“ปาล์มน้ำมัน” อีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่ตระกูล “ณ ระนอง” นำเข้ามาจากต่างแดน

การทำ สวน ปาล์มน้ำมัน ในปี ค.ศ. 1844
การทำสวนปาล์มน้ำมันในปี ค.ศ. 1844

“ปาล์มน้ำมัน” อีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่ตระกูล “ณ ระนอง” นำเข้ามาจากต่างแดน

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการนำพืชพรรณจากต่างแดนเข้ามาปลูกในประเทศอย่างต่อเนื่อง พืชบางชนิด ถึงแม้จะอยู่ไกลกันคนละขั้วโลก แต่ก็ถูกนำมาเป็นทอด ๆ ในที่สุดก็เข้าสู่ประเทศไทย อย่างมะละกอ เดิมอยู่ทางอเมริกากลาง เรียกกันว่าปาปาย่า ถูกนำมาปลูกที่มะละกา เมื่อมาถึงประเทศไทย เรียกว่ามะละกอ

Advertisement

การนำพืชเข้ามาปลูกในยุคก่อน บ้านเมืองไม่เจริญ การคมนาคมไม่สะดวก นิยมขนเข้ามาในระยะใกล้ ๆ อย่างเช่นทุเรียน นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย แก้วมังกรที่ปลูกมากทางเวียดนาม ส่งผ่านมาทางลาว…

พืชพรรณต่างแดนที่นำเข้ามาปลูก มีอยู่ไม่น้อย ได้พัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจ จนประเทศที่เป็นเจ้าของเดิมงง ว่าเป็นไปได้อย่างไร เช่น มะละกอ มีการนำมาดัดแปลงเสริมแต่ง เป็นส้มตำมะละกอ รับประทานกันทั้งประเทศ ยางพารา ปลูกกันเป็นล่ำเป็นสันทั่วทุกภาค พืชน้ำมัน อย่างปาล์มน้ำมัน ก็มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ผล ของ ปาล์มน้ำมัน
ผลปาล์มน้ำมัน

ปาล์มน้ำมันนำเข้ามาปลูกที่เมืองไทยได้อย่างไร

ปาล์มน้ำมัน มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบแอฟริกาตะวันตก เมื่อปี พ.ศ. 2391 ชาวโปรตุเกสได้นำเข้ามาปลูกในทวีปเอเชีย โดยเริ่มปลูกที่สวนพฤกษศาสตร์เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย จากนั้นก็มีการปลูกทดลองในมาเลเซียและสิงคโปร์

ในประเทศไทยมีการนำเข้ามาปลูกเมื่อปี พ.ศ. 2472 โดยพระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) เป็นที่น่าสังเกตว่า ต้นตระกูล ณ ระนอง ได้นำพืชเศรษฐกิจอย่างยางพาราเข้ามาปลูกก่อนหน้านี้แล้ว ที่เป็นเช่นนี้เพราะต้นตระกูล ณ ระนอง รับราชการอยู่ทางภาคใต้ มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศทางเรือ เมื่อพบเห็นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ จึงนำเข้ามา

พระยาประดิพัทธภูบาล คอยู่เหล ณ ระนอง
พระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง)

พระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) เป็นบุตรของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองระนอง และสมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร

พระยาประดิพัทธภูบาล เกิดที่เกาะปีนัง จบการศึกษาเนติบัณฑิตอังกฤษ เริ่มรับราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นล่ามกิตติมศักดิ์ประจำสถานทูตลอนดอน รับราชการในกระทรวงต่างประเทศ ที่หลวงสุนทรโกษา ได้ติดตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 และพระบรมวงศานุวงศ์ ในราชการต่างประเทศเกือบทั่วโลก รู้ภาษาอังกฤษ มลายู และภาษาจีน

เมื่อครั้งพิพาทฝรั่งเศส พ.ศ. 2436 ทางราชการให้ท่านเป็นอัยการ ฟ้องคดีพระยอดเมืองขวาง

เมื่อครั้งตรังกานูยังเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรไทย ได้อยู่ในคณะข้าหลวงฝ่ายไทย

เมื่อครั้งกลันตันยังเป็นของไทย ได้เป็นผู้ไปฟังราชการ ณ เมืองสิงคโปร์

สมัยรัชกาลที่ 6 ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ประจำสิงคโปร์ ปีนัง สหพันธรัฐมลายา ได้เป็นพระยาประดิพัทธ ภูบาล สิ้นชีวิตสมัยรัชกาลที่ 9 อายุ 96 ปี

พระยาประดิพัทธภูบาล คอยู่เหล ณ ระนอง
พระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) เมื่อครั้งยังเป็น หลวงสุนทรโกษา

ปาล์มน้ำมันที่พระยาประดิพัทธภูบาลนำเข้ามา ถูกนำไปปลูกที่สถานีทดลองยางคอหงส์ จังหวัดสงขลา และที่สถานีกสิกรรมพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี ปัจจุบันคือศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี สังกัดกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การปลูกปาล์มน้ำมันในครั้งนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นไม้ประดับ

ถึงแม้การปลูกปาล์มน้ำมันครั้งแรก ต้องการเพียงเพื่อความสวยงาม แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ เพราะต่อมาได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ต้นปาล์มที่ปลูกไว้ ยังยืนเด่นเป็นสง่าให้ได้พูดถึง

เป็นเพราะต่างประเทศ อย่างมาเลเซีย มีการปลูกปาล์มเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างได้ผล ไทยเห็นว่า ทางภาคใต้มีภูมิอากาศคล้ายคลึงกับทางมาเลเซีย ประกอบกับต้นปาล์มน้ำมัน ที่นำเข้ามาก่อนหน้านี้ เจริญเติบโตดี จึงมีการส่งเสริมปลูกเป็นการค้าจริงจัง เมื่อปี พ.ศ. 2511 ที่นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสตูล พื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่

จากนั้นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันได้ขยายออกไปจังหวัดอื่น มีเกษตรกรรายใหญ่ปลูกกันบางราย 2,000-3,000 ไร่ บางจังหวัดขณะที่นั่งรถไป เผลอหลับตื่นขึ้นมา รถก็ยังวิ่งอยู่ในดงปาล์มน้ำมัน

ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันของคนทั่วไป เข้าใจว่า สิ่งที่มีอยู่ นำไปแปรรูปเป็นน้ำมันปรุงอาหาร อย่างการผัด การทอด ซึ่งก็มีส่วนถูก แต่อาจจะมีปลีกย่อยไปทำอย่างอื่นบ้าง

ปาล์มน้ำมันมาได้รับความสนใจสูงสุด เมื่อน้ำมันที่ใช้เติมรถยนต์ราคาแพง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล

เมื่อน้ำมันเติมรถยนต์ราคาแพง ผู้เกี่ยวข้องเพียรพยายามหาพลังงานทดแทนกันยกใหญ่ เป็นต้นว่า สบู่ดำ มะพร้าว ทานตะวัน ถั่วเหลือง และอื่น ๆ แต่ปรากฏว่า ที่แนะนำมา น้ำมันที่ได้จากต้นปาล์มมีต้นทุนต่ำที่สุด หมายถึงเมื่อปลูกไปแล้ว ปาล์มให้น้ำมันมากที่สุด อยู่ที่ 640-800 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนการผลิต 10 บาทเศษ ๆ ขณะที่พืชอื่น ต้นทุนไม่น้อยกว่า 20 บาท อย่างถั่วเหลือง

ดังนั้นจึงมีการหยิบยกปาล์มน้ำมันขึ้นมาพิจารณาให้เกษตรกรปลูก เพื่อเป็นพลังงานทดแทน โดยนำน้ำมันปาล์มไปผสมกับน้ำมันดีเซล เรียกกันว่าไบโอดีเซล…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เพราะความจำเป็นต้องใช้ปาล์มน้ำมัน… จึงต้องเคลื่อนย้ายกระจายแหล่ง” เขียนโดย พาณิชย์ ยศปัญญา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กรกฎาคม 2564