ใครคือ “Golden Boy” ? รู้จักพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ต้นวงศ์มหิธรปุระแห่งพิมาย

ประติมากรรม สำริด พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 Golden Boy โกลเด้นบอย
Golden Boy หรือประติมากรรมสำริด พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ที่ The MET ส่งคืนไทย

ข่าวการคืนประติมากรรมสำริด “Golden Boy” รูป “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Metropolitan ประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังจะส่งคืนแก่ไทย ถือเป็นข่าวใหญ่ส่งท้ายปีในแวดวงประวัติศาสตร์และโบราณคดีก็ว่าได้ 

สำหรับพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 หรือบุคคลในประติมากรรมสำริดปิดทองทั้งองค์ จนได้รับการขนานนามว่า Golden Boy นั้น ถือเป็นปฐมกษัตริย์ของ ราชวงศ์มหิธรปุระ ผู้ปกครองอาณาจักรเขมรโบราณ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 โดยมีพื้นเพอยู่ที่แถบต้นแม่น้ำมูล

พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เถลิงราชย์ภายหลังการสวรรคตของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 3 กษัตริย์แห่งเมืองพระนคร แต่วงศ์มหิธรปุระไม่ใช่เครือญาติของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 3 เข้าใจว่า พระองค์เป็นขุนนางท้องถิ่นที่ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรเขมรโบราณที่เมืองมหินธรปุระ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ลงความเห็นว่าคือ เมืองพิมาย ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา 

อย่างไรก็ตาม มีกษัตริย์อีกองค์ปกครองอยู่ที่เมืองพระนคร ช่วงนี้อาณาจักรเขมรโบราณจึงมิได้เป็นหนึ่งเดียวหรือมีเสถียรภาพนัก โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ใช้เมืองมหิธรปุระเป็นฐานอำนาจในการทำสงครามขยายอำนาจ เพื่ออ้างสิทธิ์ในการปกครองดินแดนทั้งหมด

จารึกปราสาทพระขรรค์ กล่าวถึงวงศ์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ว่า ทรงครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรเขมรโบราณที่เมืองศรียโสธรปุระ ทรงมีเครือญาติที่มหิธรปุระ (พิมาย) โดยพระกนิษฐาของพระองค์ทรงมีพระราชธิดา ซึ่งเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 

จารึกปราสาทพนมรุ้ง 7 กล่าวถึงราชวงศ์มหิธรปุระว่า สืบสกุลมาจากพระเจ้าหิรัณยวรมันและพระนางหิรัณยลักษมี มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่กษิตินทราคราม ทรงมีพระราชโอรสได้เป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรเขมรโบราณจำนวน 3 พระองค์ คือพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 พระเจ้าธรณีนธรวรมันที่ 1 และพระศรียุพราช 

โดยทรงมีพระราชนัดดาที่เกิดจากพระราชธิดาองค์หนึ่ง เสกสมรสกับพระเจ้ากษิตินทราทิตย์ มีพระราชโอรสที่มีอำนาจมากพระองค์หนึ่ง ได้เป็นกษัตริย์อาณาจักรเขมรโบราณ คือพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2

จึงกล่าวได้ว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เป็นต้นวงศ์มหิธรปุระ ราชวงศ์ของ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สามารถรวบรวมอาณาจักรเขมรโบราณเป็นปึกแผ่น และสถาปนาเมืองพระนครเป็นราชธานีอีกครั้ง แล้วสร้าง “ปราสาทนครวัด” อันยิ่งใหญ่ขึ้นที่นั่น

จึงไม่แปลกที่ปราสาทนครวัดจะได้ต้นแบบมาจาก “ปราสาทพิมาย” ในพื้นที่ซึ่งเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมของวงศ์มหิธรปุระ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มาดแลน จิโต ; ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล แปล. (2566). ประวัติเมืองพระนครของขอม. กรุงเทพฯ : มติชน.

ดุสิต ทุมมากรณ์. สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น. ราชวงศ์มหิธรปุระ: ข้อสันนิษฐานใหม่. (PDF Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2566