ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ตัวอย่างการพิสูจน์โบราณวัตถุจริงหรือปลอม?
กลางเดือนธันวาคม 2566 มีข่าวดีในวงการโบราณคดีของไทย เมื่อพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) ประเทศสหรัฐอเมริกา แจ้งคืนโบราณวัตถุที่สำคัญ 2 รายการ ให้ประเทศไทย ชิ้นแรกคือ รูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 หรือ Golden Boy ประติมากรรมสำริดปิดทองทั้งองค์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 และอีกรายการคือ ประติมากรรมสตรีนั่งชันเข่าพนมมือสูง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เช่นกัน กระทั่งไทยได้รับ Golden Boy และประติมากรรมสตรีนั่งชันเข่าพนมมือสูง คืนกลับถึงประเทศ วันที่ 20 พฤษภาคม 2567
ย้อนไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ก็เคยมีกรณีโด่งดังเรื่องการทวงคืนโบราณวัตถุเช่นกัน นั่นคือ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่เชื่อว่าถูกโจรกรรมไปประมาณ พ.ศ. 2503 ทางสถาบันศิลปะ นครชิคาโก สหรัฐ ได้ส่งกลับคืนสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2531 ในพระนามของศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ถึงสนามบินดอนเมืองในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2531
คราวนั้น โบราณวัตถุชิ้นดังกล่าวมีผู้ให้ความสนใจอย่างมาก ถึงประเด็นว่าเป็นของจริงหรือของปลอม แล้ววิธีตรวจพิสูจน์เพื่อหาความจริงเป็นอย่างไร? ศิลปวัฒนธรรม ชวนย้อนอ่านบทความ “พิสูจน์ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์” ที่ จิราภรณ์ อรัณยะนาค เขียนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือนกรกฎาคม 2542
เปิดวิธีพิสูจน์ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์”
จิราภรณ์เล่าถึงการหาอายุของศิลปโบราณวัตถุว่ามีหลายวิธี เช่น วิธีคาร์บอน-14 (Carbon-14 dating) วิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนซ์ (Thermoluminescence dating) วิธีฟิสชันแทรค (Fission track dating) วิธีโพแทสเซียม/ อาร์กอน (Potassium/Argon dating) เป็นต้น
วิธีการเหล่านี้เป็นวิธีทางนิวเคลียร์เคมี และนิวเคลียร์ฟิสิกส์ ผลที่ได้ช่วยให้สามารถกำหนดอายุคร่าวๆ ของศิลปโบราณวัตถุได้ แต่วิธีการเหล่านี้มีข้อจำกัดมากมาย เพราะแต่ละวิธีการจะสามารถใช้กำหนดอายุวัสดุบางประเภทเท่านั้น ไม่สามารถจะใช้กับวัสดุทุกชนิดได้ เช่น
วิธีคาร์บอน-14 จะใช้กำหนดอายุของศิลปโบราณวัตถุที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ เช่น ไม้ ถ่าน กระดูก งา ผ้า เปลือกหอย ฯลฯ เท่านั้น
วิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนซ์ ใช้ได้กับวัสดุที่ผ่านการเผาไฟมาแล้ว เช่น เครื่องปั้นดินเผา อิฐ ฯลฯ
วิธีฟิสชันแทรค ใช้ได้กับแก้วและแร่บางอย่างที่มียูเรเนียมเป็นองค์ประกอบ
วิธีโพแทสเซียม/อาร์กอน ใช้ได้กับหินอัคนีบางชนิดที่มีโพแทสเซียมเป็นองค์ประกอบเท่านั้น
แต่วิธีการเหล่านี้ ไม่สามารถใช้กำหนดอายุหินทรายได้
การกำหนดอายุหินทราย นักธรณีวิทยาใช้วิธีศึกษาเปรียบเทียบโดยจะศึกษาซากฟอสซิลที่ปรากฏอยู่ในชั้นหินทราย แต่ยังไม่มีวิธีการใดๆ ที่จะให้อายุที่แน่นอนของหินทรายได้ นอกจากนี้ การหาอายุของหินทรายไม่มีประโยชน์ต่อการตรวจพิสูจน์ศิลปโบราณวัตถุ เพราะจะช่วยให้ทราบเพียงว่าหินนั้นๆ ก่อกำเนิดขึ้นบนโลกมาแล้วนานเท่าใด แต่ไม่สามารถบอกอายุการใช้งานของหินนั้นๆ
เพราะฉะนั้น การที่จะเลือกใช้วิธีการใดในการตรวจพิสูจน์ นักวิทยาศาสตร์จะพิจารณาข้อดี ข้อเสีย ข้อจำกัด และความแม่นยำของแต่ละวิธีการ
การตรวจพิสูจน์ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ในเดือนพฤศจิกายน 2531 เริ่มด้วยวิธีฟิสิกส์ โดยการตรวจสอบอย่างละเอียดด้วยสายตาและแว่นขยาย เพื่อตรวจดูเนื้อหิน ร่องรอยการแกะสลัก รอยบิ่น กะเทาะ รูพรุนในเนื้อหิน ความสึกกร่อน การเปลี่ยนแปลงที่ผิวหินที่เกิดจากสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ คราบสกปรกฝังแน่น และคราบที่เกิดจากจุลินทรีย์ พร้อมทั้งถ่ายภาพรอยตำหนิต่างๆ ด้วยกล้องถ่ายรูปที่ใช้ microlens เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
จากการตรวจสอบดังกล่าว พบว่าหินที่ใช้ในการแกะสลักทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ชิ้นนี้ เป็น “หินทรายสีชมพูอ่อน” มิใช่เรชั่น หรือปูนซีเมนต์ผสมทรายอย่างแน่นอน แต่เพื่อความแน่นอนได้สกัดหินทรายด้านหลังของทับหลังเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดประมาณ 1 ซ.ม. โดยเลือกจุดที่เป็นตัวแทนของหินทรายทั้งก้อนไว้ จากนั้นนำตัวอย่างมาตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบสเตอริโอ กำลังขยาย 6.3-40 เท่า และเปรียบเทียบกับหินทรายอีกก้อนหนึ่ง ที่สกัดมาจากทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ชิ้นเล็ก ที่ติดตั้งอยู่บนกรอบประตูปราสาทหินพนมรุ้ง ซึ่ง นายสัญชัย หมายมั่น สถาปนิกที่บูรณะปราสาทหินพนมรุ้งนำมามอบให้
จากการเปรียบเทียบพบว่า หินทรายทั้งสองชิ้นนี้มีลักษณะไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ เป็นหินทรายสีชมพูอ่อน เนื้อละเอียด ประกอบด้วยเม็ดทรายที่มีลักษณะกลม-เหลี่ยมเป็นส่วนใหญ่ ประสมอยู่ในเนื้อพื้นเนื้อละเอียด ซึ่งประกอบด้วยเฟลด์สปาร์เป็นส่วนใหญ่ นอกนั้นเป็นเศษหินและวัสดุประสาน ซึ่งใกล้เคียงกับหินทรายสีชมพูที่ใช้ทั่วไปในการก่อสร้างปราสาทหินพนมรุ้ง
เพื่อความถูกต้องและแน่นอนยิ่งขึ้น ได้นำตัวอย่างหินทั้งสองชิ้นนี้ไปให้ นางศรีโสภา มาระเนตร์ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางฟิสิกส์ กองธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ตรวจสอบด้วยวิธีศิลาวรรณนา (petrography) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้กันมากในการจำแนกชนิดของหิน โดยการนำหินมาตัดและขัดเป็นแผ่นหินบาง (thin section) แล้วตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดที่ใช้แสง polarize ที่กำลังขยาย 40-400 เท่า
ผลการวิเคราะห์พบว่า หินทรายที่ใช้ในการแกะสลัก ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์เป็นหินทรายประเภท Feldspartic sand- stone หรือหินทรายอาร์โคส (Arkosic sandstone) ซึ่งเป็นหินทรายชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยเฟลด์สปาร์ 25% หรือมากกว่านั้น จากการวิเคราะห์หินทรายสองชิ้นนี้พบว่า ประกอบด้วย ควอร์ตซ์ 55-60% เฟลด์สปาร์ 25-30% นอกนั้นเป็นดินเหนียวที่ผุพังและเศษหิน (ส่วนใหญ่เป็นหินดินดานและหิน tuff) วัสดุประสาน (Cementing material) เป็นซิลิกา และเหล็กออกไซด์ ขนาดของเม็ดแร่ประมาณ 0.1-0.2 ม.ม. หินทรายชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากการสลายตัวผุพังอย่างรวดเร็วของหินแกรนิตหรือหินอัคนีชนิดที่มีเฟลด์สปาร์และควอร์ตมาก
ด้วยความกรุณาจากนักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณีหลายท่านที่เชี่ยวชาญด้านการศึกษาแหล่งหินทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หินทรายที่ใช้ในการแกะสลักทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จัดเป็นหินชุดพระวิหาร (Phra Wihan Formation) ซึ่งพบทั่วไปในที่ราบสูงโคราช อายุของหินจัดอยู่ในยุค Middle Jurassic หรือประมาณ 190 ล้านปีมาแล้ว
เพราะฉะนั้น สรุปได้แน่นอนว่า ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ส่วนที่ได้มาจากชิคาโก เป็นหินทรายชิ้นเดียวกับทับหลังชิ้นเล็กส่วนที่ยังคงอยู่ในประเทศไทย
ของแท้หรือของปลอม?
เมื่อตรวจสอบดูรายละเอียดบนผิวของทับหลังด้านที่แกะสลัก พบริ้วรอยบิ่นกะเทาะจำนวนมาก ผิวของหินบางส่วนมีรูหรือหลุมขนาดเล็ก-ใหญ่หลายรู คาดว่ารูเหล่านี้เกิดจากจุดอ่อนในเนื้อหิน หรืออาจเกิดจากเม็ดกรวดขนาดต่างๆ ที่ปะปนอยู่ในเนื้อหินหลุดร่วงออกไปจากการสึกกร่อนขัดสี เนื่องจากแรงลมหรือน้ำฝน ทำให้เกิดรูหรือหลุมบนผิวหิน (มิใช่ฟองอากาศอย่างที่หลายท่านสันนิษฐาน)
ผิวของหินส่วนใหญ่สึกกร่อนอย่างเห็นได้ชัด หินบางส่วนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเนื่องจากปฏิกิริยาระหว่างองค์ประกอบของหินกับน้ำ และก๊าซในบรรยากาศ ทำให้ผิวของหินบางส่วนมีสีเปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง-นํ้าตาล ซึ่งเกิดจากการที่เหล็กออกไซด์ที่เป็นองค์ประกอบของหินเปลี่ยนไปเป็นเหล็กไฮดรอกไซด์
ปรากฏการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อหินอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานมาก
นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานสำคัญที่มีส่วนช่วยอย่างมากในการตรวจพิสูจน์ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ นั่นคือ ซากของไลเคนส์ (lichens) เกาะติดแน่นบนผิวหินเป็นแผ่นด่างดวงสีเขียวอมเทาอ่อนอยู่ทั่วไป
ไลเคนส์ เป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่เกิดจากสาหร่ายและราอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยสาหร่ายทำหน้าที่สังเคราะห์แสงสร้างอาหาร ส่วนราทำหน้าที่ดูดน้ำ อาหารและแร่ธาตุ เก็บรักษาความชุ่มชื้น และเป็นฐานให้สาหร่ายได้เกาะยึด โดยปกติพบไลเคนส์ทั่วไปบนวัสดุก่อสร้างที่ชื้นและมีรูพรุนมาก ได้แก่ อิฐ หินทราย หินชนวน ศิลาแลง ปูน และไม้
ซากไลเคนส์ที่พบบนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จัดเป็นไลเคนส์ประเภท crustose lichen พบมากทั่วไปบนปราสาทหินพนมรุ้ง มีรูปร่างเป็นแผ่น ทัลลัสเกาะติดแน่นกับเนื้อหิน ไลเคนส์ชนิดนี้ สร้างกรดอินทรีย์บางชนิดออกมาทำปฏิกิริยากับเนื้อหิน แล้วเกิดสารประกอบที่ไม่ละลายน้ำเกาะติดแน่นคล้ายปูนอยู่บนผิวของหิน
จากการตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่า มีซากไลเคนส์ชนิดนี้เกิดขึ้นทับซ้อนกันหลายชั้นบนผิวของหิน แสดงให้เห็นว่า ไลเคนส์ชนิดนี้ได้เจริญอยู่บนหินชิ้นนี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานมาก เมื่อโคโนลีที่เกิดขึ้นตอนแรกๆ ตายไป ก็เกิดโคโลนีใหม่ขึ้นบนที่เดิม หรือในบริเวณใกล้เคียง จึงเห็นเป็นวงกลมๆ ทับซ้อนหรือเหลื่อมกันหลายชั้น การเจริญเติบโตของไลเคนส์เป็นไปอย่างเชื่องช้า ไลเคนส์บางชนิดขยายขนาดเพียง 1 ม.ม. ใน 1 ปี เพราะฉะนั้นการที่มีไลเคนส์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 ซ.ม. ทับซ้อนกันหลายชั้นบนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
แสดงว่าทับหลังชิ้นนี้ได้อยู่กลางแจ้งเป็นเวลายาวนานนับร้อยๆ ปี
จากการทดลองทำความสะอาดหินทรายสีชมพูรอบๆ มณฑปบนปราสาทหินพนมรุ้งในปี 2536 แล้วทดสอบประสิทธิภาพของสารเคมีต่างๆ ที่ใช้ในการยับยั้งป้องกันไลเคนส์ พบว่า หินบางส่วนที่ไม่ได้ทาสารเคมีป้องกันไลเคนส์ เริ่มมีไลเคนส์ชนิดเดียวกับที่พบบนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์เป็นจุดเล็กๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 ซ.ม. ในปี 2542 แสดงว่าหากต้องการให้มีไลเคนส์ปรากฏบนผิวของหินทรายสีชมพูของเดิมที่ใช้ในการก่อสร้างปราสาท จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี จึงจะมีไลเคนส์ขึ้นเจริญเป็นจุดเล็กๆ
และจากการสำรวจไลเคนส์บนปราสาทหินหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า หินทรายสีชมพูหรือสีแดง ที่นำมาทดแทนหินทรายเดิมที่แตกหักชำรุดไปยังคงปราศจากไลเคนส์ แม้ว่าจะนำมาใช้งานนานนับสิบปีแล้วก็ตาม แสดงว่าไลเคนส์จะไม่เจริญบนผิวของหินทรายที่ตัดมาใหม่ๆ อาจเป็นเพราะหินทรายใหม่ๆ เหล่านั้นยังมีเนื้อแน่น ไม่สามารถอมความชื้นไว้ได้มากพอที่ไลเคนส์จะขึ้นเจริญได้
นอกจากนี้ ไลเคนส์ที่พบบนโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในท้องที่ต่างๆ มักแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดองค์ประกอบของวัสดุ และสภาวะแวดล้อมของแต่ละท้องที่ การที่จะทำให้เกิดไลเคนส์ชนิดเดียวกับที่พบบนปราสาทหินพนมรุ้งได้ จะต้องนำทับหลังที่ทำเทียมเลียนแบบมาวางทิ้งไว้ในบริเวณเขาพนมรุ้งเป็นเวลานานมาก จึงจะเกิดไลเคนส์ชนิดนี้ขึ้นได้
เหตุผลดังกล่าว เพียงพอที่จะสรุปได้ว่า ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ได้รับจากชิคาโก เป็นของแท้ที่เคยติดตั้งอยู่บนกรอบประตูด้านทิศตะวันออกของปราสาทหินพนมรุ้งอย่างแน่นอน มิได้มีผู้ใดทำขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีวิทยาศาสตร์อื่นๆ พิสูจน์ซ้ำอีก
หมายเหตุ : จัดย่อหน้าใหม่ เน้นคำ และเพิ่มหัวข้อย่อย โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม เพื่อความสะดวกในการอ่าน
อ่านเพิ่มเติม :
- การเมืองในประวัติศาสตร์ “เครือญาติ” ไทย-กัมพูชา กรณี “ทับหลัง” ที่ได้คืนจากสหรัฐอเมริกา
- แสงอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตู ปราสาทพนมรุ้ง มหัศจรรย์เมืองไทย กับเรื่องดวงของปราสาท
- “ปราสาทเขมร” สถาปัตยกรรมซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดและทรงสร้างในไทย
- ใครคือ “Golden Boy” ? รู้จักพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ต้นวงศ์มหิธรปุระแห่งพิมาย
- ของหายต้องได้คืน! ประเทศไทยเคยได้โบราณวัตถุชิ้นไหนคืนอีกบ้าง นอกจาก “Golden Boy”?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2565