ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | พานิชย์ ยศปัญญา |
เผยแพร่ |
…ชาวพื้นเมืองในอเมริกากลางและอเมริกาใต้เรียกต้นไม้ที่ให้ยางว่าคาอุท์ชุค แปลว่าต้นไม้ร้องไห้ ถึงปี พ.ศ. 2313 โจเซฟ พริสลี่ พบว่ายางสามารถลบรอยดำของดินสอได้โดยที่กระดาษไม่เสีย จึงเรียกยางว่ายางลบหรือตัวลบ (Rubber) ใช้เรียกกันในอังกฤษและฮอลแลนด์ ส่วนประเทศอื่นๆ ในยุโรปเรียกยางว่าคาอุท์ชุค
เมื่อมีการปลูกยางมากขึ้นในอเมริกาใต้ จึงค้นพบพันธุ์ยางที่มีคุณภาพดีคือยางพันธุ์ฮีเวีย บราซิลเลียนซีส โดยมีคุณภาพดีกว่าพันธุ์ฮีเวียธรรมดามาก จึงมีการปลูกกันยกใหญ่ พร้อมกับมีการซื้อขายกันที่เมืองท่าชื่อพารา ริมฝั่งแม่น้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล ด้วยเหตุดังกล่าว ยางพันธุ์ฮีเวีย บราซิลเลียนซีส จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ยางพารา” และใช้แพร่หลายจนถึงปัจจุบัน
เนื่องจากยางพาราได้รับการพัฒนาและใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ยางพาราจึงกระจายไปในหลายพื้นที่ของโลก
เมื่อปี พ.ศ. 2442 พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) บิดาแห่งยางพาราไทย เป็นผู้นำยางพารามาปลูกที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นครั้งแรก
จากนั้นพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีได้ส่งคนไปเรียนวิธีปลูกยางพารา เพื่อมาสอนชาวบ้าน ผู้ที่ไปเรียนส่วนใหญ่เป็นเจ้าเมือง นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน
นอกจากกลับมาสอนการปลูกยางแล้ว พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดียังแจกจ่ายพันธุ์ยางพาราผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้านไปสู่ชาวบ้าน ชาวบ้านเรียกยางพาราที่ได้ว่า “ยางเทศา”
จากอำเภอกันตัง ยางพาราได้กระจายไปทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ในเวลาต่อมา
หลวงราชไมตรี ได้นำยางพารามาปลูกที่จังหวัดจันทบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2451 จากนั้นยางพาราได้แพร่ขยายไปยังจังหวัดตราดและระยอง ด้วยคุณูปการนี้เอง คนทั่วไปจึงถือว่าท่านเป็น “บิดาแห่งยางพาราภาคตะวันออก”
หลวงราชไมตรี ชื่อเดิมคือ ปูณ ปุณศรี เป็นบุตรคนที่ 2 ของหลวงประมาณราชทรัพย์ (จีนจำปา) จางวาง นายกองส่วนทองคำ โรงงานหวายพัศเดา กับ นางเปี่ยม ปุณศรี เกิดที่บ้านริมน้ำตลาดท่าเหนือ ริมถนนท่าหลวง อำเภอเมืองจันทบุรี เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2419 มีพี่น้องได้แก่ นางสาวคร้าม นายป้อง และนางสาวห่อ ปุณศรี
ในวัยเด็กท่านเริ่มศึกษาที่โรงเรียนวัด และไปศึกษาต่อที่ปีนัง เมื่อครั้งตามบิดาไปค้าขายยังประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ เมื่อเติบใหญ่ท่านได้ดำเนินกิจการค้าขายสืบต่อแนวทางของบิดา จนเจริญก้าวหน้า ฐานะร่ำรวย ชื่อเสียงโด่งดัง
แม้ท่านไม่ได้รับราชการ แต่เพราะขยันหมั่นเพียร ประกอบคุณงามความดี ทำให้ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น “หลวงราชไมตรี”
เนื่องจากมีโอกาสเดินทางไปจังหวัดภูเก็ตและภาคใต้ หลวงราชไมตรีมีความประสงค์ อยากนำยางพารามาปลูกบริเวณเชิงเขาสระบาป ตำบลพลิ้ว อำเภอเมืองจันทบุรี เพราะมีสภาพอากาศคล้ายทางภาคใต้ ท่านจึงสั่งพันธุ์ยางจากประเทศมลายูมาปลูกจำนวน 2 ลัง ในพื้นที่ 60 ไร่ แต่ปรากฏว่าต้นยางที่ปลูกตายเกือบหมด เหลือเพียง 3 ต้นเท่านั้น
เมื่อต้นยางอายุมากขึ้น จึงออกดอกและมีผล
หลวงราชไมตรีได้เก็บเมล็ดยางพาราปลูกเพิ่มเติมในพื้นที่ 3 แปลง รวมแล้วมีจำนวน 1,500 ไร่
สมัยเก่าก่อน การหักร้างถางพงทำได้ยากลำบากมาก หากต้องการปลูกยางพาราสัก 20-30 ไร่ ต้องใช้คนงานตัดฟันและเผาป่านาน หลวงราชไมตรีจึงใช้วิธียิงลูกยางพาราด้วยหนังสติ๊ก โดยกะให้ไปตกบริเวณที่ต้องการ สวนยางพารายุคนั้นจึงไม่เป็นแถวเป็นแนวแต่อย่างใด
นายมาก อุตมะ บริวารคนสนิทของหลวงราชไมตรี เล่าถึงการปลูกยางพาราในสมัยนั้นไว้ว่า ต้นยางสมัยแรก นายมากและหลวงราชไมตรีช่วยกันปลูก โดยคุณหลวงขี่ม้าตาบอดข้างหนึ่งคอยยิงลูกยางที่มีนายมากคอยส่งให้ ลูกยางตกตรงไหนก็ขึ้นตรงนั้น
ด้วยเหตุนี้เอง ชาวจันทบุรีพูดต่อๆ กันมาว่า “เศรษฐีขี่ม้าตาบอดปลูกยางพารา”
ยางพาราของหลวงราชไมตรียุคแรกๆ อาจจะเป็นป่ายางพารา แต่ต่อมามีการจัดการอย่างถูกวิธี จนกลายเป็นสวนยางพารา คนแถบถิ่นใกล้ๆ ได้ตามอย่างปลูกเป็นอาชีพ จากอำเภอเมืองฯ ขยายไปยังอำเภอขลุง จากจันทบุรี ขยายไปยังระยองและตราดในที่สุด เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างความมั่นคงให้เกษตรกรในท้องถิ่นอย่างดียิ่ง
หลวงราชไมตรีถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2499 รวมอายุ 80 ปี 4 เดือน
เมื่อปี พ.ศ. 2551 เนื่องในวาระครบ 100 ปีที่หลวงราชไมตรีนำยางพารามาที่ปลูกเมืองจันท์ ชาวสวนยางพาราจึงร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์หลวงราชไมตรีขึ้น ณ บริเวณทางขึ้นน้ำตกพลิ้ว ในพื้นที่ที่บุตรหลานของหลวงราชไมตรีมอบให้กับชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางจันทบุรี เพื่อเคารพสักการะ รำลึกถึงพระคุณและเชิดชูเกียรติให้เป็นที่ปรากฏตลอดไป
บ้านของหลวงราชไมตรีมีอยู่ 2 แห่ง คือ บ้านพักที่ริมแม่น้ำจันทบุรี และบ้านสวนอยู่เชิงเขาสระบาป
บ้านในเมืองมี 2 หลังด้วยกัน หลังแรกอยู่ริมแม่น้ำจันทบุรี ด้านหน้าติดถนน ปัจจุบันถูกปรับปรุงเป็นบ้านพักประวัติศาสตร์ บ้านในเมืองหลังที่ 2 อยู่ฝั่งตรงข้ามกับหลังแรก
ส่วนบ้านสวนมีพื้นที่กว้างขวางทั้ง 2 แห่ง ปัจจุบันยังคงมีกิจการยางพารา ดำเนินการโดยบุตรหลานของหลวงราชไมตรี
คุณประกอบ มังกร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดจันทบุรี ซึ่งพื้นเพเดิมเป็นคนอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เล่าว่า คนปลูกยางพาราสมัยก่อนเล่าต่อๆ กันมาว่า หลวงราชไมตรีเศรษฐีขี่ม้าตาบอดปลูกยางพารา
“ปู่ผมปลูกยางพาราค่อนข้างมากเมื่อก่อน ได้ตัวอย่างจากหลวงราชไมตรี เพราะอยู่ไม่ไกลกัน สมัยผมเป็นเด็ก เห็นคนรับจ้างกรีดยางขี่จักรยานราเลย์เป็นแถว ราคาจักรยาน 1, 000 บาทเศษ ขณะที่ราคาทองช่วงนั้นบาทละ 300-400 บาท ถือว่ามีรายได้ดี ช่วงนั้นยางพารากิโลกรัมละ 8-12 บาท เท่ากับเนื้อหมู 1 กิโลกรัม…ชาวบ้านมักพูดกันว่ายางโลหมูโล”
คุณประกอบในวัยเกษียณ อายุ 62 ปี เล่าและบอกต่ออีกว่า
“ยางพาราสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ทำรายได้ให้ดีจนมีฐานะมั่นคงกัน อย่างทุเรียนชะนี บางปีบางต้นเก็บผลผลิตได้ถึง 8,000 บาทต่อต้น ขณะที่ทองคำราคาบาทละ 400 บาท…ปัจจุบันหากผู้ปลูกยางพารากรีดเองก็ยังพออยู่ได้ พยายามลดต้นทุน ใส่ปุ๋ยน้อยหน่อย”
ผศ. เสวก พงษ์สำราญ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี คนพื้นเพเดิมจังหวัดจันทบุรี อายุใกล้ๆ กับคุณประกอบ บอกว่าสมัยก่อนงานปลูกผลไม้ในจังหวัดจันทบุรีอาจจะมีไม่มากนัก เพราะขนส่งทางเรือ ปัจจุบันการคมนาคมขนส่งสะดวก คนกินส่วนหนึ่งอยู่ต่างประเทศ การผลิตจึงขยายมาก
“ยางพาราที่เมืองจันท์ สมัยก่อนมีสองสวนใหญ่ๆ คือสวนของหลวงราชไมตรี และที่บ้านน้ำขุ่น อำเภอท่าใหม่ เมื่อก่อนการปลูกและซื้อขายไม่ง่ายเหมือนทุกวันนี้ ราคายางมีขึ้นมีลง ผมจำได้ช่วงที่ขึ้นมากๆ กิโลกรัมละ 25 บาท ตอนนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละ 1.50 บาท” ผศ. เสวกเล่า…
หมายเหตุ: เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจากบทความ “หลวงราชไมตรี เมืองจันทบูร บิดาแห่งยางพาราภาคตะวันออก” โดย พานิชย์ ยศปัญญา เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2559
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2564 (จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่)