“Golden Boy” รูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ประติมากรรมสำริด ศิลปะเขมรแบบพิมาย ที่ไทย (เพิ่ง) ได้คืนจากสหรัฐ!

รูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 Golden Boy ศิลปะเขมรแบบพิมาย โบราณวัตถุ ได้คืน จาก The MET
รูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 หรือ Golden Boy

รูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 หรือ “Golden Boy” ประติมากรรมสำริดปิดทองทั้งองค์ เป็นโบราณวัตถุสำคัญ 1 ใน 2 ชิ้น (อีกชิ้นคือ ประติมากรรมสตรีนั่งชันเข่าพนมมือสูง) ที่ประเทศไทยได้รับแจ้งคืนจาก The Metropolitan Museum of Art (The MET) ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 นับเป็นข่าวใหญ่ส่งท้ายปีในแวดวงประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทย

ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี เล่าถึง รูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ไว้ในเฟซบุ๊กแอคเคานต์ Tanongsak Hanwong ว่า รูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 มีรูปแบบศิลปะเขมรแบบพิมาย (พ.ศ. 1623-1650) พบที่ปราสาทบ้านยางหรือบ้านยางโปร่งสะเดา ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์

ชาวบ้านขุดพบตั้งแต่ พ.ศ. 2518 แล้วขายให้พ่อค้าในราคา 1,000,000 บาท จากนั้นถูกนำออกจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ผ่านบริษัทประมูล Spink & Son และนำไปจัดแสดงที่ The MET นิวยอร์ก

ทำไมถึงเรียกว่าศิลปะเขมรแบบพิมาย? ดร. ทนงศักดิ์ ให้คำตอบว่า หากกำหนดรูปแบบศิลปะเขมรโดยนักวิชาการชาวฝรั่งเศส มักเรียกตามชื่อแบบศิลปะตามปราสาทสำคัญหรือปราสาทประจำรัชกาล เช่น

ปราสาทบาปวน สร้างโดยราชวงศ์ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1560-1623) เรียกศิลปะเขมรแบบบาปวน ในประเทศไทย ได้แก่ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ปราสาทพนมวัน ปราสาทสด็กก็กธม เป็นต้น

ปราสาทนครวัด ปราสาทประจำรัชกาลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (หลานของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6) เรียกศิลปะเขมรแบบนครวัด (พ.ศ. 1655-1688) ในประเทศไทยได้แก่ ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทศรีขรภูมิ เป็นต้น

ปราสาทบายน ปราสาทประจำรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (เหลนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6) เรียกศิลปะเขมรแบบบายน (พ.ศ. 1724-1763) ในประเทศไทยได้แก่ ปราสาทตาเมือนโต๊ด ปราสาทตาเมือน กุฎิฤษีเมืองพิมาย เป็นต้น

ปราสาทหินพิมาย ภายในเมืองพิมาย ประจำรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เรียกศิลปะนครวัดตอนต้น จึงควรเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ตามชื่อปราสาทคือ ศิลปะเขมรแบบพิมาย (พ.ศ. 1623-1650)

ศิลปะเขมรแบบพิมายมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่พัฒนาการต่อเนื่องจากแบบบาปวน และให้อิทธิพลต่อแบบนครวัด จึงมีความแตกต่างไปจากศิลปะแบบบาปวนกับแบบนครวัดอย่างชัดเจน ศิลปะแบบพิมายในกัมพูชาได้แก่ ปราสาทพงตึก

“Golden Boy มีพัฒนาการของผ้านุ่งสั้นที่มีชายสมอรูปหางปลาด้านหน้า ผ้านุ่งสั้นที่โค้งเว้าเห็นสะดือแบบบาปวน มีเข็มขัดรัด แต่ไม่มีขอบชายสมอต่อตรงลงมาจากขอบผ้านุ่งเหนือเข็มขัด ได้ส่งต่อให้แบบพิมาย และยังใช้ต่อเนื่องมาจนถึงแบบนครวัดตอนต้น ด้วยเหตุที่ลักษณะผ้านุ่งของ Golden Boy ใกล้เคียงกับภาพสลักผ้านุ่งที่ปราสาทหินพิมายมากกว่าที่อื่น จึงเรียกศิลปะเขมรแบบพิมาย”

ดร. ทนงศักดิ์ บอกด้วยว่า รูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 พบที่บ้านยาง จึงมีความสำคัญสอดคล้องกับหลักฐานจารึก ที่พบบริเวณที่ราบเขาพนมรุ้ง ซึ่งกล่าวถึงต้นกำเนิด “ราชวงศ์มหิธรปุระ” ราชวงศ์ใหม่ที่สถาปนาโดยพระองค์

จารึกปราสาทพระขรรค์ กล่าวถึงพระองค์ที่ทรงเลือกถิ่นฐานเดิม เพื่อตั้งราชธานีปกครองอาณาจักรเขมร เชื่อว่าคือ “เมืองพิมาย” ก่อนที่เชื้อสายของราชวงศ์มหิธรปุระจะย้ายเมืองหลวงกลับไปยังเมืองพระนคร สร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลกคือ “ปราสาทนครวัด”

“หากไร้พรมแดนดังเช่นในอดีต คงหมดปัญหาเรื่องข้อถกเถียงว่า Golden Boy พบที่บ้านยางจริงหรือไม่ เพราะทั้งสองดินแดนในปัจจุบันต่างสืบสายมาจากวัฒนธรรมแบบเขมร ที่ครั้งหนึ่งก็เคยมีชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยทวารวดี ก่อนที่จะสลายปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมแบบเขมรที่มีอิทธิพลทางด้านต่างๆ มากกว่า ความรู้ความเข้าใจศิลปะที่ถ่ายทอดโดยสังคมมนุษย์ในอดีต คงช่วยคลายความขัดข้องใจไม่มากก็น้อย”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เฟซบุ๊กแอคเคานต์ Tanongsak Hanwong. เข้าถึงเมื่อ 17 ธันวาคม 2566. โดยได้รับอนุญาตจาก ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ ให้นำข้อมูลมาเผยแพร่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ธันวาคม 2566