Plant Factory นวัตกรรมการปลูกพืชแบบใหม่ ที่สะอาดและทันสมัย

Plant Factory

ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มนุษย์เราสามารถจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น โดยหนึ่งในนั้นก็คือ Plant Factory หรือ โรงงานผลิตพืช ที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการปลูกพืช เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุดเพื่อการบริโภค ซึ่งไม่เพียงแค่ช่วยให้ได้ผลผลิตที่ง่ายและประหยัดเวลาเท่านั้น แต่ยังสะอาดและปลอดภัยไร้สารพิษเจือปนอีกด้วย

Plant Factory คืออะไร สามารถทำได้กี่รูปแบบ?

Plant Factory คืออะไร? เชื่อว่าหลายคนที่ไม่คุ้นชื่อคงกำลังตั้งคำถามนี้อยู่เป็นแน่ Plant Factory นั้นเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่าโรงงานผลิตพืช ซึ่งเป็นความหมายที่ตรงตัวที่สุดเพราะสิ่งนี้คือโรงงานที่สามารถผลิตพืชโดยผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้สามารถเปลี่ยนจากการปลูกพืชแบบดั้งเดิมที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ มาเป็นการปลูกในระบบปิดที่เจ้าของโรงงานสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ด้วยตัวเอง

Plant Factory มีประโยชน์อะไรอีกบ้าง? นอกจากประโยชน์ที่ช่วยให้ง่ายต่อการเพาะปลูกและควบคุมสิ่งแวดล้อมได้แล้ว โรงงานผลิตพืช ยังช่วยให้ได้ผลผลิตที่สะอาด ปลอดภัย ไร้การเจือปนของยาฆ่าแมลง และได้ผลผลิตในปริมาณมากซึ่งช่วยยกระดับมาตรฐานให้กับสินค้าทางการเกษตรที่ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ในเรื่องคุณภาพมากยิ่งขึ้น

Plant Factory มีกี่ประเภท? โรงงานผลิตพืชที่มีอยู่ในปัจจุบันจะมีอยู่ 2 รูปแบบ แบ่งเป็นรูปแบบของการเพาะปลูก คือ

Plant Factory with Artificial Light

โรงงานปลูกพืชด้วยระบบแสงเทียม (Plant Factory With Artificial Lighting) หรือ PAFL เป็นรูปแบบที่นิยมและพบเห็นได้มากที่สุด โดยรูปแบบนี้เป็นการปลูกพืชที่ใช้แสงประดิษฐ์อย่าง หลอดไฟ LED แทนแสงแดดจากธรรมชาติในการควบคุมความเข้มและอ่อนของแสงให้เหมาะสมกับชนิดของพืช ทำให้พืชที่ปลูกสามารถเติบโตและให้ผลผลิตได้อย่างเหมาะสม

Plant Factory Hybrid System

โรงงานปลูกพืชด้วยระบบผสม (Plant Factory Hybrid System) สำหรับ Plant Factory ในรูปแบบนี้จะเป็นการปลูกแบบผสมที่ไม่ใช่ระบบปิด 100% ทำให้ภายในโรงงานมีการใช้ทั้งแสงประดิษฐ์จากหลอด LED ควบคู่ไปกับการใช้แสงจากดวงอาทิตย์เพื่อลดต้นทุน ซึ่งระบบผสมนอกจากจะได้รับแสงแดดแล้วยังทำให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนของอากาศเข้า-ออกได้อีกด้วย

พืช Plant Factory ปลูกอะไรได้บ้าง

โรงงานผลิตพืช

ใครที่กำลังสนใจ และอยากลงทุนการปลูกพืชแบบ Plant Factory คงจะเริ่มมองเห็นโอกาสทำกำไรกันบ้างแล้ว แต่ก็ต้องบอกว่าโรงงานผลิตพืชยังมีข้อจำกัดในการเลือกพืชที่จะเพาะปลูก ไม่ควรมีความสูงเกินกว่า 30 เซนติเมตร เพื่อให้เหลือพื้นที่ในการไหลเวียนของอากาศระหว่างรางปลูกพืชแต่ละชั้น นอกจากนี้ยังควรเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในสถานที่ที่มีความเข้มของแสงน้อย และที่สำคัญคือต้องเป็นพืชที่เติบโตได้ในที่แออัดด้วย

โดยส่วนใหญ่แล้วพืชที่ถูกปลูกใน Plant Factory จะเป็นพืชที่รับประทานได้ทุกส่วนหรือมีมูลค่าตั้งแต่รากขึ้นไป เช่น ผักสลัด หรือพืชกลุ่มสมุนไพร ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นตอนนี้ Plant Factory ที่มีขนาดเล็กหลายแห่งถูกพัฒนาให้เป็นสถานที่ผลิตเมล็ดพืชอย่าง เมล็ดแตงกวา และเมล็ดมะเขือเทศ ได้อีกด้วย

จุดเด่น Plant Factory พร้อมข้อดี ข้อเสีย ที่ต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจ

โรงงานผลิตพืชนั้นไม่ได้ถูกคิดค้นมาเพียงเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจเป็นเจ้าของธุรกิจในการเพาะปลูกเท่านั้น แต่ยังมีจุดเด่นที่น่าสนใจอย่างการเป็นโรงงานที่ปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี ได้ทุกฤดูกาล และสามารถเลือกปลูกได้หลากหลายชนิดโดยเฉพาะพืชสมุนไพรทางเศรษฐกิจที่ทำเงินได้ดี แต่ Plant Factory เองก็มีข้อดีและข้อเสีย ที่ต้องพิจารณาให้ดีก่อนลงทุนทำแผนธุรกิจสำหรับ Plant Factory ด้วยเหมือนกัน ดังนี้

Plant Factory ข้อดี

  • ปลูกพืชที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้ง่าย และทำได้ตลอดทั้งปีในทุกฤดูกาล
  • ให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกแบบธรรมดาได้มากขึ้น 10 เท่า และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วสามารถปลูกพืชใหม่ได้ทันที
  • ไม่มีศัตรูพืชรบกวนจึงไม่ต้องใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช หรือยาฆ่าแมลง เพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภค
  • ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียที่แฝงมากับน้ำและดิน
  • ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มาก และทำได้ทุกพื้นที่ สามารถดัดแปลงโรงงานเก่าให้กลายเป็นโรงงานปลูกพืชได้ทันที
  • ลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง รวมทั้งทรัพยากรที่จำเป็นอื่น ๆ ด้วย

Plant Factory ข้อเสีย

  • การลงทุนต้องใช้เงินทุนค่อนข้างสูง รวมทั้งค่าดำเนินการในแต่ละรอบของการปลูกและเก็บเกี่ยวก็สูงด้วย ผู้ลงทุนจึงต้องมีเงินหมุนในระดับหนึ่ง
  • ควรมีตลาดรองรับผลผลิตก่อน เนื่องจากผลผลิตที่ได้แต่ละครั้งมีจำนวนมากหากไม่สามารถขายได้หมดอาจขาดทุนได้
  • หากเป็นโรงงานระบบผสมจะควบคุมสภาพแวดล้อมได้ยากกว่าระบบปิด เนื่องจากต้องคอยเปิดรับอากาศและแสงแดดจากภายนอกเข้ามาในบางช่วงเวลาด้วย
  • จำนวนพืชทางเลือกที่ต้องการเพาะปลูกยังมีไม่มาก และส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพร
  • แม้ว่าจะเลือกตั้งโรงงานได้ทุกที่ในประเทศ แต่สภาพที่ดินและสถานที่ถ้าต้องปรับปรุงพื้นที่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนนี้
  • ต้องวางแผนการปลูกและเก็บเกี่ยวให้ดี ทั้งช่วงเวลาเก็บผลผลิตและการส่งมอบผลผลิตให้ลูกค้า หากเกิดการจัดส่งที่ล่าช้าหรือผลผลิตไม่ได้ตามกำหนดก็อาจเสียลูกค้าได้

สรุปเกี่ยวกับ Plant Factory คุ้มหรือไม่สำหรับการลงทุน

เรียกได้ว่า Plant Factory นั้นเป็นนวัตกรรมที่มาพร้อมความทันสมัย ที่ถูกคิดค้นและออกแบบมาเพื่อทำลายข้อจำกัดของการเพาะปลูกพืชแบบดั้งเดิมโดยสิ้นเชิง เพราะจากเดิมที่การปลูกพืชต้องคอยเลือกให้เหมาะกับฤดูกาล ต้องดูแสงแดดและฝนอยู่ตลอด เปลี่ยนเป็นควบคุมแสงและความชื้นได้ด้วยตัวเอง แถมได้ผลผลิตที่สะอาดในปริมาณมาก เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ชื่นชอบเรื่องการเกษตรและมีตลาดรองรับไม่น้อยเลยทีเดียว

สำหรับใครที่สนใจอยากลงทุนในธุรกิจ Plant Factory หรือต้องการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่จำเป็น สามารถสอบถามได้ที่

เว็บไซต์ : www.civicagrotech.com
LINE Official : @Civic Agrotech
Facebook : Civic Agrotech