“ผักตบชวา” วัชพืชนำเข้าที่สร้างปัญหาตั้งแต่ 100 ปีก่อน

ผักตบชวา

ในบรรดาวัชพืชประเภทต่างๆ “ผักตบชวา” ดูจะมีชีวิตที่ผกผันมากที่สุด ด้วยเป็นวัชพืชที่ตามเสด็จ “พระพุทธเจ้าหลวง” และคณะจากการประพาสชวา กลับมาเป็นไม้กระถางอยู่ในราชสำนักเมืองไทย ก่อนจะกลายเป็นวัชพืชไม่มีค่าในแม่น้ำลำคลอง จนสร้างปัญหาการคมนาคมทางน้ำ หลังจากนั้นในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมามีการนำผักตบชวามาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผักตบชวาจะเป็นอะไรต่อไปยังไม่รู้ได้

แรกมี “ผักตบชวา” ในไทย

ความบอบบางของดอกผักตบชวา เหี่ยวเฉาได้ง่าย ในช่วงแรกที่นำเข้ามาปลูกในเมืองไทย จึงได้รับการดูแลอย่างดี เทพชู ทับทอง และ ธงชัย ลิขิตพรสวรรรค์ ต่างเขียนเรื่องนี้ไว้สอดคล้องกันว่า ใน พ.ศ. 2439 ซึ่งเป็นการเสด็จประพาสชวาครั้งที่ 2 ของ รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทอดพระเนตรและสนพระทัยใน “ช่อผักตบชวา” สีม่วง ที่ประดับผมเหล่าสตรีชวา จึงมีพระราชเสาวนีย์ขอนำกลับมาเมืองไทย

ผักตบชวา (ทั้งรากและโคน) จำนวน 3 เข่ง, พร้อมน้ำในบ่อเดิมอีก 10 ปี๊บ (สำหรับเป็นน้ำเชื้อ) ที่มากับเรือพระที่นั่งจักรีโดยมีเรือโทโดด หม่องมณี เป็นผู้ดูแลตลอดการเดินทางโดยต้นไม่ตาย จึงได้รับพระราชทานรางวัลเป็นเหรียญ ส.ผ. (พระนามย่อ เสาวภาผ่องศรี) ทองคำ 1 เหรียญ, พร้อมสร้อยทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น, เงิน 3 ชั่ง ฯลฯ

เมื่อมาเมืองไทยก็นำไปปลูกที่พระราชวังพญาไท ใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือน ผักตบชวาก็แน่นกระถางลายคราม มีการเปลี่ยนของใช้น้ำในเมืองไทยเติม แทนน้ำที่นำมาจากชวา ก็ไม่ผิดน้ำและงามดี บรรดาเจ้านาย และขุนนาง เห็นดอกสวยก็ขอพระราชทาน ก็พระราชทานให้องค์ละ 1-2 หน่อเท่านั้น จึงย้ายลงบ่อน้ำพระราชวังพญาไท

เมื่อปลูกได้ 6 เดือน ผักตบชวาขึ้นเต็มแน่นบ่อ เจ้านายตามวังต่างๆ ก็ไม่มีองค์ใดมาทูลขอพระราชทาน จึงโปรดให้นำเอาต้นผักตบชวาปล่อยลงคลอง เผื่อใครต้องการจะให้นําเอาไปปลูกเป็นการแพร่พันธุ์กันต่อๆ ไป

ครั้งแรกโปรดให้ปล่อยลงคลองสามเสน (หลังพระราชวังพญาไท), ครั้งที่สองโปรดให้ปล่อยลงคลองเปรมประชากร, ครั้งที่สามโปรดให้ปล่อยลงคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่นั้นมา ผักตบชวาก็ได้เกิดขึ้นแพร่หลายเต็มแม่น้ำ ลําคลองทั่วเมืองไทยมาจนบัดนี้

อย่างไรก็ดี มีข้อเขียนของ ผศ. ดร. ชัชพล ไชยพร เสนอว่า ผักตบชวาเข้ามาเมืองไทยที่กรุงเทพฯ ครั้งแรกใน พ.ศ. 2444 เมื่อคราว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาศชวา พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ทรงนำเอาต้นเข้ามา เนื่องด้วยทรงโปรดมาก เพราะดอกดูสวยงามคล้ายดอกกล้วยไม้ ขอเขียนติดไว้ให้ท่านผู้อ่านที่ต้องการค้นคว้าเพิ่ม

เรื่องของผักตบชวายังไม่จบ เพราะผักตบชวาที่แพร่พันธุ์ไม่ได้เพิ่งสร้างปัญหาในยุคปัจจุบัน แต่มีปัญหาตั้งแต่ในยุคสมัยที่นำเข้าเลยทีเดียว

ปัญหาผักตบชวา

พ.ศ. 2450 เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้เปลี่ยนการเสด็จกลับจากประพาสเมืองฉะเชิงเทราโดยทางเรือ ทรงบันทึกถึงปัญหาของผักตบชวาไว้ใน “เสด็จประพาสคลองแสนแสบ” ซึ่งขอยกตอนหนึ่งทรงบันทึกว่า

“วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ร.ศ.126 [พ.ศ. 2450] ออกเรือ 3 โมงเศษ บ้านเรือนตอนในนี้เข้า มาแปลกกว่าข้างนอก รู้สึกว่าบางกอกมากขึ้น มีเจ๊กและไทยมากขึ้น ผักตบชะวาแลเห็นกำลังออกดอกในทุ่งดาษไป มันก็งาม เขาว่าพึ่งมี ไม่ใช่เต็มคลองอย่างข้างแถบนครไชยศรี แต่เจ้าชายงาม [หม่อมเจ้าชายสง่างาม สุประดิษฐ์] ออกจะชอบๆ เห็นว่าเลี้ยงหมูได้ แต่ข้างฝ่ายนครไชยศรีนั้นกริ้วเหลือเกินว่าหมูก็ไม่กิน หรือที่สุดจนว่ากินเมา นั่นก็เป็นการเหลือเกินไป เป็ดห่านกินเห็นแก่ตา จำต้องมีให้กิน คนก็กินได้ ข้อที่มันเกิดเร็วทำให้คลองตันนั้นไม่ดีจริง แต่เห็นจะใส่ความมันบ้าง…”

นอกจากนี้เมื่อเสด็จประพาสเมืองฉะเชิงเทรา พ.ศ. 2451 ในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 6) ทรงพระราชนิพนธ์เล่าเรื่องของ ผักตบชวา ว่า

“วันที่ 21 เช้า ลงเรือล่องลงไปดูคลองท่าถั่ว ซึ่งตั้งชื่อว่า คลองประเวศน์บุรีรมย์ ทางตั้งแต่บ้านเทศาลงไปประมาณชั่วโมงหนึ่ง ที่คลองนี้น้ำไม่สู้แรงเหมือนคลองบางขนาก…ที่สี่แยกเรือเดินเข้าออกไม่ได้เตรียมจะไปเตือน เจ้าพระยายมราชเรื่องผักชวานี้ร้ายกาจมาก ตามลําน้ำบางประกงหน้าจ๋อยๆ เพราะถูกน้ำกร่อย แต่ก็ไม่ไหลลงไปทะเลได้หมด เพราะน้ำไหลขึ้นก็กลับลอยขึ้น

ข้อที่ว่ากระบือกินได้นั้นเป็นความจริงแต่กลับมีอันตรายมาก เหตุด้วยกระบือกินแต่ใบ ต้นรากแห้งติดอยู่กับดิน ครั้นถึงเวลาไถหว่านข้าวในนา พอน้ำมาผักชวาเจริญเร็วก่อนต้นข้าวในนา เบียดเสียดแทรกต้นข้าวลีบไปหมด โทษถึงจะต้องประหารให้หายขาด แต่ต้องเป็นการพร้อมกันทั้งหัวเมืองและในกรุง เวลานี้การที่จะคิดทำลายผักชวาในกรุงยังไม่ได้จับคิดอ่านให้เป็นการทำทั่วไป”

ต่อมาในต้นรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2456 ทางการได้ออกพระราชบัญญัติกำจัดผักตบชวาขึ้นฉบับหนึ่ง มีข้อความบางมาตราที่สำคัญๆ ดังนี้

“มาตรา 3 เมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ในที่ใด ถ้าในที่นั้นผักตบชวาเกิดขึ้นหรือมีอยู่ในที่ของผู้ใด ให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้อยู่ในที่นั้นจะต้องทำลายผักตบชวา ตามความในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 4 ถ้าผักตบชวามีอยู่ในที่ใดมากมายเกินกำลังผู้อยู่ในที่นั้นจะกำจัดได้ ให้เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่เรียกระดมแรงราษฎรช่วยกันกำจัด ให้ถือว่าการกำจัดผักตบชวาเป็นสาธารณะประโยชน์อย่างหนึ่ง

มาตรา 5 วิธีกำจัดผักตบชวานั้น ให้เก็บเอาผักตบชวาขึ้นไว้บนบกพึ่งให้แห้งเผาไฟเสีย

มาตรา 6 ผู้ใดไม่กระทำตามหน้าที่และคำสั่ง ในการที่ได้กล่าวมาในมาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้นั้นมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษปรับครั้งหนึ่งเป็นเงินไม่เกิน 10 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 7 วัน หรือทั้งปรับแลจำด้วยทั้ง 2 สถาน

มาตรา 7 ผู้ใดพาผักตบชวาเข้าไปในเขตท้องที่ ซึ่งใช้พระราชบัญญัตินี้ก็ดี ปลูกหรือเลี้ยงหรือปล่อยให้ผักตบชวางอกงามไม่มีห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ก็ดี หรือเอาผักตบชวาทิ้งลงไปแม่น้ำลำคลองห้วยหนองใดๆ ก็ดี ผู้นั้นมีความผิดฐานลหุโทษ ปรับครั้งหนึ่งเป็นเงินไม่เกินกว่า 100 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งปรับแลจำด้วยทั้ง 2 สถาน”

ส่วนกรมรถไฟหลวง (การรถไฟแห่งประเทศไทย) ก็มีการประกาศห้ามไม่ให้บรรทุกผักตบชวาไปในรถไฟ มีใจความว่า

“ห้ามไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดนำเอาผักตบชวาขึ้นรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นทางหนึ่งทางใดเป็นอันขาด ถ้าผู้ใดฝ่าฝืน ผู้นั้นมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องถูกปรับเป็นเงินไม่เกิน 10 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 7 วัน หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานรถไฟ ในการทำลายผักตบชวาที่พบบนรถไฟด้วย”

อนึ่ง เมื่อคราวที่มี “การแสดงกสิกรรมแลพาณิชการ ครั้งที่ 1 ณ กรุงเทพฯ” ที่ปทุมวัน เมื่อ ศก 129 (พ.ศ. 2453) ในปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้มีการนำเอาต้นผักตบชวามาแสดงให้ประชาชนชมร่วมกับผักหญ้าต่างๆ ด้วย ซึ่งก็เป็นครั้งแรกที่ผักตบชวาได้มีเกียรติเข้าร่วมแสดงให้ประชาชนชมอย่างเป็นทางการ แต่การแสดงครั้งนั้นอยู่ในฐานะผักหญ้าที่ไม่มีประโยชน์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์. “ผักตบชวา: ผักในตำนาน” , เอนก นาวิกมูล 60 ปี, พิมพ์ดี 2556

ผศ. ดร. ชัชพล ไชยพร. “สืบปมข้อกล่าวหา…ใครนำ ‘ผักตบชวา’ เข้ามาสู่เมืองไทย?”, ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2548

เทพชู ทับทอง. “ผักประวัติศาสตร์”, กรุงเทพฯแห่งความหลัง, ห้างหุ้นส่วนจำกัดอักษรบัณฑิต

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. เรื่องเสด็จประพาสคลองแสนแสบ, พิมพ์ในงานทำบุญหน้าพระศพ  พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ ครบ 50 วัน, โรงพิมพ์พระจันทร์ 2476


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กรกฎาคม 2562