กำเนิด “วัดพระธรรมกาย” ภายใต้กระแสธารความทันสมัย สู่ศรัทธาแบบ “พุทธพาณิชย์”

มหาธรรมกายเจดีย์ ที่ วัดพระธรรมกาย
มหาธรรมกายเจดีย์ (Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP)

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าพุทธศาสนาเป็นการรับวัฒนธรรมของต่างประเทศเข้ามามิใช่ของดั้งเดิมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉะนั้นแล้ววัฒนธรรมใหม่จึงจำเป็นที่จะต้องถูกปรับเปลี่ยนหรือตีความให้เข้ากับวัฒนธรรมนั้นๆ หรือเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมที่ไม่เคยอยู่นิ่งเฉยตามกาลเวลาของประวัติศาสตร์ รวมถึงศาสนาพุทธในประเทศไทยด้วย

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยสัมพันธ์กับการปรับตัวของพุทธศาสนาด้วย ยิ่งสังคมของประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยเติบโตและขยายตัวเป็นระบบทุนนิยมอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองกับบริบทของเศรษฐกิจของโลก ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์และระบอบคุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสถาบันศาสนา

ส่งผลให้พุทธศาสนามีการเคลื่อนไหวขยับตัวในการตีความกับสภาพแวดล้อมใหม่ผ่านการปฏิรูปการตีความคำสอนพุทธศาสนาให้ทันสมัยอย่างเช่น สันติอโศก, พุทธทาส, วัดพระธรรมกาย เป็นต้น นับว่าการตีความที่ก่อขึ้นใหม่เหล่านี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวามากกว่าการบริหารงานของคณะสงฆ์ของมหาเถรสมาคมที่ต้องการแต่จะเสนอภาพให้พุทธศาสนาไม่มีพัฒนาการตามยุคสมัย

วัดพระธรรมกาย เติบโตขึ้นจากการเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมเล็กๆ จาก “บ้านธรรมประสิทธิ์” ที่ก่อตั้งในช่วง พ.ศ. 2510 นำโดยพระไชยบูลย์ ธมฺมชโย (หลวงพ่อธัมชัยโย) และพัฒนาเป็น “ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม” ซึ่งสามารถสร้างฐานมวลชนได้ในระดับหนึ่ง โดยเน้นคำสอน เรื่อง “วิชาธรรมกาย” จากการค้นพบของพระมงคลเทพมุนี วัดปากน้ำภาษีเจริญ

โดยต่อมาได้มีการขยับขยายพื้นที่จากการได้รับบริจาคที่ดิน ณ ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และเริ่มปักหลักมั่นคงในช่วง 2520 และเป็นปีการก่อตั้ง “วัดพระธรรมกาย” อย่างเป็นทางการ ซึ่งการกำเนิดของวัดพระธรรมกายนั้นเกิดขึ้นภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ความทันสมัย (modernization theory) ที่ศาสนาแบบเดิมถูกมองว่าเป็นตัวถ่วงการพัฒนาทำให้วัดพระธรรมกายมีโครงสร้างองค์กร คำสอนและพิธีกรรมที่สอดคล้องกับความเป็นสมัยใหม่

โดยสภาพเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา พบว่าเป็นช่วงที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตมากขึ้น เพื่อตอบสนองกับการขยายตัวของทุนนิยมและเศรษฐกิจการค้าไทยได้รับประโยชน์จากการลงทุนในต่างประเทศมีผลให้เศรษฐกิจในประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ส่งผลให้วัดพระธรรมกายมีการปรับบทบาทเพื่อสนองกับบริบททางสังคม เห็นได้จากเมื่อเศรษฐกิจและชุมชนขยายตัว ทำให้วัดพระธรรมกายต้องปรับตัวให้เข้ากับเศรษฐกิจโลกด้วยการแก้ปัญหาด้วยวิธีต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่วัด  ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนศาลาการทำบุญจากศาลาจาตุมหาราชิกาที่รองรับคนได้ 500 คน สู่สภาธรรมกายสากลที่สามารถรองรับสาธุชนได้ 30,000-40,000 คน เป็นต้น

การเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในทศวรรษ 2530 ได้ส่งผลให้โลกทัศน์ของประชาชนเปลี่ยนไปในการเข้าสู่สังคมบริโภคนิยมหรือวัตถุนิยมมากยิ่งขึ้น ทำให้สำนึกของปัจเจกบุคคลที่มีต่อศาสนาได้เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากบทบาทของศาสนาที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนในสังคมที่ต่างไปจากเดิม มาอิงกับกระแสของระบบทุนนิยม เห็นได้จากที่ปัจเจกบุคคลมองว่าความเชื่อเรื่องศาสนาเป็นเรื่องที่บันดาลให้มีชีวิตที่ดี และความเป็นอยู่ที่ดี

โดยเฉพาะเรื่องความร่ำรวยที่เป็นผลมาจากตรรกะของระบบทุนนิยม และจากการที่วัดเป็นศูนย์กลางของความคาดหวังของปัจเจกบุคคล ส่งผลให้บทบาทของวัดหันมาให้ความสำคัญกับการสะสมทุนและการแสวงหากำไร กระบวนการแสวงหากำไรบนความศรัทธาจึงเกิดเป็นพุทธพาณิชย์ขึ้นในหลายรูปแบบ ทำให้ในช่วงเวลานี้ วัดพระธรรมกายมีการปฏิรูปองค์กรให้มีลักษณะ “พุทธพาณิชย์” มากยิ่งขึ้นโดยมีการวางโครงสร้างใหม่ในรูปแบบของ “เอกชน” รวมไปถึงคำสอนของวัดพระธรรมกายโดยเน้นการปฏิบัติสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกายควบคู่ไปกับการเน้นการทำบุญด้วยการบริจาคภายใต้กรอบคิด “บริจาคมาก ได้บุญมาก รวยมาก” และมีการระดมทุนบริจาคในรูปแบบ “ขายตรง” ความคิดเรื่องบุญกับความคิดเรื่องทุน-กำไรทางธุรกิจจึงเชื่อมโยงไปด้วยกัน

รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายผู้ปฏิบัติธรรมส่งผลให้วัดพระธรรมกายเติบโตอย่างรวดเร็วและสามารถขยายสาขาของวัดพระธรรมกายทั้งในและต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก และเริ่มเป็นที่นิยมของประชาชนมากขึ้นโดยเฉพาะชนชั้นกลางที่ต้องการที่พึ่งพิงทางจิตใจ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันทั้งด้านธรรมเนียมประเพณี และด้านสังคม

 


อ้างอิง :

อภิญญา เฟื่องฟูสกุล. (2541). ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย. วารสารพุทธศาสน์ศึกษา

ประภาศรี บุญสุข. (2544). คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูงผู้ให้กำเนิดวัดธรรมกาย. ปทุมธานี : กองทุนธรรมทาน.

วันชัย ปักษีเลิศ. (2546). การปรับตัวของคณะสงฆ์ไทย พ.ศ.2464-2544. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร.

วัดพระธรรมกาย. (2557). สภาธรรมกายสากล. [ออนไลน์]. จากhttp://www.dhammakaya.net.

สุรพศ ทวีศักดิ์. (2560). จากพุทธศาสนาแห่งรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กรกฎาคม 2565