สมณะโพธิรักษ์ เจ้าสำนัก “สันติอโศก” ผู้แหวกขนบพุทธเถรวาท

สมณะโพธิรักษ์ ผู้ก่อตั้ง สันติอโศก
สมณะโพธิรักษ์ (ภาพ : fb บันทึกโพธิรักษ์โพธิกิจ)

หนึ่งใน “สำนัก” แนวคิดทางพุทธศาสนาที่เรียกได้ว่าโดดเด่นในสังคมไทย คือ “สันติอโศก” ที่มี สมณะโพธิรักษ์ (5 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ถึง 11 เมษายน พ.ศ. 2567) เป็นผู้ก่อตั้ง มีแนวทางแบบ “พุทธยูโทเปีย” ทั้งยังแหวกขนบ “พุทธเถรวาท”

หากใครจำได้ สันติอโศกเคยเข้าไปมีบทบาทด้านการเมือง โดยเฉพาะการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ต่อต้านรัฐบาล “ระบอบทักษิณ” ใน พ.ศ. 2549 รวมทั้งการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ใน พ.ศ. 2556-2557

อาสา คำภา เล่าถึง สมณะโพธิรักษ์ และ “สันติอโศก” ไว้ตอนหนึ่งในผลงานเล่มล่าสุด “ลอกคราบพุทธแท้ : ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทยร่วมสมัย” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า

ความเฟื่องฟูของสำนักแนวคิดทางพุทธศาสนาทั้ง 3 สำนัก คือ สวนโมกข์ สันติอโศก และ ธรรมกาย เกิดขึ้นจากการปรับตัวให้เข้ากับชนชั้นกลางไทย ในช่วงจังหวะช่องว่างทางอุดมการณ์หลัง “ยุคการสลายมายาการ”

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อหนุ่มสาวปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่เข้าป่าค้นพบว่า อุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ไม่อาจเป็นทางเลือกที่เป็นจริงได้สำหรับสังคมไทย เห็นได้จากหนุ่มสาวบางส่วนที่เคยได้แรงบันดาลใจจากอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย ได้หันมาหาพุทธศาสนาในฐานะอุดมการณ์ทางเลือกใหม่ที่เหมาะสมกว่า

หากกล่าวให้เห็นภาพ คือ พุทธศาสนาได้กลายเป็น “ธงนำ” ของปัญญาชนชนชั้นกลางฝ่ายก้าวหน้าบางกลุ่ม หาใช่ลัทธิมาร์กซ์อีกต่อไป

สำหรับกลุ่ม “สันติอโศก” นั้น อาสากล่าวว่า ศาสนิกกลุ่มนี้คือตัวอย่างของกลุ่มปฏิรูป ที่ไม่เห็นด้วยกับพุทธศาสนากระแสหลัก กำเนิดและพัฒนาการของสันติอโศกร่วมสมัยกับบริบทของพลังคนหนุ่มสาวเดือนตุลา ที่ตั้งคำถามกับอำนาจสถาปนาต่างๆ โดยสันติอโศกมุ่งเป้าที่จะสร้าง “พุทธยูโทเปีย”

แล้วเล่าถึงจุดกำเนิดของสันติอโศกว่า ก่อตั้งโดย มงคล รักพงษ์ หรือ รัก รักพงษ์ ชายหนุ่มผู้เคยมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในวงการโทรทัศน์และดนตรี เขาเคยทำงานเป็นครูสอนศิลปะ นักแต่งเพลง ก่อนจะบวชใน “ธรรมยุติกนิกาย” ที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อ พ.ศ. 2513 โดยได้ฉายา “โพธิรกฺขิโต” หรือ พระโพธิรักษ์

จากนั้นไม่นาน พระโพธิรักษ์ก็เปลี่ยนไปเข้า “มหานิกาย” เมื่อ พ.ศ. 2516 ที่วัดหนองกระทุ่ม จังหวัดนครปฐม เนื่องจากไม่เห็นด้วยเรื่องการแบ่งแยกนิกายของฝ่ายธรรมยุต ที่ทำให้พระสงฆ์ 2 นิกาย ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจร่วมกันได้

พระโพธิรักษ์สร้างธรรมสถานแดนอโศก ที่จังหวัดนครปฐม ต่อมาใน พ.ศ. 2518 จึงประกาศแยกตัวจากมหาเถรสมาคม และเริ่มรับ “นักบวช” ใน พ.ศ. 2519

“สันติอโศก มีกฎเคร่งครัดแตกต่างจากสงฆ์ปกติ อาทิ ห่มจีวรสีกรัก ไม่รับการบริจาค ไม่มีพรมน้ำมนต์ ไม่มีการบูชาด้วยธูปเทียน ไม่มีพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ ความแหวกขนบของชาวสันติอโศกเป็นเหตุให้สำนักนี้ถูก ‘ปกาสนียกรรม’ จากมหาเถรสมาคม กระทั่งได้รับการพิพากษาว่าไม่อาจใช้คำนำหน้าว่า ‘พระ’ ได้ ทุกวันนี้นักบวชของสันติอโศกจึงเรียกขานตนเองว่า ‘สมณะ’

“แต่แม้สันติอโศกจะเผชิญกับอำนาจทั้งฝ่ายศาสนจักรและอาณาจักรมาแล้วหลายครั้ง ทว่า พวกเขาก็ยืนหยัดได้จากความเหนียวแน่นของมวลชนฆราวาส ซึ่งแม้จะเป็นกลุ่มเล็กๆ หากแต่ก็สามารถแปรเปลี่ยนตนเองเป็นพลังสนับสนุนทางการเมืองมาแล้วหลายครั้งนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2520 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน” อาสา ระบุในหนังสือ

เขายังวิเคราะห์ด้วยว่า อาจกล่าวได้ว่า สันติอโศก ภายใต้การนำของ “สมณะโพธิรักษ์” กำเนิดขึ้นจากอารมณ์ความรู้สึกที่ต้องการ “แหวกขนบ” พุทธเถรวาทแบบไทย และหวนกลับไปสู่พุทธศาสนาที่พึงเป็นตามโลกทัศน์ชีวทัศน์ของกลุ่มตน ซึ่งเชื่อว่าจริงแท้ดีกว่า โดยยึดเอาพระธรรมวินัยเป็นฐานผ่านการตีความใหม่ของสมณะโพธิรักษ์

ความเคร่งครัดใน “ศีล” คือข้อเด่นของสันติอโศก เมื่อเปรียบเทียบกับความฟุ้งเฟ้อหย่อนยานในวินัยของพระสงฆ์ในพุทธศาสนาไทย ด้วยเหตุนี้ สำหรับชาวพุทธชนชั้นกลางไทยที่มีความคิดแบบปัญญาชน บางครั้งพวกเขาจึงมองสันติอโศกเป็นแนวร่วมเดียวกัน

นอกจากนี้ สันติอโศกยังมีความเชื่อมโยงกับนักศึกษาฝ่ายหัวก้าวหน้า ว่ากันว่าสมณะบางรูปคืออดีตนักศึกษายุค 6 ตุลาฯ ที่ได้เข้ามามีบทบาทในด้านการศึกษาของสำนักนี้

“มีข้อสังเกตว่า ในความเป็นพุทธยูโทเปีย วิถีปฏิบัติของชาวอโศกเป็นไปในทางระบบ ‘คอมมูน’ ที่พวกเขาจะดำรงชีวิตแบบไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว สิ่งนี้อาจเป็นบุคลิก ‘ฝ่ายซ้าย’ ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ภายหลัง ‘ป่าแตก’ ไม่มากก็น้อย” อาสา วิเคราะห์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อาสา คำภา. ลอกคราบพุทธแท้: ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทยร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2567


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 เมษายน 2567