ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เวลาใครด่าเป็นคุ้งเป็นแคว ด่าแบบสะกดคำว่าเหนื่อยไม่เป็น ด่าจนคนฟังคิดในใจว่าจะหยุดด่ากี่โมง เรามักชม (?) คนเหล่านั้นว่า “เครื่องจักรผลิตคำด่า” ซึ่งถ้าไปดูในวรรณกรรมจีนเรื่อง “สามก๊ก” จะพบการด่าสารพัดแบบ
เริ่มกันที่การด่าแบบน้อยแต่มาก คือใช้ไม่กี่คำจำเจ็บไปจนตาย อย่าง “อ้ายลูก 3 พ่อ” ที่เตียวหุยด่าลิโป้ คำเยอะขึ้นมาหน่อยก็ “ลูกเสือจะแต่งไปอยู่กับลูกหมาได้อย่างไร” ที่กวนอูฝากทูตของซุนกวนกลับไปด่าซุนกวน เพราะขอลูกสาวกวนอูมาเป็นลูกสะใภ้ ไปจนถึงการด่าพ่นไฟที่เน้นปริมาณควบคู่คุณภาพ ฟังแล้วเจ็บจี๊ด ต้องผางออกมารบเพราะทนไม่ไหวก็มีมาแล้ว
“เครื่องจักรผลิตคำด่า” จึงมีความสำคัญด้านกลศึกใน “สามก๊ก” อย่างคาดไม่ถึง
เรื่องนี้ “หลวงเมือง” เขียนในบทความ “ม้ามืด (3)” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2559 ไว้ตอนหนึ่งว่า
หลักที่กองทัพจีนสมัยสามก๊กถือเป็นแนวปฏิบัติที่จะบกพร่องไม่ได้เลยคือ
- หาผู้มีปัญญาไว้เป็นที่ปรึกษา ทั้งด้านทหารและพลเรือน
- ผู้มีฝีมือสำหรับเป็นทหารเสือ
- รู้รักษาเสบียงอาหารและเส้นทางการลำเลียงต่างๆ
- บำรุงขวัญกำลังพลให้ฮึกเหิมและภักดีด้วยบำเหน็จรางวัล
- การข่าวและโต้จารกรรม
- หน่วยสงครามจิตวิทยา คือ แผนกร้องด่าท้าทาย และพักรบ
- สหโภชน์ คือ แผนกทำอาหารเลี้ยงทหารทุกระดับ
ข้อแรก ทั้ง เล่าปี่ โจโฉ และซุนกวน ต่างมีที่ปรึกษาระดับเซียนเหยียบเมฆทั้งสิ้น และผู้เป็นใหญ่ก็นับถือที่ปรึกษาของพวกเขา ยกเว้นกรณีที่เป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ ที่ปรึกษาอาจหมดความสำคัญก็ได้
ส่วนเรื่องการข่าว ทุกก๊กต่างมีฝ่ายข่าวที่มีความสามารถสูง ไม่ว่าฝ่ายเดียวกันหรือฝ่ายตรงข้ามทำอะไร จะไม่รู้หรือรอดหูรอดตาไปได้เป็นไม่มี
มาถึงเรื่องการด่ากันบ้าง ถ้าฝ่ายไหนไม่ออกมารบนานๆ ฝ่ายตรงข้ามจะส่งหน่วยสงครามจิตวิทยา ส่ง “เครื่องจักรผลิตคำด่า” ไปจัดการทันที
“หลวงเมือง” บอกว่า การด่าของกองทัพใน “สามก๊ก” ด่ากันแหลกทุกภาษา ไม่ว่าจะเป็นแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหลำ กวางตุ้ง แคะ เจ้าหน้าที่หน่วยนี้จะต้องชำนาญการด่าอย่างแสบไส้แสบสันต์ที่สุด
คิดดูว่าเครื่องจักรผลิตคำด่าทำงานได้ดีตามที่ได้รับมอบหมายขนาดไหน เพราะขนาด “กวนอู” ที่ป่วยๆ อยู่ ยังทนฟังคำด่าไม่ไหว ถึงกับต้องออกไปรบ
อ่านเพิ่มเติม :
- “อ้ายลูก 3 พ่อ” คำด่าสุดเจ็บแสบจากสามก๊ก ที่เตียวหุยด่าได้ดีจนโลกจำ
- “กาเซี่ยง” กุนซืออัจฉริยะไม่กี่คนในสามก๊ก ที่มีบั้นปลายชีวิตสงบสุข
- ทำไม “ขงเบ้ง” แห่งสามก๊ก ถึงอายุสั้น?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 เมษายน 2567