ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา และ ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เพราะการได้ประติมากรรมทรงคุณค่าอย่าง โกลเด้นบอย (Golden Boy) คืนมายังประเทศไทย ไม่ใช่แค่การมีโบราณวัตถุเพิ่มขึ้นมาหนึ่งชิ้น และสร้างความปิติยินดีให้กับสังคมไทยเท่านั้น ทว่ามีผลต่อการศึกษาและต่อยอดองค์ความรู้ให้แก่วงการประวัติศาสตร์และโบราณคดีในปัจจุบัน อันจะสืบเนื่องไปยังอนาคต (ความคืบหน้าล่าสุด คือ Golden Boy จะจะได้รับกลับคืนถึงประเทศไทย วันที่ 20 พฤษภาคม 2567)
เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ที่หอประชุม อาคารข่าวสด “ศิลปวัฒนธรรม” ในเครือมติชน จัดใหญ่! สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ตามหา ‘Golden Boy’ เทพแห่งที่ราบสูง?” มีวิทยากรได้แก่ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ และ ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ โดยมี เอกภัทร์ เชิดธรรมธร เป็นผู้ดำเนินรายการ
สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ตามหา ‘Golden Boy’ เทพแห่งที่ราบสูง?” จัดเต็มข้อมูลเด็ดเกี่ยวกับประติมากรรม โกลเด้นบอย มากมาย หลายประเด็นไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อน โดยนักวิชาการชั้นนำระดับประเทศ ผู้รู้ลึก รู้จริง ทั้งมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการติดตามทวงคืนโบราณวัตถุ สมบัติชาติหลายชิ้นในต่างแดน วิทยากรทั้งสองยังแชร์ความรู้ มุมมองต่าง ๆ มากมาย เรียกว่า “ไม่มีกั๊ก” ไล่เรียงตั้งแต่ต้นตอการกำเนิด โกลเด้นบอย ความเกี่ยวข้องกับ “ราชวงศ์มหิธรปุระ” ของเขมรโบราณ จนถึงประสบการณ์โชกโชนด้านการทวงคืนมรดกไทย และการพิสูจน์ว่าประติมากรรม โกลเด้นบอย พบในประเทศไทยจริง ๆ
เยือนบ้านยางโป่งสะเดา พิสูจน์ที่ตั้ง “โกลเด้นบอย”
ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี เริ่มด้วยการแนะนำว่า โกลเด้นบอย (Golden Boy) คือ ประติมากรรมสำริด กะไหล่ทอง แห่งกรุประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ไทยได้คืนจากสหรัฐอเมริกา ภายใต้การครอบครองของ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ เมโทรโปลิทัน (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) ก่อนหน้านั้น ป้ายอธิบาย โกลเด้นบอย ระบุว่าเป็น “พระศิวะยืน” จากนครวัด เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ก่อนจะพิสูจน์ทราบกันภายหลังว่า แท้จริงพบที่ประเทศไทย และถูกจำหน่ายไปตั้งแต่ พ.ศ. 2531
ดร. ทนงศักดิ์ กล่าวว่า “ในพิพิธภัณฑ์ MET เขาเขียนว่า ‘อังกอร์ (นครวัด) เสียมเรียบ’ ให้รายละเอียดครบถ้วน จึงไม่เคยต้องสงสัยเลยว่าเป็นของไทยมาก่อน กระทั่งเราพบว่ามีเอกสารของ ดักลาส แลตช์ฟอร์ด ระบุว่า ‘มีประติมากรรมสำคัญพบในประเทศไทย เป็นแบบบาปวน กะไหล่ทอง อยู่ที่ Metropolitan’ อ้างอิงของเอกสารนี้บอกว่า เจอที่บ้านยาง อ. ละหาน และยังมีส่วนฐานหินปรากฏให้เห็นอยู่ ไม่ได้อยู่ในกัมพูชา แปลว่าต้องเป็นของประเทศไทยแน่ ๆ”
ก่อนจะไล่เรียงให้ทราบว่า เราพิสูจน์ได้อย่างไรว่า นี่คือโบราณวัตถุของไทยจริง ๆ
การติดตามหาฐานประติมากรรม โกลเด้นบอย นั้น ดร. ทนงศักดิ์ ค้นคว้าจากหลักฐานมากมาย โดยเฉพาะหนังสืออ้างอิงบันทึกการค้า-ขาย ประติมากรรมชิ้นนี้ มีหลักฐานสำคัญ คือ เอกสารของ ดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas A.J. Latchford) นายหน้าค้าโบราณวัตถุ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำประติมากรรมชิ้นนี้ส่งออกนอกประเทศ ทำให้ติดตามจนได้ไปพบปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา อ. ละหานทราย จ. บุรีรัมย์
ดร. ทนงศักดิ์ เผยว่า แม้ ดักลาส แลตช์ฟอร์ด จะมีส่วนทำให้มรดกไทยถูกส่งออกไปต่างประเทศจำนวนมาก แต่คุณูปการสำคัญของแลตช์ฟอร์ดคือบันทึกการซื้อ-ขายของเขา กลายเป็นหลักฐานสำคัญในการติดตามที่มาของ โกลเด้นบอย เพราะมีระบุชัด ทั้งที่ตั้ง แหล่งที่พบ ราคาซื้อ ราคาขาย คือมีข้อมูลเกือบทั้งหมดที่เป็นประโยชน์ต่อการติดตาม และเป็นหลักฐานฟ้องร้องดำเนินคดี เพื่อการส่งคืนโบราณวัตถุชิ้นนี้
ที่บ้านยางโป่งสะเดา ดร. ทนงศักดิ์ ได้พบร่องรอยฐานของซากปราสาท รวมถึงร่องรอยฐานหินที่เชื่อว่าเคยเป็นฐานของประติมากรรมมาก่อน มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 25 เซนติเมตร ดร. ทนงศักดิ์ ได้พูดคุยสอบถาม ครอบครัวคุณเสถียร ชาวบ้านยางโป่งสะเดา ซึ่งคุณเสถียรให้ข้อมูลว่า คุณพ่อของเขาคือคนที่เคยติดต่อกับแลตช์ฟอร์ด และเป็นผู้อนุญาตให้แลตช์ฟอร์ดเช่าบ้านทำเป็นสำนักงานซื้อ-ขายประติมากรรมกรุประโคนชัย
ดร. ทนงศักดิ์ ชี้ว่า เหตุการณ์ที่ทำให้ข้อมูลจากคุณเสถียรมีความน่าเชื่อถือคือ เมื่อเปิดภาพ โกลเด้นบอย ให้เขาดู คุณเสถียรเอ่ยขึ้นทันทีว่า ประติมากรรมนี้มีความสูงราว ๆ 110 ซม. ซึ่งใกล้เคียงกับข้อมูลในหนังสือของแลตช์ฟอร์ดมาก นั่นคือ 105 ซม.
ด้านชาวบ้านที่แสดงตัวว่าเป็นลูกสาวของคนขายโกลเด้นบอย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า จำประติมากรรมนี้ได้ดี เพราะเป็นคนล้างทำความสะอาดเอง และยังเผลอทำประติมากรรมชำรุดก่อนจะซ่อมแซมแล้วส่งขาย รวมถึงชาวบ้านคนอื่น ๆ ก็ช่วยยืนยันข้อมูลที่ตรงกัน เพราะเป็นเรื่องใหญ่ประจำหมู่บ้าน คือพบแล้วขายเลยในคืนเดียว ในสนนราคา 1 ล้านบาท ก่อนจะมีการจัดมหรสพเฉลิมฉลองกันในหมู่บ้านอย่างยิ่งใหญ่ เหล่านี้คือสิ่งยืนยันว่า โกลเด้นบอย พบในไทย ที่บ้านยางโป่งสะเดานี่แหละ!
สำหรับทฤษฎีที่ว่า โกลเด้นบอยไม่น่าและไม่ควรเป็น “พระศิวะ” ตามป้ายกำกับของ The MET ดร. ทนงศักดิ์ ชี้แจงว่า ตัวโกลเด้นบอย ไม่มีสัญลักษณ์ใด ๆ บ่งบอกว่าเป็นพระศิวะเลย และไม่น่าใช่เทพทวารบาลด้วย น่าจะเป็น พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 มากกว่า
การศึกษาตัวตนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 แห่งวงศ์มหิธรปุระ มีจารึกจำนวนหนึ่งที่เอ่ยถึงพระองค์ เช่น จารึก K384 ที่กล่าวถึงบรรพบุรุษของพระองค์ว่า อยู่ที่ กษิตินทราคราม (บ้างสะกด กษิตินทราคาม) ซึ่งนักวิชาการค้นหากันมานานแล้วว่าอยู่ที่ไหน หากโกลเด้นบอย คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 จึงเป็นไปได้ว่า ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา คือกษิตินทราคราม
รวมถึงจารึกที่พนมซ็อนดอก ที่เล่าถึงเมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์ โดยมีราชครูศรีทิวากรบัณฑิตเป็นผู้ประกอบพิธีราชาภิเษก ช่วยยืนยันว่า พระองค์มีตัวตนอยู่จริง และมีพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 ครองราชย์ต่อจากพระองค์ จากนั้นจึงเป็นพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทพนมรุ้งกับปราสาทนครวัด ทั้งหมดล้วนเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์มหิธรปุระ วงศ์วานของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6
ดร. ทนงศักดิ์ ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ความโดดเด่นของโกลเด้นบอยและปราสาทพิมาย ล้วนเป็นตัวแทนของศิลปะเฉพาะตัว ที่ไม่ใช่ทั้งศิลปะแบบบาปวนและศิลปะแบบนครวัด คือเป็น “ศิลปะแบบพิมาย” จากหลักฐานทางศิลปกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะผังปราสาท ที่ศาสตราจารย์ฌ็อง บัวเซอลีเยร์ เคยให้ข้อสังเกตไว้ว่าเป็นต้นแบบก่อนการสร้าง “ปราสาทนครวัด” ด้วย
“โกลเด้นบอย” ผีบรรพชนแห่งกษิตินทราคราม
ก่อนที่ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และโบราณคดี จะเริ่มพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับ โกลเด้นบอย ว่าเป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 จริงหรือ ในเรื่องนี้เขายืนยันว่า “จริงแท้แน่นอน”
ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้เกริ่นถึงเรื่องราวต้นกำเนิดของ โกลเด้นบอย ก่อนว่า ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นพระเชษฐบิดรของราชวงศ์มหิธรปุระ หรือแปลง่าย ๆ คือ ผีบรรพชน สิ่งที่สามารถบอกได้ว่า ประติมากรรมล้ำค่าชิ้นนี้เป็น “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” มีเหตุผลหลัก ๆ 3 ประการ ได้แก่
ประการแรกคือ “รูปแบบที่ตั้ง” จะเห็นว่าสถานที่ค้นพบ โกลเด้นบอย คือ ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา อ. ละหานทราย จ. บุรีรัมย์ มีการสันนิษฐานว่า พื้นที่แถบนี้เป็นศูนย์กลางอำนาจของราชวงศ์มหิธรปุระ ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ก็เป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ ทั้งอาณาบริเวณดังกล่าว ยังปรากฏประติมากรรมมากมาย ที่อยู่ในกลุ่มประติมากรรมสำริดแบบ “ประโคนชัย” โดยได้รับอิทธิพลแบบพุทธมหายาน เช่น ปราสาทเขาปลายบัดที่ 2 ซึ่งห่างกันเพียงแค่ 5 กิโลเมตร โดยเจอประติมากรรมรูปแบบเดียวกันกว่า 100 ชิ้น
หากเชื่อมโยงกับเหตุผลที่ 2 คือ “รูปแบบศาสนา” พื้นที่ตรงนั้นได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธมหายานอย่างมาก มีมาก่อนโกลเด้นบอยและราชวงศ์มหิธรปุระด้วยซ้ำ โดยศิริพจน์ได้ยกหลักฐานบันทึกของภิกษุ ที่อินเดีย โดยอดีตเป็นเจ้าชายมาออกบวช ในบันทึกเขาเรียกตัวเองว่า ปุณโยทยะ ซึ่งบันทึกดังกล่าวอยู่ในช่วงเดียวกับพระถังซัมจั๋ง ในช่วงนั้นพระพุทธศาสนากำลังแพร่หลายและมีหลากนิกายมาก
ภิกษุรูปนี้ก็ได้นำนิกายที่ตนเองนับถือ นั่นคือ นิกายโยคาจาร ไปแพร่หลายที่จีน เนื่องจากตอนนั้นจีนก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่พระพุทธศาสนาได้รับความนิยม โดยเฉพาะนิกายมหายาน แต่ขณะที่จะไปถึงจุดหมายเขาได้หยุดพักที่ “เจนละบก” หรือปัจจุบันคืออีสานใต้ และถ่ายทอดนิกายของตนเอง ก่อนที่จะเดินทางไปยังจีนต่อ
ทว่าการเผยแพร่ศาสนาพุทธ นิกายดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จในจีน เขาจึงเดินทางกลับมายังเจนละบกอีกครั้ง และพบว่าพระพุทธศาสนานิกายโยคาจารได้รับความนิยมอย่างมาก
ตรงนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้เพิ่มเติมไว้ว่า คนที่รับพุทธศาสนาดังกล่าว ไม่ใช่ชาวบ้านทั่วไป เพราะชาวบ้านยังคงหาเลี้ยงชีพตามปกติ แต่คนที่รับและเรียนรู้แนวคิดดังกล่าว น่าจะเป็นกลุ่มนักเรียนสงฆ์ในวิทยาลัย
เพราะในศรีเทพ ซึ่งเป็นหนึ่งเส้นทางที่เกี่ยวข้องและมีเครือข่ายกับแถวอีสานใต้ก็ปรากฏ “เขาคลังใน” ที่นักวิชาการคาดว่า อาจเป็นวิทยาลัยสงฆ์ เหมือนกับที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดีย แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนา แบบมหายาน เจริญรุ่งเรืองในพื้นที่แถบนั้นมาก
นี่จึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานด้านศาสนา ที่สามารถเชื่อมโยงได้ว่า “โกลเด้นบอย” คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เพราะพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางอำนาจของราชวงศ์มหิธรปุระนั้นเต็มไปด้วยความเลื่อมใสเกี่ยวกับพุทธศาสนา แบบมหายาน ซึ่งเชื่อมโยงกับประติมากรรมแบบประโคนชัย ที่แสดงให้เห็นถึงนิกายดังกล่าว ทั้งยังมีหลักฐานที่อาจบอกได้ว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 นับถือนิกายดังกล่าว จากจารึกหลักหนึ่ง ซึ่งศิริพจน์กล่าวไว้ว่า
“…มันมีจารึก ที่ตัวของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 นับถือศาสนาพุทธแบบมหายาน…”
อย่างสุดท้ายที่สามารถบอกได้ว่า ประติมากรรมอันงดงามนี้ เป็นรูปแทนกษัตริย์แห่งลุ่มแม่น้ำมูล คือ เทคโนโลยีและรูปแบบการผลิต เพราะเมื่อเทียบกับประติมากรรมชิ้นอื่น ๆ ในกลุ่มประโคนชัย ที่พบในแถบใกล้ ๆ กัน จะเห็นว่ามีการหล่อด้วยเทคนิคแบบเดียวกัน ซึ่งเป็นแบบพิเศษเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ก่อนที่ศิริพจน์จะพูดถึง ความสำคัญของ “โกลเด้นบอย” โดยเขาเชื่อว่าประติมากรรมชิ้นนี้เชื่อมโยงกับความเชื่อ “พระเชษฐบิดร” หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “ผีบรรพชน” ซึ่งมีความสำคัญมาก ๆ และแสดงให้เห็นถึงนัยยะสำคัญบางอย่าง โดยเฉพาะเมื่อเราได้ทราบว่าเดิมถูกตั้งไว้ที่ “ปราสาทบ้านยาง” ดังที่กล่าวไว้ว่า
“ในโลกโบราณของ Southeast Asia เราไม่ทำรูปเหมือนบุคคล…นึกถึงสมัยปลาย ร.3 กล้องถ่ายรูปเข้ามาในสยามใช่ไหมครับ คนไม่กล้าถ่ายรูป เพราะว่าถ่ายออกมามันเหมือนเกินไป วิญญาณมันโดนดูด เพราะฉะนั้นจึงไม่ทำรูปเหมือนกันในโลกโบราณ
การทำรูปเหมือนจึงเพื่อให้วิญญาณหรือว่าพลังงานในตัวของคนไปสถิตในนั้น ก็คือพลังของกษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์ ก็จะไปสถิตตรงนี้ กลายมาเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า ‘พระเชษฐบิดร’ คือผีบรรพชน แล้วตามคติโบราณ…พระเชษฐบิดรรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่ได้เป็นปัจเจก
เพราะฉะนั้น การเจอรูปบุคคลที่น่าจะเป็นกษัตริย์ อยู่ที่ปราสาทตรงนี้ มันเลยน่าสนใจ”
ซึ่งความเชื่อนี้ก็ได้เชื่อมโยงไปถึงเหตุที่หลายคนสงสัยกันว่าทำไม “โกลเด้นบอย” ถึงได้มาประดิษฐานที่ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา โดยศิริพจน์ก็ให้เหตุผลว่า เหตุที่ทำให้ประติมากรรมชิ้นนี้อยู่ที่ปราสาทแห่งนี้ เนื่องจากเขาสันนิษฐานว่า ปราสาทบ้านยางเป็นกษิตินทราคราม กล่าวคือเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6
เมื่อต้องการให้พื้นที่นี้มีความสำคัญ จึงต้องนำรูปสนองพระองค์ของบรรพชนมาตั้งไว้ตรงนี้ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ก็ปรากฏอยู่ในหลายที่ เช่น ที่วัดพุทไธศวรรย์ จ. พระนครศรีอยุธยา ปราสาทพระเทพบิดร กรุงเทพฯ เป็นต้น
และสรุปประเด็นนี้ไว้สั้น ๆ แต่น่าสนใจว่า “เพราะฉะนั้นการที่เขาทำรูปโกลเด้นบอย ไปตั้งอยู่ที่บ้านยาง เพราะว่ามันเป็นกษิตินทราคราม คือถิ่นฐานดั้งเดิมของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6…การประดิษฐานรูปไหนไว้ตรงไหนมันมีนัยยะของตัวมันเอง นี่จึงเป็นสิ่งที่อยากเสนอว่าโกลเด้นบอยสำคัญมาก…แปลว่านี่คือรูปเชษฐบิดรของราชวงศ์ที่ไปสร้าง 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก อย่าง นครวัด นี่คือต้นวงศ์ของคนที่ไปสร้างตัวของเมืองนครธม ก็คือ เมืองนครหลวงที่เจ้าสามพระยาไปตี ซึ่งมันคือปราสาท 2 หลังที่ใหญ่ที่สุดของวัฒนธรรมเขมรโบราณ”
สังคมไทย ได้อะไรจาก “โกลเด้นบอย”
หลังจากพูดคุยกันมาอย่างจุใจ ก็ถึงเวลาที่จะต้องเข้าคำถามสุดท้าย โดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ได้ถามไว้ว่า หลังจากที่ประเทศไทยได้ประติมากรรมชิ้นนี้กลับมา เราได้อะไรจากประติมากรรมชิ้นนี้ และควรจะจัดการอย่างไรเพื่อแสดงออกถึงคุณค่าในการกลับมาครั้งนี้บ้าง
ดร. ทนงศักดิ์ ให้ความเห็นเรื่องคุณค่าของโกลเด้นบอย ว่า
“หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ (ไทย-กัมพูชา) ที่แบ่งพรมแดนแล้ว ได้ค่อนข้างดีมาก เป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่าวัฒนธรรมเขมรในอดีตมีพัฒนาการทางสังคมยังไง มันเกิดขึ้นในที่ราบสูงโคราช ก่อนแผ่ลงไปทางที่ลุ่มโตนเลสาบ เราเรียนวัฒนธรรมเขมรมักจะถูกสอนว่าวัฒนธรรมเขมรแผ่จากข้างล่างขึ้นมาข้างบนเสมอ เราไม่เคยนึกเลยว่าครั้งหนึ่งความยิ่งใหญ่ของตัววัฒนธรรมจะเกิดขึ้นบนที่ราบสูงแล้วแผ่ลงข้างล่าง ซึ่งหลักฐานนี้ (โกลเด้นบอย และปราสาทพิมาย) เป็นตัวยืนยันที่ดีมาก”
ส่วนศิริพจน์ให้ความเห็นเรื่องการสานต่อประติมากรรมชิ้นนี้ ว่า
“อย่างแรกคือ เวลาที่เราได้โบราณวัตถุ ไม่ใช่การจัดแสดงอย่างเดียว สิ่งที่มันสำคัญกว่าคือการผลิตชุดความรู้ แล้วก็เผยแพร่ออกไป การผลิตชุดความรู้ในที่นี้สามารถทำได้หลายอย่าง ไม่ใช่แค่จัดเสวนา ทุกวันนี้โลกอินเทอร์เน็ตไปถึงไหนแล้ว ทำอะไรที่คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ๆ แล้วก็เผยแพร่ไป อาจจะพ่วงเรื่องเศรษฐกิจเข้ามา ในเมื่อมันมาจากบ้านยาง…มันทำอะไรจากตรงนี้ได้…เราควรที่จะผลิตคอนเทนต์มา และหาวิธีในการจัดการคอนเทนต์นั้น ทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ชุมชนรอบ ๆ”
ชมย้อนหลัง สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ตามหา ‘Golden Boy’ เทพแห่งที่ราบสูง?” เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 แบบเต็มอิ่มกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง ณ หอประชุม อาคารข่าวสด ได้ที่นี่ :
อ่านเพิ่มเติม :
- ปริศนา “ประติมากรรมสตรี” พนมมือไหว้ใคร เกี่ยวข้องกับ “Golden Boy” หรือไม่!?
- ของหายต้องได้คืน! ประเทศไทยเคยได้โบราณวัตถุชิ้นไหนคืนอีกบ้าง นอกจาก “Golden Boy”?
- “Golden Boy” รูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ประติมากรรมสำริด ศิลปะเขมรแบบพิมาย ที่ไทย (เพิ่ง) ได้คืนจากสหรัฐ!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มกราคม 2567