มโหธรเทวี นางสงกรานต์ 2567 นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทำไมทัดดอกสามหาว (ผักตบ)

เรื่องที่จะเขียนถึง “มโหธรเทวี” ซึ่งเป็น “นางสงกรานต์” ประจำวันเสาร์ และประจำปี 2567 นี้ มีมูลเหตุมาจากแฟนเพจศิลปวัฒนธรรมท่านหนึ่ง ส่งข้อความหลังไมค์ถามว่า “ถ้ารัชกาลที่ 5 เป็นผู้นำผักตบชวาเข้ามาในไทย แล้วก่อนหน้านี้นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ทัดดอกอะไรครับ? แสดงว่าการแต่งตัวอะไรทำนองนี้เกิดทีหลังใช่ไหมครับ?”

ต่อข้อคำถามนี้ ผู้เขียนก็เกิดความสงสัยเช่นเดียวกัน จึงได้ค้นคว้า และสอบถามผู้รู้จนถึงบางอ้อ ว่าแท้จริงแล้วมันก็แค่เรื่อง “เส้นผมบังภูเขา” แต่ก่อนจะเฉลย มาทำความเข้าใจเรื่องของ “นางสงกรานต์” เสียก่อน

เรื่องนางสงกรานต์ และตำนานสงกรานต์ที่แพร่หลาย และเป็นที่รับรู้ของคนไทยในปัจจุบันนี้นั้น ปรากฏในหลักฐานเก่าแก่ชิ้นหนึ่ง คือ “จารึกเรื่องมหาสงกรานต์” ประดับอยู่ที่คอสองในประธานของศาลาล้อมพระมณฑปทิศเหนือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) จารึกด้วยอักษรไทย ภาษาไทย มีทั้งหมด 7 แผ่น

จารึกเรื่องมหาสงกรานต์สร้างขึ้นเมื่อครั้งบูรณะพระอาราม พ.ศ. 2374 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เนื้อหาของจารึกกล่าวถึงตำนานท้าวกบิลพรหมกับธรรมกุมาร ในการทายปริศนา 3 ข้อ ท้าวกบิลพรหมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้จนต้องตัดเศียรตนเองเป็นการบูชาธรรมกุมาร แต่เศียรจะตั้งไว้บนแผ่นดินไม่ได้ ไฟจะไหม้ ทิ้งไปบนท้องฟ้าก็ไม่ได้ ฝนจะแล้ง 

ท้าวกบิลพรหมจึงตัดเศียรวางไว้บนพานให้นางสงกรานต์ผู้เป็นธิดาเป็นคนเอาพานรับเศียรนั้น แล้วนำไปประดิษฐานในถ้ำคันท์ชุลี ณ เขาไกรลาส และในทุกปีเมื่อถึงวันสงกรานต์ นางสงกรานต์ก็จะหมุนเวียนกันมาอัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่

อย่างไรก็ดี จารึกเรื่องมหาสงกรานต์ที่วัดโพธิ์นี้ ระบุแต่เพียงชื่อของนางสงกรานต์ทั้ง 7 คน ไม่ได้บอกว่าแต่ละนางอาภรณ์อะไร ทัดดอกอะไร นั่งมาบนสัตว์พาหนะใด 

แต่ในหลักฐานอีกชิ้นหนึ่ง คือ จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 ประกาศว่าด้วยเรื่องสงกรานต์ จุลศักราช 1190 ตรงกับ พ.ศ. 2371 ได้ระบุถึง “กิมิทาเทวี” ซึ่งเป็นนางสงกรานต์ของปีนั้น และเป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ พร้อมอธิบายการแต่งกายของนางเอาไว้ ความว่า 

“…พระบรมทินกรเสด็จโคจรจากมีนราศี ประเวศสู่เมษราศี ทางโคณวิถีใกล้พระเมรุราช ขณะนั้นมีนางเทพธิดาองค์หนึ่ง ทรงนามชื่อกิมิทาเทพี มาแต่จาตุมหาราชิณ กรทำกฤษฎาพิมลทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี ประดับอาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จไสยาสน์บรรทมหลับไปเหนือหลังมหิงสพาหนะ…”

หลักฐานทั้ง 2 ชิ้นข้างต้นจึงสามารถยืนยันข้อมูลได้ว่า ความเชื่อเรื่องนางสงกรานต์ และเครื่องแต่งกายของนางสงกรานต์ทั้ง 7 คน มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นอย่างน้อยแล้ว

ต่อข้อคำถามว่า “มโหธรเทวี” นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบ) ล่ะ?

มโหธรเทวี นางสงกรานต์ ปฏิทินธนาคารออมสิน
ปฏิทินธนาคารออมสิน พ.ศ. 2517 นางสงกรานต์ประจำปีคือ นางมโหธรเทวี (ภาพจาก หนังสือ ตรุษสงกรานต์ โดย ส.พลายน้อย)

ผู้เขียน (ยัง) ไม่พบหลักฐานที่ระบุถึงนางมโหธรเทวีทัดดอกสามหาว หรือดอกผักตบ จึงสอบถามไปยัง ผศ. ธนโชติ เกียรติณภัทร อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งในผู้เรียบเรียงหนังสือ “ประเพณีสงกรานต์” (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, 2564) ซึ่งได้ให้คำตอบว่า “ผักตบมีมานานแล้วครับ…ดอกผักตบ ให้เรียก สามหาว ครับ” 

เป็นอันว่า “ดอกสามหาว” ที่นางมโหธรเทวีทัดนั้น ก็คือ ดอกผักตบไทย นั่นเอง มิใช่ดอก “ผักตบชวา” ที่เข้าใจว่าแพร่พันธุ์ในไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ด้วยเพราะการรับรู้ของคนในยุคปัจจุบัน รวมถึงตัวผู้เขียนเอง ที่เหมารวมผักตบทุกชนิดเป็น “ผักตบชวา” ไปเสียหมด จนทำให้ผักตบพันธุ์ท้องถิ่นสูญหายไปจากการรับรู้ของคนไทย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพราะ “ภาพจำ” ในแง่ลบของ “ผักตบชวา” ที่ปรากฏอยู่ให้เห็นทุกเมื่อเชื่อวัน ได้ตอกย้ำข้อมูลอยู่ซ้ำ ๆ ว่า เมื่อพูดถึงผักตบ ก็ต้องเป็น “ผักตบชวา” เท่านั้น

โดยหากย้อนไปดูข้อมูลในยุคร่วมสมัยรัชกาลที่ 3 อย่างใน “นิราศสุพรรณ” ของสุนทรภู่ ท่านก็เคยกล่าวถึง “ผักตบ” เอาไว้ ความว่า

๏ บางหวายท้ายคุ้งช่อง   คลองมี

แดนนครไชยศรี   สุดสริ้น

เข้าแดนสุพันบูรี   รื้อเปลี่ยว เดียวเอย

ทุ่งท่าป่ายุงริ้น   รกเรื้อเบื่อชม ฯ

๏ ชุมนักผักตบซ้อน   บอนแซง

บอนสุพรรณหั่นแกง   อร่อยแท้

บอนบางกอกดอกแสลง   เหลือแหล่ แม่เอย

บอนปากยากจะแก้   ไม่สริ้นลิ้นบอน ฯ

ผักตบที่สุนทรภู่กล่าวถึง ก็คือ ผักตบพันธุ์ท้องถิ่นในไทยนั่นเอง

กลับมาที่เรื่องของนางสงกรานต์อีกสักหน่อย ในหนังสือ “ประเพณีไทย เกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์” (สำนักวัฒนธรรมทางระเบียบประเพณี, 2500) ของพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) ท่านได้ตั้งข้อสังเกตถึงชื่อของนางสงกรานต์เอาไว้ว่า บางชื่อมีความแปลกประหลาด เช่น นางรากษสเทวี แปลว่า นางยักษ์ร้าย, นางกิริณีเทวี แปลว่า นางช้าง และนางมโหธรเทวี แปลว่า นางมีพุงโต

พระยาอนุมานฯ วิเคราะห์ว่า ยากที่จะทราบแน่ชัด ว่าเหตุใดนางสงกรานต์จึงมีชื่อแปลกประหลาด บางทีพวกนางอาจไม่ได้มีรูปร่างอรชรอ้อนแอ้นสะโอดสะองอย่างที่เรามักจินตนาการถึงนางฟ้านางสวรรค์ อาจเป็นความงามอีกหนึ่งอุดมคติในยุคหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ชื่อของนางสงกรานต์อาจเป็นเพียงชื่อเท่านั้น ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับรูปลักษณ์ของพวกนางแต่อย่างใด เพราะเห็นได้จากรูปของนางสงกรานต์ที่ช่างสมัยก่อนเขียนไว้ นางสงกรานต์ก็ต่างมีรูปร่างอรชรอ้อนแอ้น หน้าตางดงามทั้งนั้น

นอกจากนี้ พระยาอนุมานฯ ยังเขียนถึงนางมโหธรเทวีกับดอกไม้ทัดหูของนางไว้ ความว่า “…ในบรรดาดอกไม้ที่ทัดหูมีดอกไม้อยู่ชนิดหนึ่ง ซึ่งจะแปลกหูคนสามัญ คือ ดอกสามหาว จะเรียกชื่ออย่างชาวบ้านเรียกก็เป็นไม่สุภาพ เพราะเป็นชื่ออาการกิริยาอย่างรุนแรงชนิดหนึ่ง ของผู้หญิงกับผู้หญิงชอบใช้เพื่อทะเลาะกัน พูดตรง ๆ ไม่ได้เห็นจะเสียหาย…”

จบเรื่อง “เส้นผมบังภูเขา” เพียงเท่านี้ (ฮา)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน 2567