สืบปมข้อกล่าวหา…ใครนำ “ผักตบชวา” เข้ามาสู่เมืองไทย?

ผักตบชวา
ผักตบชวา (ขอบคุณภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์)

สืบปมข้อกล่าวหา…ใครนำ “ผักตบชวา” เข้ามาสู่เมืองไทย?

“ผักตบชวา” พรรณไม้น้ำงามแปลกตา มีดอกสีม่วงอ่อน ใบหนาทรงมนๆ ที่ไม่ได้ประจำถิ่นเมืองไทย หากเป็นของนำเข้ามาจากชวา ถ้าขึ้นเพียงกอเล็กกอน้อยก็เจริญตาเจริญใจดีอยู่ เมื่อ 100 กว่าปีก่อนคงไม่มีใครคาดคิดว่าพืชชนิดนี้จะแผ่ทั่วแหล่งน้ำในเมืองไทย จนก่อปัญหาสารพัดที่คงไม่จำเป็นต้องอธิบายให้มากความ

ก่อนที่ใครจะเห็นข้อเสียของพืชชนิดนี้ คงไม่มีใครคิดตำหนิ “คนนำเข้า” เมื่อแรกนำมา แต่พอวันเวลาผ่านไปชั่วไม่นาน คนไทยเริ่มเห็นโทษจนเกิดเป็นความรังเกียจผักตบชวา ในฐานะ “สวะ” ก็พลันเริ่มพาลตำหนิไปถึงคนนำเข้ามาว่าเป็นคนผิดคนไม่ดี ตามประสา “ช่างติ” อันเป็นพื้นอัธยาศัยของคนย่านนี้

Advertisement

กล่าวกันว่าผักตบชวานั้นเข้ามาในประเทศไทยภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสชวา ก็เกิดปัญหาต่อไปว่าแล้วเสด็จประพาสชวาคราวใด เพราะสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสชวาถึง 3 ครั้ง กล่าวคือ ใน พ.ศ. 2413, 2439 และ 2444 ข้อนี้เป็นปัญหาชวนสืบค้นประการแรก

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ประการที่ 2 เกิดคำถามว่า ใครกันที่นำผักตบชวาเข้ามา หลายท่านคงเคยมีโอกาสเข้าสู่วงสนทนาเชิงนินทาบุคคลในประวัติศาสตร์ มักได้ยินหรือบอกต่อๆ กันมาว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หรือสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ที่คนไทยมักออกพระนามเรียกขานกันโดยทั่วไปว่า “สมเด็จพระพันปีหลวง” คือพระองค์ผู้โปรดพืชชนิดนี้ และทรงนำเข้ามาแพร่พันธุ์ในเมืองไทยโดยไม่ทรงทราบเท่าถึงการณ์ ข้อนี้หลายคนมักไม่เห็นเป็นปัญหา เพราะมักจะ “ปักใจเชื่อ” โดยไม่ไต่สวนอยู่แล้ว

เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักพงศาวดารกระซิบ ว่าส่วนใหญ่อะไรๆ ในประวัติศาสตร์ฝ่ายในยุครัชกาลที่ 5 พอมีเรื่องจะออกทำนองบุ้ยบ้ายกระซิบกระซาบนินทาพาติ ก็มักโยนถวายเป็นเรื่องการกระทำของสมเด็จพระพันปีหลวงทุกทีไป ถึงขั้นคนชั้นหลังเมื่อเร็วๆ นี้เอาไปเขียนไปพูดเสียดสีต่อกันอย่างสนุกคะนอง

ทั้งที่ความจริงอาจไม่ใช่เช่นนั้น!

ผู้เขียนได้รับสำเนาหนังสือเก่ามาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า ตำนานไม้ต่างประเทศบางชะนิดในเมืองไทย ซึ่งพระยาวินิจวนันดร (โต โกเมศ) เป็นผู้เขียน เจ้าคุณวินิจวนันดรได้เกริ่นนำไว้ว่า

“ชั้นแรกๆ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะเขียนอะไรดีจึงจะเหมาะแก่โอกาสนี้ ครั้นภายหลังมานึกขึ้นได้ว่า ในระหว่างที่เจ้าคุณพจนปรีชายังมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าได้เคยเขียนบันทึกเกี่ยวกับตำนานไม้ต่างประเทศในเมืองไทยลงในจดหมายเหตุของ Siam Society [1] มาบ้างแล้ว ข้าพเจ้าได้รับความรู้จากเจ้าคุณพจนปรีชามากที่สุด”

พระยาวินิจวนันดร (โต โกเมศ)
พระยาวินิจวนันดร (โต โกเมศ)

หนังสือนี้จึงตีพิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาเสวกโท พระยาพจนปรีชา (หม่อมราชวงศ์สำเริง อิศรศักดิ์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2483 พิมพ์ที่โรงพิมพ์ยิ้มศรี แม้เป็นหนังสือเล่มบางแต่ได้เนื้อหาสาระชวนอ่าน ไม่ใช่ตำราพรรณไม้อย่างวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเรื่องบอกเล่าตำนานของพรรณไม้ต่างประเทศที่ถูกนำเข้ามาเมืองไทยในวาระโอกาสและบุคคลต่างๆ กัน เช่น กล้วยไม้บางพันธุ์ โกสน หน้าวัว มันสำปะหลัง ยางพารา ลั่นทมแดง เป็นต้น

ผู้เขียนพลิกอ่านเรื่อยไปก็ไปสะดุดตากับคำอธิบายพืชชนิดหนึ่งที่เจ้าคุณวินิจวนันดรอธิบาย นั่นคือ “ผักตบชวา” พืชเจ้าปัญหาของเมืองไทย

พระยาวินิจวนันดรอธิบายไว้ดังต่อไปนี้

“ผักตบชะวา (Eichornia crassipes ไอคอร์เนีย แคร็สสิปีส)

ผักตบชะวามีบ้านเดิมอยู่ในประเทศบราซิล (อเมริกาใต้) เป็นไม้ที่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วทั้งโดยทางหน่อและโดยทางเมล็ด ในเวลานี้มีอยู่ทั่วไปในภาคร้อนแห่งทวีปอาเซีย

ผักตบชะวาเข้ามาเมืองไทยที่กรุงเทพฯ ครั้งแรกใน พ.ศ. 2444 คือ คราวรัชชกาลที่ 5 เสด็จประพาศชะวา พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ทรงนำเอาต้นเข้ามา เนื่องด้วยทรงโปรดมาก เพราะดอกดูสวยงามคล้ายดอกกล้วยไม้”

พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

พออ่านถึงตรงนี้ก็ต้องหลากใจ เพราะการณ์กลับจากที่เคยกล่าวว่าสมเด็จพันปีหลวงทรงนำมาเพราะโปรด กลายเป็นว่าพระมเหสีเทวีผู้ทรงนำเข้ามาเป็นอีกพระองค์หนึ่ง กล่าวคือ พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา หรือพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ที่ชาววังยุครัชกาลที่ 5 ออกพระนามว่า “พระอัครชายาพระองค์เล็ก” หรือ “ท่านองค์เล็ก” นั่นเอง

เจ้าคุณวินิจวนันดรยังเล่าต่อไปถึงการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วไปตามหัวเมือง เรื่อยจากกรุงเทพฯ สู่พระนครศรีอยุธยา จนถึงเชียงใหม่ ว่า

“ภายหลังเข้ามาได้ราว 5-6 ปี ผักตบชะวาก็ไปปรากฏขึ้นที่กรุงเก่าเป็นครั้งแรก ภายหลังรัชชกาลที่ 5 เสด็จประพาศกรุงเก่าในปีเดียวกันนั้นเอง ด้วยเหตุนี้ชาวกรุงเก่าเรียกผักตบชะวาครั้งนั้นว่า ‘ผักตามเสด็จ’

ผักตบชะวาขึ้นไปเชียงใหม่ราว พ.ศ. 2451 โดยพญาจัน (บุญยืน) แห่งนครเชียงใหม่ เป็นผู้นำพันธุ์ขึ้นไปทางเรือ ในเวลานั้นผักตบชะวาที่กรุงเทพฯ ยังไม่แพร่หลาย นัยว่าต้องไปขอจากในวัง

ที่เรียกกันว่าผักตบชะวานั้น ก็เพราะผักนี้ได้มาจากชะวา ชาวเชียงใหม่เรียกผักตบชะวาว่า ‘บัวลอย’ ”

พยานหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรที่บอกความจริงถึงผู้นำผักตบชวาเข้ามา ก็กระจ่างอยู่ชั้นหนึ่งแล้ว พอดีประจวบเหมาะที่ผู้เขียนโชคดี ได้รับความรู้จากการสนทนากับ คุณอร่าม สวัสดิวิชัย มหาดเล็กในหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าเป็นเกร็ดยืนยันอีกชั้นหนึ่งอีก ว่า

“เมื่อตอนหม่อมเฉื่อยประสูติหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ที่วังเก่าเชิงสะพานดำรงสถิตย์ พอดีคุณจอมมารดาจีน [2] มาเล่นไพ่กับเจ้าจอมมารดาชุ่ม [3] พระสนมเอกในรัชกาลที่ 4 วันนั้นจะทำขวัญ 3 วัน หรือ 7 วันจำไม่ได้ คุณจอมมารดาจีนท่านรับเป็นแม่ ท่านหญิงพูนก็เลยเรียกพระอัครชายาฯ ว่าเจ้าพี่องค์เล็ก

ท่านรับท่านหญิงพูนไปเลี้ยง แต่โปรดให้อยู่ในพระอุปถัมภ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทอง [4]

พระอัครชายาฯ ได้ตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ประพาสชวา ท่านหญิงพูนทรงเล่าประทานว่า เจ้าพี่องค์เล็กท่านเห็นว่าดอกผักตบสวยดี เลยเอาต้นผักตบต้นเล็กๆ ใส่ในขันสรงพระพักตร์ทองคำ มีน้ำเลี้ยงกันตาย โดยทรงไว้ในห้องสรงในเรือพระที่นั่ง”

เป็นอันว่าได้พยานจากคำบอกเล่ามาสำทับความน่าเชื่ออีกชั้นหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าท่านพระองค์ใดหรือผู้ใดจะนำผักตบชวาเข้าเมืองไทยมา ผู้เขียนกลับมาความเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่จะไปขุดคุ้ยหาความตามตำหนิเอากับบุคคลนั้นๆ ในวันและเวลาเช่นนั้น ท่านผู้นำเข้ามาย่อมไม่มีเจตนาร้ายในการกระทำ ณ กาละเทศะนั้นๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นข้อพึงระวังสังวรว่าการนำสิ่งใดที่ว่าดีโดยอัตวิสัย มาสู่สถานที่ใดๆ หรือบุคคลใดๆ ทว่ามีเหตุปัจจัยโดยภาววิสัยไม่สอดคล้องกับความดีโดยอัตวิสัยนั้นๆ แล้ว ผลตรงกันข้ามอาจบังเกิดขึ้นได้ชนิดที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์

ที่น่าคิดยิ่งกว่านั้นก็คือ คนที่ถูกเราตำหนิติฉินอยู่ทุกวันนี้ แท้จริงสมควรแก่การถูกตำหนิหรือไม่ คนที่เราคิดว่าร้ายกาจ จริงแท้เขาอาจดีแสนดีก็ได้ คนที่โลกทั้งโลกชี้ว่าชั่ว เขาอาจเป็นผู้ถูกกล่าวหาให้ร้ายย้อมภาพกันไปโดยไม่เป็นธรรมหรือเปล่า ใครที่เราเฮโลสาระพาว่ากันว่าเขาดี เขาดีจริงเพียงใด ใครที่เราก่นด่าว่าโง่เขลาหรือเลวทราม อาจฉลาดหรือดีกว่าเราเป็นไหนๆ ก่อนจะนินทาหรือนำคำว่าร้ายของใครสักคน ส่งต่อสู่ใครอีกคน เขียนหรือจิ้มชมหรือด่าใครสักคน หรือที่คนยุคสังคมออนไลน์ใช้วิธี “forward” ต่อ หรือ “แชร์” ต่ออย่างมักง่ายและรวดเร็ว “ราวผักตบชวา” นั้น ควรตั้งสติและไต่สวนข้อเท็จจริงให้รอบคอบก่อนหรือไม่

ใครจะไปรู้? และถึงรู้ก็น่าจะต้องถามต่อด้วยว่ารู้ด้วยอคติหรือทิฐิจำพวกใด? หรือว่าทุกอย่างจะพาเราไปสู่การคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน?

ก็ไม่รู้สินะ “ผักตบชวา” อาจสอนใจท่านได้

ผักตบชวา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ :

[1] สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์

[2] เจ้าจอมมารดาจีนในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี (เดิมเป็นหม่อมจีน ต่อมาได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นเจ้าจอมมารดา ด้วยได้เป็นขรัวยายในสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ 5)

[3] พระชนนีในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[4] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มกราคม 2560