“ปราสาทเขมร” สถาปัตยกรรมซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดและทรงสร้างในไทย

ปราสาทบายน และ ปราสาทพระบรมรูป วัดราชประดิษฐ เป็น ปราสาทเขมร
(ซ้าย) ปราสาทบายน (ขวา) ปราสาทพระบรมรูป วัดราชประดิษฐ (ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม)

ในบรรดาสิ่งที่ “โปรด” ของ รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ปราสาทเขมร ถึงกับมีพระราชดำริให้รื้อปราสาทเขมรมาสร้างในประเทศ เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2402 แล้วนำมาสร้างไว้บนยอดเขามหาสวรรค์ (เขาวัง) จังหวัดเพชรบุรี และวัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร

พิญชา สุ่มจินดา อธิบายเรื่อง ปราสาทเขมร ที่ รัชกาลที่ 4  โปรดไว้ใน “ราชประดิษฐพิพิธทรรศนา”  ซึ่งขอสรุปมาเสนอแก่ท่านผู้อ่าน

แม้โครงการดังกล่าวจะไม่สำเร็จ หากความยิ่งใหญ่งดงามของปราสาทเขมรยังคงอยู่ในพระราชหฤทัย เช่น ปราสาทนครจำลอง ที่วัดพระแก้ว (ที่โปรดเกล้าฯ ให้วัดมาตราส่วนจำลองตามแบบปราสาทนครอย่างละเอียด), ปรางค์อย่างเขมรที่วัดพระแก้วน้อย บนยอดเขามหาสวรรค์ จังหวัดเพชรบุรี ฯลฯ

ปราสาทนครวัด จำลอง ตั้งอยู่ที่ วัดพระแก้ว
ปราสาทนครวัดจำลอง บนฐานไพทีข้างพระมณฑป วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อที่ดินพระราชทานให้เป็นวิสุงคามสีมาวัดราชประดิษฐ เพื่อเป็นวัดของคณะสงฆ์ธรรมยุต จึงมีอาคารที่สร้างตามแบบสถาปัตย์เขมรที่พระองค์โปรดอยู่ด้วย นั้นคือ “ปราสาทพระบรมรูป”

“ปราสาทพระบรมรูป” หรือ “ปราสาทพระจอม” ลักษณะคล้ายกับปราสาทพระไตรปิฎกเกือบทุกประการ เพียงแต่ใช้กลีบขนุนประดับรูปเทพนมแทนนาคปัก เปลี่ยนยอดปราสาทตรงบัญชรชั้นแรกเป็นรูปหน้าบุรุษสวมกะบังพักตร์แบบเขมรทั้ง 4 ด้าน รวมเป็นยอดจตุรพักตร์ หรือที่นิยมเรียกว่า “พรหมพักตร์”

ความพิเศษนี้อาจมีนัยบางอย่างที่ผู้สร้างต้องการสื่อถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยพระองค์โปรดปรานสถาปัตยกรรมประเภท “ปรางค์” และ “พรหมพักตร์” เป็นพิเศษ

การสร้างปรางค์แบบเขมรของพระองค์ อาทิ พระปรางค์แดงบนยอดเขามหาสวรรค์ (เขาวัง) จังหวัดเพชรบุรี หรือปราสาทยอดปรางค์ เช่น ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระที่นั่งเวชยันตวิเชียรปราสาท พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น

พระนครคีรี หรือ เขาวัง พระราชวัง ที่ตั้งอยู่บนภูเขา จังหวัดเพชรบุรี
พระปรางค์แดง (ซ้าย) และวัดพระแก้ว (ขวา) ที่พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี(ภาพจากหนังสือประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร 2548)

นับเป็นตัวอย่างที่ดีของความชื่นชมดังกล่าว ทรงพระราชดำริให้รื้อ “ปราสาทไผทตาพรหม” จากประเทศกัมพูชา ประเทศราชของไทยในตอนนั้นมาไว้ที่กรุงเทพมหานครและเพชรบุรี หากไม่สำเร็จตามพระราชประสงค์

ปราสาทไผทตาพรหม ปัจจุบันแม้ยังไม่ทราบว่าเป็นปราสาทใดแน่ชัด แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่า คือ ปราสาทตาพรหม ในแขวงเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เพราะขนาดความสูงประมาณ 12 เมตร ที่กล่าวไว้เป็นความสูงใกล้เคียงกับโคปุระหรือประตูทางเข้ากำแพงชั้นนอก ปราสาทตาพรหมซึ่งยอดเป็นรูปจตุรพักตร์ ส่วนรูปพรหมพักตร์ก็เป็นที่โปรดปรานเช่นกัน

ดังเห็นได้จากทรงสร้าง ประตูพรหมพักตร์ยอดปรางค์ ในเขตพระราชฐานชั้นใน ตามอย่างประตูพระราชวังหลวงกรุงเก่า เช่น ประตูพรหมโสภา และประตูศรีสวัสดิ์ข้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หรือซุ้มประตูยอดทรงมงกุฏยอดพรหมพักตร์ หน้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เป็นต้น รวมทั้งทรงริเริ่มใช้ยอดพรหมพักตร์เป็นยอดพระกลดเฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรก ความชื่นชมในรูปพรหมพักตร์ของพระองค์จึงอาจมีความเกี่ยวข้องกันจนผู้สร้างนำมาเป็นประเด็นในการสร้างยอดพรหมพักตร์ของปราสาทพระจอมก็เป็นได้

ปราสาทพระบรมรูป วัดราชประดิษฐ ปราสาทเขมร
ภาพพระวิหารหลวงและปราสาทพระบรมรูป วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ถูกใช้เป็นหน้าปกหนังสือราชประดิษฐศิษยานุสรณ์ นวกะ 2494 อันเป็นหนังสือเล่มแรกในบรรดาหนังสือราชประดิษฐศิษยานุสรณ์ทั้งหมด (ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม)

อนึ่ง รูปจตุรพักตร์บนยอดปราสาทหรือที่ไทยเราเรียกว่า “พรหมพักตร์” ถือกำเนิดในประเทศกัมพูชาตรงกับรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ทรงนับถือพุทธศาสนาในระยะแรก ส่วนหนึ่งของยอดโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้าปราสาทในพุทธศาสนา เช่น ปราสาทตาพรหม ต่อมาจึงนำไปใช้เป็นยอดปราสาทเช่นที่เรารู้จักกันดี คือ ปราสาทบายน

นักวิชาการโดยทั่วไปเชื่อว่า คือ พระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์แห่งความเมตตากรุณาของผู้ที่นับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายานและลัทธิตันตรยาน (วัชรยาน) ที่เขมรโบราณเรียกว่าพระโลเกศวร ทว่านักวิชาการบ้างกลุ่มมีความเห็นว่า น่าจะเป็นพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าในลัทธิตันตรยานของกัมพูชา เพราะหากเป็นพระโลเกศวรจะต้องมีพระพุทธรูปปางสมาธิ คือ พระอมิตาภะอยู่บนพระเศียร เช่นเดียวกับสถูปสวายัมภูนาถ เนปาล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พิชญา สุ่มจินดา. ราชประดิษฐพิพิธทรรศนา, วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ตุลาคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 เมษายน 2563