ปริศนา “ประติมากรรมสตรี” พนมมือไหว้ใคร เกี่ยวข้องกับ “Golden Boy” หรือไม่!?

ประติมากรรมสตรี

วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เป็นวันที่ประเทศไทยได้ต้อนรับ Golden Boy และ ประติมากรรมสตรี คืนกลับมาจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน หรือ The MET สหรัฐอเมริกา

ในขณะที่ Golden Boy ได้รับความสนใจและถูกพูดถึงในเชิงการศึกษาค้นคว้ามากมาย (ส่วนหนึ่งเพราะความงดงามของตัวประติมากรรม) “ประติมากรรมสตรี” กลับเป็นที่รู้จักและมีข้อมูลน้อยมาก

Advertisement

ถึงอย่างนั้น ประติมากรรมสตรีก็ถือว่าเป็นมรดกไทยชิ้นสำคัญที่มีความงดงาม โดดเด่น และน่าสนใจอยู่ไม่น้อย โดยเป็นรูปสตรีนั่งพนมมือเหนือศีรษะ ประมาณอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือ 900-1,000 ปีมาแล้ว

“ศิลปวัฒนธรรม” ได้สอบถามไปยัง ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี และคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย เกี่ยวกับประติมากรรมสตรี ชิ้นนี้ ทำให้ทราบว่า ไม่แปลกที่ข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุนี้จะมีน้อย เพราะข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องยังเป็นปริศนาเสียเป็นส่วนใหญ่จริง ๆ

ดร. ทนงศักดิ์ ให้ข้อมูลว่าประติมากรรมสตรีปรากฏครั้งแรกอยู่ในหนังสือของ ดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas A.J. Latchford) นักสะสมและผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณวัตถุเขมร โดยให้รายละเอียดในหนังสือเพียงว่า เป็นโบราณวัตถุจากจังหวัดบุรีรัมย์เท่านั้น ไม่มีข้อมูลว่า ถูกค้นพบหรือนำออกมาจากปราสาทหลังใด ส่วนประวัติการได้มาและข้อมูลการซื้อ-ขาย ต้องรอตรวจสอบจากเอกสารที่ส่งมาพร้อมประติมากรรม

ประติมากรรมสตรี
ประติมากรรมสตรี (ภาพจาก The Metropolitan Museum of Art)

สำหรับความเกี่ยวข้องระหว่าง ประติมากรรมสตรี กับ Golden Boy ว่า เหตุใดไทยถึงได้รับคืนมรดกชาติสองชิ้นนี้พร้อมกัน ดร. ทนงศักดิ์ เผยว่า ความเกี่ยวข้องโดยตรงนั้นไม่มี หรืออย่างน้อยก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ยืนยัน เบื้องต้นคือเมื่อเป็นโบราณวัตถุในครอบครอง มีที่มาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พิพิธภัณฑ์ก็จะทำเรื่องส่งคืนประเทศต้นทาง และทั้งสองชิ้นบังเอิญได้รับการยืนยันพร้อมกัน เท่านั้นเอง

“ทั้งสองชิ้น (Golden Boy กับ ประติมากรรมสตรี) ไม่เกี่ยวข้องกันในเรื่องแหล่งที่มา ทั้งนี้ Golden Boy เราทราบที่มาชัด เพราะเข้าถึงแหล่งค้นพบคือที่จังหวัดบุรีรัมย์ และสอบถามจากชาวบ้าน แต่ ‘ประติมากรรมสำริดผู้หญิงคุกเข่า’ ถ้าเข้าไปค้นคว้าจริง ๆ ในพื้นที่ (ปราสาท) เมืองต่ำ พนมรุ้ง ปลายบัด เป็นไปได้ว่าจะเจอคนค้นพบหรือคนขุดได้ แต่คณะติดตามคืนโบราณวัตถุยังไม่ได้ทำงานกันถึงขั้นนั้น” โดยยืนยันว่าหากลงพื้นที่คงสืบค้นกันได้ไม่ยาก “เพราะเป็นประติมากรรมชิ้นใหญ่ ขายได้ราคาดี ต้องอยู่ในความทรงจำของชาวบ้าน”

ประติมากรรมสำริด พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 Golden Boy
Golden Boy หรือประติมากรรมสำริด พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ที่ The MET ส่งคืนไทย

สำหรับข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับตัวตนของประติมากรรมสตรี และประเด็นเรื่องลักษณะการคุกเข่าพนมมือไหว้ ดร. ทนงศักดิ์ ให้ความเห็นว่า

“เมื่อได้รับคืนเรียบร้อย เราจะสามารถพิจารณาเรื่องรูปแบบศิลปะได้ สามารถกำหนดอายุและช่วงเวลาได้ใกล้เคียงกับประติมากรรมชิ้นอื่น ๆ ทำให้จัดระเบียบข้อมูลหรือทำให้รู้ได้ว่าถูกสร้างมาเพื่ออะไร หากสัมพันธ์กับตัว Golden Boy จริง ๆ การนั่งพนมมือไหว้ก็แสดงถึงการเคารพบุคคลที่สำคัญ… เพราะ Golden Boy เองก็เป็นลักษณะของการสร้างภาพเหมือนไว้ให้คนบูชา บริเวณที่ตั้งก็มีฐานประติมากรรมอีกหลายชิ้น จึงอาจเป็นได้ว่าชิ้นใดชิ้นหนึ่ง (ในบริเวณนั้น) กำลังทำความเคารพพระองค์อยู่”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2567