วัดพระธรรมกาย กับพุทธศิลป์แบบแฟนตาซี ที่สลัดศิลปะไทยประเพณี

มหาธรรมกายเจดีย์ ที่ วัดพระธรรมกาย
มหาธรรมกายเจดีย์ (Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP)

วัด ในพุทธศาสนา เป็นศาสนสถานที่มักนำเสนอศิลปะไทยประเพณีออกมาชัดเจนมากที่สุดสถานที่หนึ่ง แต่ที่ “วัดพระธรรมกาย” กลับมีรูปแบบพุทธศิลป์ที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะส่วน “มหาธรรมกายเจดีย์”

มหาธรรมกายเจดีย์ เริ่มตอกเสาเข็มใน พ.ศ. 2538 เป้าหมายคือการเป็นศูนย์กลางการรวมใจ และการประพฤติปฏิบัติธรรมของชาวพุทธทั่วโลก

อาจารย์ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ผู้เขียนบทความ “การสร้างพื้นที่อภิมหาวิหารและพุทธศิลป์แบบแฟนตาซี ของวัดพระธรรมกาย” อธิบายว่า มหาธรรมกายเจดีย์นี้ทำให้ “นึกถึงมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ กรุงวาติกัน อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และนครเมกกะอันเป็นที่จารึกของชาวมุสลิมนับล้าน สัมพันธ์กับแนวโน้มที่พื้นที่ทางศาสนาและจิตวิญญาณโลกในยุคนี้เปิดกว้างมากขึ้น มหาธรรมกายเจดีย์ถูกวางไว้ให้เป็นพื้นที่อุดมคติ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับอุโบสถอันเป็นสถานที่สำหรับสังฆกรรมของสงฆ์แล้ว อุโบสถกลับมีบทบาทน้อยลงอย่างมาก…”

มหาธรรมกายเจดีย์ แบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ พุทธรัตนะ ได้แก่ ส่วนโดมและพื้นลาดสีทอง, ธรรมรัตนะ เป็นวงแหวนเชิงลาดสีขาว และสังฆรัตนะ เป็นพื้นขั้นบันไดวงแหวนลดหลั่นลงมา 22 ชั้น สำหรับพระสงฆ์ปฏิบัติธรรมและประกอบพิธีจำนวน 10,000 รูป

บริเวณพื้นที่โดยรอบของมหาธรรมกายเจดีย์ วัดพระธรรมกาย ยังประกอบไปด้วย ลานธรรม และมหารัตนวิหารคด ลานธรรมมีโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กผสมพิเศษหล่อเป็นแผ่นพื้น ส่วนมหารัตนวิหารคดเป็นอาคารที่โอบล้อมมหาธรรมกายเจดีย์ ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสข้างละ 1 กิโลเมตร ผนังคอนกรีตเปลือย หลังคาทำด้วยสแตนเลสเป็นทรงพีระมิด มีความสูง 2 ชั้น

อาจารย์ภิญญพันธุ์อธิบายว่า “พุทธศิลป์และการก่อสร้างศิลปวัตถุแบบวัดพระธรรมกายที่มีลักษณะแตกต่างไปจากงานอนุรักษนิยมจารีตประเพณีอย่างพระพุทธรูปแบบสุโขทัยและอยุธยา อาจกล่าวได้ว่าสุนทรียภาพของวัดนี้ได้ถูกให้ความหมายใหม่ โดยก้าวข้ามจากพุทธศิลป์ไทยประเพณีที่ประกอบด้วยระเบียบวิธีการผูกลายไทย การประกอบด้วยสัตว์หิมพานต์ และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่สืบทอดและคลี่คลายมาจากอารยธรรมอินเดียและเขมรโบราณเป็นการออกแบบไปสู่รูปทรงที่สะท้อนความเป็นอุดมคติ เช่น การใช้ลักษณะครึ่งทรงกลม สี่เหลี่ยม จัตุรัส ทั้งในแผนผังและรูปด้านของมหาธรรมกายเจดีย์…”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามหาธรรมกายเจดีย์และพื้นที่โดยรอบแทบไม่ได้นำเสนอความเป็นไทยประเพณีออกมาให้เห็น มหาธรรมกายเจดีย์ไม่มีรูปแบบลักษณะเหมือนเจดีย์ตามแบบจารีตประเพณีนิยม มหารัตนวิหารคดก็ไม่มีหลังคาแบบวัดในพุทธศาสนาทั่วไป

อาจารย์ภิญญพันธุ์เรียกพุทธศิลป์ในรูปแบบของวัดพระธรรมกายนี้ว่า “พุทธศิลป์แบบแฟนตาซี” ซึ่งนอกเหนือจากมหาธรรมกายเจดีย์ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้เสนอศิลปะไทยประเพณีแล้ว พุทธศิลป์ในด้านอื่นของวัดพระธรรมกายก็มีความ “แฟนตาซี” ซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมต่าง ๆ

กล่าวคือ มีการเน้นรายละเอียดที่วิจิตรพิสดาร เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งและยิ่งใหญ่ อาทิ การจัดขบวนในพิธีกรรมหรืองานต่างๆ เช่น งานศพแม่ชีจันทร์ ขนนกยูง-มีเทวรถรูปนกยูง, ธุดงค์ธรรมชัย-ชุดมหาลดาประสาธน์ ชุดของผู้เชิญกฐินคล้ายนางคลีโอพัตราแห่งอียิปต์, กฐินบรมจักรพรรดิ ฯลฯ ในบางงานก็มักจะมีการใช้เทคนิคแสง สี เสียง ประกอบพิธี อันเป็นการแสดงออกทางพุทธศิลป์แบบแฟนตาซีให้ยิ่งใหญ่ตระการตา

อาจารย์ภิญญพันธุ์อธิบายว่าการเลือกใช้องค์ประกอบร่วมสมัยที่สลัดทิ้งลายไทยแบบเดิม ๆ ทำให้เห็นว่าพุทธศิลป์แบบแฟนตาซีนี้มีความแนบแน่นกับวัฒนธรรมประชานิยม อันช่วยตอบโจทย์ให้กับการสร้างสรรค์พื้นที่ใหม่ ๆ ทั้งยังเปลี่ยนรูปแบบองค์ประกอบศิลปะแบบจารีตประเพณีไปสู่งานศิลปะร่วมสมัยที่เข้าใจได้ง่ายกว่า รวมถึงการออกแบบที่ได้แรงบันดาลใจมาจากพาณิชย์ศิลป์อันปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างภาพยนตร์ สารคดี นิยาย ฯลฯ พุทธศิลป์แบบแฟนตาซีจึงเป็นองค์ประกอบในการสร้างโลกอีกใบขึ้นมาซ้อนอยู่กับโลกในชีวิตประจำวันของสาวกวัดพระธรรมกายทั้งหลาย…”

รูปแบบพุทธศิลป์ของวัดพระธรรมกาย มีความแตกต่างจากพุทธศิลป์แบบจารีตประเพณี โดยงานสถาปัตยกรรมถูกออกแบบมาเพื่อรองรับผู้คนจำนวนมหาศาลที่มีการทำกิจกรรมตลอดทั้งปี ทำให้อาคารแต่ละแห่งในวัดต้องมีลักษณะอำนวยความสะดวกแก่การใช้งานและมีความคงทน ขณะเดียวกันต้องสะท้อนแนวคิดและอุดมการณ์ของวัด ซึ่งมีมหาธรรมกายเจดีย์เป็นศูนย์กลาง 

อาจารย์ภิญญพันธุ์กล่าวสรุปว่า “งานด้านทัศนศิลป์ที่เน้นการสร้างความประทับใจด้วยการแสดงออกถึงความมั่งคั่ง วิจิตรพิสดารของผลบุญ และโลกแห่งสวรรค์อันน่าอภิรมย์ กลับหันไปพึ่งพิงกับแนวคิดวัฒนธรรมประชานิยมที่สัมพันธ์กับโลกของการจินตนาการ อันเป็นโลกแห่งความฝันที่ต้องหยิบยืมองค์ประกอบจากจินตนาการที่มักได้อิทธิพลจากงานพาณิชย์ศิลป์ไปด้วย จึงนับเป็นองค์กรศาสนาที่มีการวางแผนและควบคุมการออกแบบได้อย่างมีเอกภาพ สมกับเป็นวัดสมัยใหม่ที่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้อย่างน่าสนใจ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (กันยายน-ธันวาคม 2557). การสร้างพื้นที่อภิมหาวิหารและพุทธศิลป์แบบแฟนตาซี ของวัดพระธรรมกาย. หน้าจั่ว ฉบับที่ 11, จาก https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NAJUA/issue/view/3079


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2564