“อ้ายลูก 3 พ่อ” คำด่าสุดเจ็บแสบจากสามก๊ก ที่เตียวหุยด่าได้ดีจนโลกจำ

ลิโป้ รบกับ กวนอู เล่าปี่ และ เตียวหุย ใน สามก๊ก
ลิโป้ รบกับกวนอู, เล่าปี่ และเตียวหุย

เมื่อเอ่ยชื่อ “เตียวหุย” ในวรรณกรรมเรื่อง สามก๊ก ท่านคงจินตนาการได้ถึง นักรบฝีมือดี มีความซื่อสัตย์ ถือคุณธรรมน้ำมิตร แต่ก็มีนิสัยมุทะลุ บุ่มบ่าม ไม่กลัวใคร โดยนิสัยเตียวหุยไม่ใช่นักพูดที่ดี ไม่ว่าจะพูดจาประจบสอพลอ หรือพูดประชดประชันเป็นเรื่องที่เขาไม่ถนัด ความที่เป็นคนโผงผางหลายครั้งคำพูดคำจาจึงอาจไม่เข้าหูคน

หากครั้งหนึ่งเตียวหุยกลับ “ด่า” ได้ดีจนโลกจำ

แม้เวลาจะล่วงเลยไป คำด่าครั้งนั้นของเตียวหุยก็ยังใช้เป็นสำนวนเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน เพราะด่าได้รัดกุม เนื้อหาถูกต้องตามหลักฐาน ตามแบบนักรบ ผู้ถูกด่าจำนนเหตุที่จะโต้เถียง ได้แต่จำกลืนเลือด ประโยคทองที่เตียวหุยร้องด่า ก็คือ “อ้ายลูก 3 พ่อ”

ถึงตรงนี้หลายท่านร้องอ๋อเลย แต่ขออนุญาตขยายสักนิดเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับวรรณกรรมจีน

เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้น ณ ด่านกิสุยก๋วน สามก๊ก สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) บันทึกว่า

“ฝ่ายลิโป้ขับม้าไล่ตาม ครั้นใกล้เข้าเงื้อทวนขึ้นจะแทง พอเตียวหุยหยุดควบม้าเข้าสกัดตัดหน้าม้าลิโป้ไว้ แล้วร้องตวาดด้วยเสียงอันดัง ม้าลิโป้นั้นตกใจถอยหลังออกไปเปนหลายก้าว

เตียวหุยจึงร้องด่าว่า อ้ายลูก 3 พ่อ กูมารบกับมึงเหตุใดขึ้นชักมาถอยไป

ลิโป้ได้ยินก็โกรธจึงขับม้าเข้ารบกับเตียวหุยถึง 50 เพลง ก็มิได้แพ้ชนะกัน กวนอูเห็นดังนั้น กลัวว่ากำลังเตียวหุยจะน้อยกว่าลิโป้ จึงขับมาเข้ารบด้วยลิโป้ได้ 30 เพลง เล่าปี่จึงขับม้าถือกระบี่เข้ามาช่วยรบ…” (เน้นคำโดยผู้เขียน)

เหตุการณ์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ลิโป้ฝีมือดีขนาด กวนอู, เตียวหุย และเล่าปี่ ใช้ 3 รุม 1 ยังทำได้แค่ไล่ลิโป้หนีไปเท่านั้น แต่จับลิโป้ไม่ได้ ในสามก๊ก ลิโป้ จึงได้ชื่อว่าเป็นนายทหารฝีมือเป็นเลิศคนหนึ่ง จนมีคำกล่าวว่า “ยอดคนต้องลิโป้ ยอดม้าต้องเซ็กเธาว์”  ในด้านรูปร่างหน้าตาก็สมชายชาติทหาร องอาจผ่าเผย

แต่กลับเป็นบุรุษผู้ไร้คุณธรรม ชั่วชีวิตก่อร่างสร้างตัวด้วยวิธี “กินบนเรือน ขี้รดบนหลังคา”

ส่วนคำว่า “อ้ายลูก 3 พ่อ” หรือที่ในภาษาจีนใช้ว่า “อ้ายเด็ก 3 แซ่” นั้นเพราะลิโป้มีคนที่นับถือเป็นพ่อถึง 3 คน  1. พ่อผู้กำเนิด  2. เต๊งหงวน-พ่อบุญธรรม 3. ตั๋งโต๊ะ-พ่อบุญธรรม ฟังดูก็น่าดีใจที่มีคนอุ้มชูเป็น “พ่อ” มากขนาดนี้ แต่ความจริงไม่ใช่

ลิโป้เมื่อเป็นหนุ่มเริ่มทำงานด้วยการเป็นเสมียนเล็ก จนเป็นที่วางใจของเต๊งหงวน และรับเขาเป็นบุตรบุญ ธรรม แต่เมื่อตั๋งโต๊ะต้องการยึดกำลังทหารของเต๊งหงวนและกำจัดเขาทิ้ง ได้ซื้อลิโป้ด้วยเห็นว่าเป็นคนฝีมือดี โดยให้ม้าเซ็กเธาว์และเสื้อเกราะทองเป็นการตอบแทน ลิโป้ก็ทรยศฆ่าเต๊งหงวนตาย

จากนั้นลิโป้ก็มาอยู่กับตั๋งโต๊ะ ภายหลังตั๋งโต๊ะรับลิโป้เป็นบุตรบุญธรรม ลิโป้ผู้นี้ก็ทรยศตั๋งโต๊ะ เพราะหลง กลสาวงามของอ้องอุ้นที่เอาเตียวเสียนมาล่อหลวงให้เกิดการผิดใจกันระหว่างพ่อ-ลูก สุดท้ายลิโป้สังหารตั๋งโต๊ะตาย แต่ลูกน้องของตั๋งโต๊ะไล่ล่าลิโป้ ลิโป้ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ จึงหนีไปหาอ้วนสุดที่ลำหยงหวังไปเอาความดี ความชอบ เพราะตั๋งโต๊ะเคยฆ่าคนในตระกูลอ้วนสุดหลายสิบชีวิต

อ้วนสุดรับรองลิโป้อย่างดี แต่อยู่กันได้มานานก็เกิดผิดใจกัน ลิโป้จึงย้ายไปอยู่กับเมืองต่างๆ ที่พอจะอาศัยได้ไปเลย ขณะที่ลิโป้กำลังไร้ที่พักพิงก็เกิดได้ลาภลอยก้อนใหญ่ นั่นคือ ตันก๋งยก “เมืองกุนจิ๋ว” ให้ ลิโป้เป็นนักรบมาตลอดชีวิตแต่ไม่มีเมืองของตัวเอง ครั้งนี้นับว่าโชคดีเป็นที่สุด เพียงแต่ว่า เมืองกุนจิ๋วนั้นเป็นฐานที่มั่นของโจโฉ มีหรือโจโฉจะยินยอม

ลาภลอยที่ลิโป้แสนจะยินดี จึงกลายเป็น “ทุกขลาภ”

ในที่สุดก็มีข่าวว่า โจโฉยกทัพกลับมาจากซีจิ๋วเพื่อปราบลิโป้ การรับมือกับโจโฉไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องหาคนช่วย แต่อ้วนสุดและอ้วนเสี่ยวต่างก็เอือมระอากับลิโป้ มีแต่เล่าปี่จำใจรับลิโป้ เพราะเมื่อโจโฉยกทัพกลับจากซีจิ๋ว เพื่อมาปราบลิโป้  โตเกี๋ยมเจ้าเมืองซีจิ๋วก็ล้มป่วยเสียชีวิต โดยก่อนหน้าได้ยกเมืองซีจิ๋วให้กับเล่าปี่ เล่าปี่จึงต้องการลิโป้มาเพิ่มกำลังให้กับเมืองเล็กๆ ของตน

คำพูดยุคปัจจุบันที่ว่า “เหยียบไหล่คนอื่นขึ้นมา” น้อยไปสำหรับลิโป้

เมื่อเล่าปี่ลงใต้ไปไหวอิน ลิโป้ซึ่งเล่าปี่สั่งให้เฝ้าเสียวพ่ายก็ยอมให้อ้วนสุดซื้อตัว ทรยศเล่าปี่ยกทัพลงไปบุก “แห้ฝือ” ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางอำนาจของซีจิ๋ว เล่าปี่ไม่เพียงเสียเมือง ลูกเมียก็ตกเป็นตัวประกัน เล่าปี่จำต้องกลับไปขอร้องลิโป้ ลิโป้ก็ให้เล่าปี่อยู่ที่เสียวพ่ายเช่นที่ตนเคยอยู่

เล่าปี่พยายามรวบรวมกำลังพล แต่ลิโป้ก็ส่งทหารมาตีเสมอ ขณะที่โจโฉส่งแฮหัวตุ้นมาช่วยเล่าปี่ แต่ก็ถูกฝ่ายลิโป้ตีแตก เล่าปี่จึงได้แต่มาเข้ากับโจโฉ ส่วนลิโป้สุดท้ายก็ถูกโจโฉจับได้ ลิโป้กล่าวขอให้โจโฉไว้ชีวิต ตนจะทำงานสนองคุณให้ได้ครองแผ่นดิน โจโฉจึงหันมาถามความเห็นจากเล่าปี่ เล่าปี่ก็ตอบว่า

“ครั้งเต๊งหงวนกับตั๋งโต๊ะตายนั้นท่านก็รู้แจ้งอยู่ เปนไฉนจึงกลับมาย้อนถามหารือข้าพเจ้าฉนี้เล่า”

นี่คือตัวอย่างคลาสสิคจากวรรณกรรมจีนในอดีต ที่ยังใช้ได้ในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

สามก๊ก สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

หลี่อันสือ-เขียน, นวรัตน์ ภักดีคำ และจันทรัตน์ สิงห์โตงาม-แปล. วีรบุรุษสามก๊ก 24 ขุนศึกผู้เป็นเลิศ,  สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2562