แสงอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง มหัศจรรย์เมืองไทย กับเรื่องดวงของปราสาท

ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
(ภาพจาก มติชนอคาเดมี)

ปราสาทพนมรุ้ง ตั้งอยู่ที่ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์มาก เพราะสะท้อนถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรในภาคอีสานของประเทศไทย โดยปราสาทแห่งนี้สันนิษฐานว่าเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ไศวะนิกาย” สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 15 และต่อเติมเรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18

ปราสาทพนมรุ้งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2514 โดยวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis) คือการนำชิ้นส่วนของปราสาทที่พังทลายลงมากลับเข้าตำแหน่งเดิม และบูรณะแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2531

Advertisement

ปราสาทประธานเป็นศูนย์กลางของพื้นที่โดยรอบ ซึ่งสะท้อนคติจักรวาลวิทยาของเขาไกรลาศ อันเป็นที่ประทับของพระศิวะนั่นเอง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมีมุขสามทิศ แต่ทางทิศตะวันออกทำเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเรียกว่ามลฑป ซึ่งอาคารทั้งสองไม่ได้เชื่อมติดกันเพราะช่องประตูอยู่สูงมากเกินกว่าจะข้ามไปได้

ปราสาทประธานสร้างจากหินทรายมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “ครรภคฤหะ” หรือถ้ำของโยคี สร้างแบบมิดชิด แสงเข้าได้น้อย ไม่มีการแกะสลักที่สวยงามเท่าด้านนอก สันนิษฐานว่าอาจเป็นการสร้างเลียนแบบถ้ำที่พราหมณ์หรือพรตใช้บำเพ็ญตบะ และเป็นพื้นที่สงวนเฉพาะพราหมณ์ ส่วนมลฑปสันนิษฐานว่าใช้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมหรือประดิษฐานเทวรูป

นอกจากสองอาคารหลักที่อยู่ภายในระเบียงคดนี้แล้ว ยังมีอาคารเล็ก ๆ อยู่รายล้อม เช่น ปรางค์น้อย, เทวาลัย 2 หลัง และปราสาทอิฐ 2 องค์ (สันนิษฐานว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดในบริเวณนี้) ขนาด 5 เมตรคูณ 5 เมตร ปราสาทอิฐนี้ จากลวดลายที่ปรากฏบนเสาประดับกรอบประตู และประติมากรรมที่พบบริเวณนี้ คือเทวรูปพระพรหม ศิลปะขอมแบบเกาะแกร์ รวมทั้งข้อมูลที่อ่านและแปลจากศิลาจารึกหลักหนึ่งที่พบ ณ ปราสาทพนมรุ้ง สันนิษฐานว่าปราสาทอิฐคงสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นอาคารที่สร้างก่อนหน้าปราสาทประธานหินทรายหลังใหญ่ ซึ่งเป็นศิลปะขอมแบบนครวัดประมาณ 200 ปีเศษ

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง

นอกเหนือจากสถาปัตยกรรมที่สวยงามของปราสาทพนมรุ้งแล้ว ยังมีงานประติมากรรมชิ้นเอกของปราสาทพนมรุ้งคือ “ภาพจำหลัก” โดยภาพจำหลักมีทั้งส่วนที่เป็นหน้าบัน ซุ้มบัญชร และทับหลัง โดยทับหลังที่คนไทยรู้จักกันดีคือ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” ที่อยู่ภายใต้หน้าบัน “พระศิวนาฏราช” ทางด้านหน้าสุดของปราสาทประธาน

ปราสาทพนมรุ้งมีความงดงามทั้งด้านประติมากรรมและสถาปัตยกรรม แต่จะยิ่งงดงามแลดูมีมนต์ขลังมากขึ้นเมื่อแสงพระอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตู ในช่วง 4 ครั้งของแต่ละปี

ปรากฏการณ์แสงอาทิตย์ส่องลอด 15 ช่องประตู เกิดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง จะแบ่งออกเป็นแสงพระอาทิตย์ขึ้น 2 ครั้ง และแสงพระอาทิตย์ตก 2 ครั้ง วันใดเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นตรง 15 ช่องประตู วันนั้นจะไม่เห็นดวงอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตู ในขณะเดียวกันวันใดที่เห็นดวงอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตู ก็จะมองไม่เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกรอบประตูเช่นเดียวกัน

เนื่องจากปราสาทพนมรุ้งสร้างให้ขนานแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก จึงทำให้แสงอาทิตย์ลอด 15 ประตู แต่ปราสาทมิได้วางในตำแหน่งขนานแนวทิศตะวันออก-ตะวันตกพอดี โดยเบี่ยงไปทางทิศเหนือ 5.5 องศา นั่นจึงทำให้เกิดแสงอาทิตย์ลอด 15 ประตู 4 ครั้ง หากปราสาทวางแนวตามเส้น 90 องศา ขนานกับทิศตะวันออก-ตะวันตกพอดี ก็จะเกิดปรากฏการณ์แสงอาทิตย์ส่องลอด 15 ช่องประตู 2 ครั้ง ทั้งอาทิตย์ขึ้นและตกทั้ง 2 ครั้ง โดยจะเกิดในราวปลายเดือนมีนาคมและกันยายน

ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก ตรง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง ไม่ปรากฏในเอกสารโบราณ ไม่ว่าจะเป็นศิลาจารึก หรือหลักฐานประเภทอื่น เช่น ภาพจำหลัก เป็นต้น อีกทั้งก่อนที่ปราสาทแห่งนี้จะบูรณะแล้วเสร็จ ย่อมไม่มีผู้ใดเคยพบเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากชั้นหลังคาของปราสาทประธานและมณฑปด้านหน้าถล่มลงมาปิดช่องประตูจนไม่สามารถมองลอดกรอบประตูทะลุถึงกันได้ (นงคราญ สุขสม, 2546 : 123)

กระทั่งปราสาทพนมรุ้งได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จนแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการบูรณะ จึงสังเกตเห็นความมหัศจรรย์ของดาราศาสตร์ที่ถูกนำมาผนวกเข้ากับองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมอย่างลงตัว นักดาราศาสตร์ได้คำนวณว่าปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นตรง 15 ช่องประตู จะอยู่ในช่วงวันที่ 3-4-5 เมษายน วันใดวันหนึ่ง และจะเกิดขึ้นในราวเดือนกันยายนอีกครั้งหนึ่ง แต่ช่วงฤดูฝนท้องฟ้าปิด เมฆมาก โอกาสที่จะเห็นจึงน้อยกว่าเดือนเมษายน

ความสำคัญของปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้การจัดงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยภาคราชการครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2534 เลือกจัดในช่วงสุดสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน เป็นเหตุให้งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งซึ่งเดิมเคยเป็นงานบุญประจำปีของชาวบ้าน จัดในวันขึ้น 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 5 หมดความสำคัญลงไป (นงคราญ สุขสม, 2546 : 123)

ภาพลักษณะการแต่งกายของนักรบในภาพสลักบนซุ้มบัญชรบนชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 2 ด้านทิศใต้ของปรางค์ประธาน ปราสาทพนมรุ้ง (บน) เปรียบเทียบกับการแต่งกายของทหารจากแคว้นละโว้ ในภาพ
สลักที่ผนังระเบียงคด ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา (ล่าง)

คุณนงคราญ สุขสม หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เมื่อ พ.ศ. 2546 ได้มีโอกาสรู้จักกับชาวเดนมาร์กท่านหนึ่ง ชื่อ Mr.Asger Mollerup มีชื่อภาษาไทยว่า คุณทอง หรือสีดาทอง เป็นชาวต่างชาติที่อยู่เมืองไทยมานานจนพูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว เป็นสถาปนิกที่สนใจเรื่องดาราศาสตร์ ซึ่งสามารถคำนวณเวลาการเกิดปรากฏการณ์แสงอาทิตย์ส่องลอด 15 ช่องประตูได้ค่อนข้างแม่นยำมาก จะคลาดเคลื่อนไปบ้างก็เป็นเวลาไม่กี่เสี้ยวนาที

คุณทองจึงตั้งข้อสันนิษฐานขึ้นมาว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ปราสาทพนมรุ้งมี “ดวง” เหมือนบุคคลแต่ละคนก็มีดวงของตนเอง วิธีผูกดวงก็คำนวณจากลัคนาวันเดือนปีเกิด เวลาตกฟาก เป็นต้น

ดวงของปราสาทแต่ละหลังอาจขึ้นอยู่กับสภาพภูมิศาสตร์ เช่น ตำแหน่งที่ตั้ง ชัยภูมิ สภาพแวดล้อม เป็นต้น ทำให้ปราสาทแต่ละหลังมีแนวแกนทิศหลักของประตูทางเข้าด้านหน้าต่างกัน ดวงของปราสาทพนมรุ้งคงต่างกับดวงของปราสาทพิมาย (หันหน้าไปทางทิศใต้) ปราสาทตาเมือนธม (หันหน้าไปทางทิศใต้) ปราสาทเขาพระวิหาร (หันหน้าไปทางทิศเหนือ) หรือ ปราสาทนครวัด (หันหน้าไปทางทิศตะวันตก) (นงคราญ สุขสม, 2546 : 123)

ปราสาทพนมรุ้ง อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
ปราสาทพนมรุ้ง ภาพจาก กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร (www.finearts.go.th)

ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือเหตุบังเอิญของผู้สร้างปราสาทก็ตาม ปรากฏการณ์แสงอาทิตย์ส่องลอด 15 ช่องประตูที่เกิดขึ้นนี้ได้ก่อให้เกิดมนต์ขลังและความงดงามให้กับปราสาท แม้ในอดีตจะเป็นเรื่องของศาสนาและพิธีกรรม แต่ปัจจุบันเป็นเรื่องของการอนุรักษ์และการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้ชาวบุรีรัมย์ได้ไม่น้อยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์ และวิไลรัตน์ ยังรอต.  (2550).  คู่มือท่องเที่ยว-เรียนรู้: ปราสาทหิน พิมาย พนมรุ้ง เมืองต่ำ ตาเมือน เขาพระวิหาร.  กรุงเทพฯ: มิวเซียมเพรส.

ศิริศักดิ์ คุ้มรักษา.  (2546). แผนที่ความรู้เมืองไทย : ปราสาทหินในถิ่นอีสาน. กรุงเทพฯ: แปลน รีดเดอร์ส.

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์. (ม.ป.ป.). พนมรุ้ง.  (ม.ป.พ.).

นงคราญ สุขสม.  (2546, กันยายน). Unseen พนมรุ้ง. ศิลปวัฒนธรรม. 24(10): 123.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 เมษายน 2562