เกิดอะไรขึ้นในญี่ปุ่น หลังจากมีการนำเข้า “ผักตบชวา” มาปลูก ?!?

ภาพประกอบเนื้อหา

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ผักตบขวา เป็นพืชที่นำเข้าจากชวาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 (ครองราชย์ พ.ศ. 2411-2453) ด้วยความงามของดอกผักตบชวา ที่แสนจะสวยงาม บอบบาง ชวนทะนุถนอม เป็นอย่างยิ่ง

เมื่องามเสียปานนี้ ทำไมไม่มีชาติอื่นๆ นำผักตบชวาไปปลูกเหมือนกับประเทศไทยบ้างเลยหรือ

คำถามเรื่องนี้คลี่คลายได้จากการอ่านหนังสือ “ญี่ปุ่นที่ยังไม่รู้จัก” ที่ปิยดา ชลวร เขียนและเป็นบรรณาธิการ จึงตอบได้ว่า “มี”

เพราะในหนังสือดังกล่าวที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นทั้งในแง่เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม และวิถีชีวิตคนญี่ปุ่น ฯลฯ ที่บางเรื่องเราก็พอจะรู้อยู่บ้างเล็กน้อย หรือบางเรื่องก็ไม่เคยรู้มาก่อนเลย มีเรื่อง “ผักตบชวาในญี่ปุ่น” ที่เขียนโดยนงลักษณ์ ลิ้มศิริ อยู่ด้วย

มาดูกันว่าญี่ปุ่นทำไมนำเข้าผักตบชวา? นำเข้าเมื่อไหร่? แล้วผักตบชวาสร้างปัญหาให้กับแม่น้ำลำคลองเหมือนเมืองไทยหรือเปล่า?

ก่อนอื่นมาแนะนำตัวกันก่อน ผักตบชวา ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โฮะเท อะโออิ” ซึ่งเป็นรวมกันของคำว่า อะโออิ-ดอกไม้ชนิดหนึ่ง, โฮะเท-เป็นชื่อของเทพแห่งความโชคดีองค์หนึ่ง 1 จากทั้งหมด 7 องค์ของญี่ปุ่น ทีมีรูปร่างอ้วนเหมือนกับผักตบชวาที่พองอ้วนกลม

ผักตบชวาเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นในสมัยเมจิ (พ.ศ. 2411-2455) ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับประเทศไทย ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ “ดอกที่สวยงาม” แต่การแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วทำให้พืชที่มีดอกแสนสวยนี้สร้างปัญหาต่อสภาพแวดล้อม จนได้สมญาว่า “ปีศาจสีฟ้า”

แต่ญี่ปุ่นสามารถจัดการให้ปีศาจดอกไม้แสนสวยอยู่ในระเบียบได้ และมีการปลูกผักตบชวาในทุ่งกว้างเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มี “ฤดูชมดอกผักตบชวา” ในช่วงฤดูร้อน (ปลายเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนกันยายน) ที่ทุ่งผักตบชวา วัดโมโตะยะคุฉิ เมืองคาชิฮารา จังหวัดนารา, ที่สวนสาธารณะธรรมชาติมิสะขิ เมืองโมริยามา จังหวัดชิงะ ที่สวยงามไม่แพ้ดอกไม้อื่น

 


ข้อมูลจาก :

นงลักษณ์ ลิ้มศิริ. “ผักตบชวาในญี่ปุ่น” ใน ญี่ปุ่นที่ยังไม่รู้จัก พ.ศ. 2563


เผยแพร่ข้อมูลครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 25 กุมาภาพันธ์ 2563