอีกตั้งแสนชาติก็ดี

บัดนี้เราจะไม่เดินตามหลังโลกอีกต่อไป จะอาศัยโลก สักแต่กาย ส่วนใจเราจะทำให้เป็นอิสระจากโลกอย่างที่สุด เพื่อจะได้พบความบริสุทธิ์ ในขณะนั้นเรายังพบอีกว่าการเป็นห่วงญาติพี่น้อง เพื่อนและศิษย์ เป็นการทำลายความสำเร็จแห่งการค้นหาความสุข และความบริสุทธิ์ ซึ่งเราตั้งใจพยายามจะหามาให้แก่พ่อแม่พี่น้องที่เรากำลังเป็นห่วงอยู่นั่นเอง ขืนเป็นดังนี้เราคงตายเสียก่อนเป็นแน่

เราจะทำตามอย่างพระพุทธเจ้า ตามคำบอกเล่าของพระองค์เองว่า พระองค์ออกค้นหาความบริสุทธิ์ ทั้งขณะที่พ่อแม่พี่น้องมีน้ำตาเต็มหน้าเพราะไม่อยากให้จากไป (ในบาลีแท้ยังไม่พบการหนีออกบวช) การที่เราปลงตกเช่นนี้ เป็นการทำให้เราฟรีขึ้นอีกเปลาะหนึ่ง และหวังว่าพ่อแม่พี่น้องของเราคงปลงตกเช่นเดียวกัน แม้ว่าบางทีเราจะต้องจากจนไม่อาจพบกันเลยก็ได้…

ฉันก็มืดแปดด้าน ไม่รู้ว่าจะไปขออาศัยสถานที่ที่ไหนเพื่อการศึกษาของเราจึงจะเหมาะ นอกจากบ้านเราเอง และไม่มีที่ไหนนอกจากบ้านเรา คือที่พุมเรียง ก่อนที่อื่น จึงจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือรบกวนในบางอย่าง คือ ต้องมีผู้ช่วยให้ได้โอกาสได้เรียนมากที่สุด และใคร ๆ จงถือว่าฉันไม่ได้ออกมาพักอยู่ที่พุมเรียงเลย

การกินอยู่ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมสักเล็กน้อย คือถ้าไม่อาจทำอย่างอื่น ข้าวที่ใส่บาตรจะคลุกน้ำปลาเสียสักนิดก็จะดี ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าจะไม่รบกวนอย่างอื่นอีกเลย

ฉันเป็นผู้พิสูจน์ให้เพื่อนกันเห็นว่าพระอรหันต์แทบทั้งหมดมีชีวิต อยู่ด้วยข้าวสุกที่หุงด้วยปลายข้าวสารหัก และราดน้ำส้มหรือน้ำผักดองนิดหน่อยเท่านั้น เราลองกินข้าวสุกของข้าวสารที่เป็นตัวและน้ำปลาก็ยังดีกว่าน้ำส้มและเราลองกินอยู่เดี๋ยวนี้ รู้สึกว่าจะไม่มีการขัดข้องเลยที่จะกินต่อไป…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุราษฎร์ธานี, คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กรกฎาคม 2564