ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | พานิชย์ ยศปัญญา |
เผยแพร่ |
…งานเกษตรมหัศจรรย์…เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ นักขยายพันธุ์ไม้อย่างน้อย 2 ราย ได้นำต้น คะน้าเม็กซิกัน มาจำหน่าย เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ สอบถามเจ้าของ ทำให้ทราบว่า คะน้าเม็กซิกัน มีอีกชื่อหนึ่งว่า ชายา ถามถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ตรงกับพืช ผัก ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดสระแก้ว คือต้นขะไยวอง
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงหมายตาไว้ เลิกงานต้องนำกลับมาปลูกพิสูจน์กันว่า เป็นจริงตามคำเล่าลือหรือไม่
งานเลิกได้ต้นคะน้าเม็กซิกันขนาดไม่ใหญ่นักมา 4 ต้น เพราะใหญ่ ๆ เขาเลือกไปหมดแล้ว จากนั้นนำมาวางตั้งไว้ใต้ร่มเงาปาล์มเจ้าหญิง จากปลายปี 2558 เข้าสู่ต้นปี 2559 จึงได้ฤกษ์ปลูก โดยใช้ระยะห่างกันเพียงแค่ศอกเดียว เนื่องจากเข้าสู่หน้าแล้งแล้ว จึงนำฟางช่วยคลุมรักษาความชื้น เพราะบางช่วงรดน้ำครั้งหนึ่งอยู่ได้นานเป็นสัปดาห์ กระนั้นก็ตาม คะน้าเม็กซิกันทรหดอดทนมาก นอกจากไม่เฉาแล้ว ยังแตกยอดใหม่ให้เห็น
ปี 2559 อากาศแล้งและร้อนมาก แต่คะน้าเม็กซิกันยังยืนหยัดอยู่ได้ แถมเริ่มมียอดให้เด็ด
“นี่ต้นพันธุ์มียอดเดียว เมื่อนำลงปลูกหากมียอดใหม่ขึ้นมาครั้งแรกอย่าเสียดาย เด็ดทิ้งไปก่อน จากนั้นจะแตกออกมาเก็บกินไม่ทันแน่ ไม่เชื่อลองดู” เซียนต้นไม้แนะนำไว้
ลองทำดูเป็นอย่างที่เซียนต้นไม้แนะนำไว้จริง ๆ เมื่อเด็ดยอด ตาข้าง ๆ ได้แตกออกมา 2-3 ตา กลายเป็น 4 ยอดเพราะรวมกับของเดิมอีก 1…เวลาผ่านไป เมื่อเด็ดยอดที่แตกใหม่ แต่ละยอดจะมีตาข้างแตกออกมาเพิ่ม คะน้าเม็กซิกันต้นหนึ่งมียอดมากกว่า 12 ยอดต่อ 1 ต้น จากที่ปลูกทั้งหมด 4 ต้น ทำให้สามารถเก็บยอดได้มากถึง 48 ยอด ภายในเวลา 8 เดือน อาจมีบวกลบนิดหน่อย
“ทำอะไรได้หลายอย่าง ผัดน้ำมันหอย แกงจืด แต่ต้องทำให้สุก” เซียนต้นไม้แนะนำไว้
เมนูแรกที่ทดลองทำกันคือยอดคะน้าเม็กซิกันผัดน้ำมันหอย แรกที่ทำ สมาชิกในบ้านอีก 2 คน ไม่ให้ความสนใจ มิหนำซ้ำยังพูดอีกว่า “จะกินได้หรือ” ขณะที่ผัดอย่างทุลักทุเลอยู่นั้น เริ่มมีกลิ่นหอม เมื่อตักใส่จาน สีสันพอดูได้ เมื่อทุกคนได้ชิมจึงหมดในเวลาไม่นาน เพราะเหตุนี้เอง ต้นคะน้าเม็กซิกันที่ปลูกไว้จึงได้รับความสนใจ ยามไม่อยู่บ้าน วานให้ใครรดน้ำให้ จึงไม่มีอิดออด
มีคนถามว่า คะน้าเม็กซิกัน ใกล้เคียงกับคะน้าที่ปลูกทั่ว ๆ ไปใช่ไหม
คะน้าเม็กซิกัน ไม่ได้เป็นญาติกับคะน้าที่ปรุงเป็นคะน้าหมูกรอบแต่อย่างใด
คะน้าเม็กซิกันมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cnidoscolus chayamansa ถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา และอเมริกากลางหลายประเทศ ญาติของพืชชนิดนี้คือยางพาราและสบู่ดำ ลำต้นอวบน้ำ เมื่อตัดต้นหรือกิ่งจะคายยางออกมา ทรงพุ่มมีขนาดใหญ่ ใบกว้าง มีแฉกตั้งแต่ 3 แฉกขึ้นไป
ในใบและยอดคะน้าเม็กซิกันมีโปรตีน วิตามิน แคลเซียม โพแทสเซียม และเหล็ก นอกจากนี้ยังมีสารต่อต้านอนุมลอิสระอีกด้วย
ในเม็กซิโกและอเมริกากลาง นิยมนำยอดพืชชนิดนี้มาปรุงอาหารหลายอย่าง โดยปรุงเดี่ยว ๆ หรือปรุงร่วมกับอาหารอย่างอื่น
ข้อควรระวังนั้น อย่ากินยอดและใบคะน้าเม็กซิกันสด ๆ เพราะเป็นพืชมียาง ในน้ำยางมีไซยานิก แอซิด คล้าย ๆ กับใบของมันสำปะหลังพันธุ์ที่ใช้เลี้ยงสัตว์
หากใช้ความร้อนกับยอดและใบคะน้าเม็กซิกันนาน 10-15 นาที ไซยานิก แอซิด ก็จะหมดไป
สำหรับชื่ออื่น ๆ ของคะน้าเม็กซิกันคือ ผักชายา หรือไชยา (น่าจะมาจาก chayamansa)
ที่เรียกว่า “คะน้า” นำหน้าพืชจากเม็กซิกัน คงมาจากการใช้ประโยชน์ อย่างการผัดน้ำมันหอยและการปรุงอื่น ๆ ตระกูลของคะน้าเม็กซิกันกับคะน้าผัดกับปลาเค็มห่างไกลกันมาก
คะน้าเม็กซิกันเป็นไม้ยืนต้น ปลูกครั้งเดียวอาจอยู่ได้ 10 ปี 20 ปี หรือมากกว่า หากไม่ถูกไฟไหม้หรือถูกตัดทิ้ง เคยมีผู้พบเห็นต้นสูงถึง 6 เมตร แต่หากปลูกเพื่อเก็บยอดมาปรุงอาหาร ไม่ควรปล่อยให้สูงเกินเอว เพราะจะสะดวกในการเก็บ
ช่วงกลางฤดูฝน มีภารกิจหลายอย่าง จึงไม่ได้สนใจพืชพรรณจากต่างแดนนัก แล้วเสาร์และอาทิตย์ช่วงหนึ่ง จึงมีโอกาสไปดูคะน้าเม็กซิกันที่ปลูกไว้ เมื่อเห็นตกใจ เพราะต้นเขาสูงถึง 175 เซนติเมตร
จึงวางแผนงานไว้ 2 ส่วน
เริ่มจากเด็ดยอดอวบ ๆ โดยให้มีใบติด 2-3 ใบ อย่าเด็ดลึกมากกว่านั้น เพราะจะแข็ง กินไม่อร่อย
ส่วนต้นที่เหลือ ได้ตัดเป็นท่อน ๆ ยาวท่อนละคืบเศษ ๆ
นำขี้เถ้าแกลบใส่ในกระถาง แล้วจึงปักกิ่งคะน้าเม็กซิกันลงไป วัสดุชำอีกสูตรหนึ่งใช้ขุยมะพร้าว ปรากฏว่าขุยมะพร้าวได้ผลดีกว่า
หลังปักชำรดน้ำตาม กิ่งปักชำมียอดใหม่ให้เห็น จึงสามารถนำไปเผยแพร่ได้ ผู้ที่ได้รับไปถามว่าปลูกอย่างไร แนะนำไปว่า ปลูกในกระถางได้ หากกระถางขนาดใหญ่ จำนวนยอดจะมีมาก วัสดุปลูกมีดิน ปุ๋ยคอก หากมีใบก้ามปูผสมยิ่งดี
ส่วนผู้ที่ปลูกลงดิน ไม่มีอะไรยุ่งยาก เมื่อปลูกแล้ว นำปุ๋ยคอกกองไว้ตรงโคนต้น ทำให้งามไวขึ้น
ยอดคะน้าเม็กซิกันที่เก็บไว้ หากจะผัดน้ำมันหอยก็ทำมาหลายครั้งแล้ว จึงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเก็บไว้ต้มกินกับน้ำพริกกะปิช่วงเย็น
ส่วนที่ 2 หั่นให้เป็นชิ้นไม่ใหญ่นัก แล้วลวกด้วยน้ำร้อน สามารถลวกนานได้โดยที่ ผัก ไม่เละ
นำซองบะหมี่มาแกะ แยกเครื่องปรุงไว้ จากนั้นลวกเส้นโดยใช้เวลาไม่นาน
ล้างกระทะไฟฟ้าให้สะอาด ใส่น้ำมันพืช กระเทียม ตามด้วยเนื้อหมูที่หั่นไว้
เมื่อเนื้อหมูสุก ใส่เส้นบะหมี่ ตามด้วยยอดและใบคะน้าเม็กซิกันที่ลวกไว้ เติมเครื่องปรุงบะหมี่ รวมทั้งน้ำปลา น้ำมันหอย น้ำตาล เลือกรสตามใจชอบ
อาหารที่ได้มีส่วนผสมหลายประเทศ ทั้งเอเชียและอเมริกากลาง
คะน้าเม็กซิกัน เป็นพืชผักที่น่าปลูกไว้เป็นผักสามัญประจำบ้าน เพราะสามารถดัดแปลงทำอาหารได้หลายอย่าง เมื่อปลูกแล้วอยู่ได้นาน สิ่งสำคัญคือ อย่ากินยอดและใบสด ควรปรุงสุกเท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- “คะน้า” ผักในตำนาน พระโพธิสัตว์กวนอิม เหตุใด จึงมีชื่อเรียกว่า คะน้า ?
- สืบปมข้อกล่าวหา… ใครนำ “ผักตบชวา” เข้ามาสู่ เมืองไทย?
- “ฝักเพกา” ผักอันมีรสเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง จิ้มน้ำพริกแล้วช่างเลิศ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “คะน้าเม็กซิกัน ปลูกเป็นพืชผักสามัญประจำบ้านได้” โดย พานิชย์ ยศปัญญา เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2559
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤษภาคม 2564