ทำไม “ขงเบ้ง” แห่งสามก๊ก ถึงอายุสั้น?

ภาพวาด ขงเบ้ง ขี่ม้า ตาม เล่าปี่
ภาพวาดสมัยราชวงศ์หมิง (ซ้าย) ขงเบ้งขี่ม้าตามเล่าปี่ลงจากเขา เมื่อเล่าปี่ไปเชิญเป็นครั้งที่ 3

ขงเบ้ง เป็นที่ปรึกษาของ เล่าปี่ ใน พงศาวดารสามก๊กจี่ ภาคจ๊กก๊ก บทประวัติขงเบ้ง บรรยายว่า ขงเบ้งเคยส่งทูตไปพบ สุมาอี้ แต่สุมาอี้ไม่ได้ถามเรื่องการทหาร แต่กลับถามไถ่เรื่องการกินอยู่หลับนอน ชีวิตประจำวัน และการทำงานของขงเบ้งอย่างละเอียด ทำให้รู้ว่า ขงเบ้งเป็นคนนอนดึกตื่นเช้า กินอาหารไม่ได้มาก ทำงานทุกอย่างด้วยตัวเอง เป็น “เดอะ แบก” แบกภาระหนักเกินคาด

เมื่อรู้อย่างนี้ สุมาอี้ จึงฟันธง (แช่ง?) ว่า ขงเบ้งต้องตายในไม่ช้าแน่นอน!

เหตุผลที่ สุมาอี้ คู่ศึกคนสำคัญของขงเบ้ง หาญกล้ากล่าวอย่างนี้ เพราะหากดูตามหลักการแพทย์ของจีน โรคทั้งหลายเกิดจาก “ชี่” คือพลังลมปราณที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย

ไม่ว่ามนุษย์อยู่ในอารมณ์ความรู้สึกแบบไหน ล้วนส่งผลต่อชี่ทั้งสิ้น ความโกรธทำให้ชี่พุ่งสูง, ดีใจทำให้ชี่เฉื่อยช้า, โศกเศร้าทำให้ชี่สลาย, กลัวทำให้ชี่ตก เป็นต้น

ความรู้ของคนจีนโบราณ จึงให้ความสำคัญกับการถนอมรักษาจิตใจ อย่างที่ “คัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง” บันทึกว่า อารมณ์ทั้งหลาย เช่น ดีใจ โกรธ ทุกข์ร้อน หมกมุ่น โศก เศร้า กลัว ตื่นเต้นตกใจ เป็นสาเหตุสำคัญของความเจ็บป่วย ดังมีคำกล่าวว่า “โกรธทำลายตับ ดีใจทำลายหัวใจ หมกมุ่นทำลายม้าม ทุกข์ร้อนทำลายปอด กลัวทำลายไต”

เมื่อถนอมรักษาจิตใจเป็นอย่างดีก็จะส่งผลให้สุขภาพกายดีไปด้วย โดยจีนโบราณเน้นการดูแลตัวเองให้สอดคล้องกับแต่ละฤดูกาล ตามที่คัมภีร์หวงตี้เน่ยจิงแนะนำว่า

ฤดูใบไม้ผลิ สรรพสิ่งกลับฟื้นคืนชีพ คนจึงสามารถนอนดึกตื่นเช้าได้พร้อมกับ “เดินออกกำลังในลานบ้าน” เดินให้มากสักหน่อยก็จะช่วยบำรุงร่างกาย, ฤดูร้อน อากาศร้อน ฉะนั้น คนควรรักษาจิตใจให้สงบ ระวังอย่าให้เกิดอารมณ์ใดๆ, ฤดูใบไม้ร่วง ควรนอนหัวค่ำตื่นเช้า พอไก่ขันก็ลุกจากที่นอน, ฤดูหนาว อากาศเย็นยะเยือก ควรนอนหัวค่ำตื่นสาย การปฏิบัติเช่นนี้แสดงถึงหลัก “วสันต์และคิมหันต์บำรุงหยาง สารทและเหมันต์บำรุงยิน”

ในคัมภีร์ยังบอกอีกว่า “ดูนานทำลายเลือด นอนนานทำลายพลัง (ชี่) นั่งนานทำลายกล้ามเนื้อ ยืนนานทำลายกระดูก เดินนานทำลายเอ็น” คนเราจึงต้องออกกำลังอย่างพอดีทั่วถึงทุกส่วน

ขงเบ้งรู้ดีว่า การทำงานหนักทำลายสุขภาพให้พังแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถละเลยภารกิจ เพราะทั้งชีวิตของเขาคิดแต่เรื่องปราบวุยก๊ก พร้อมๆ ไปกับระวังง่อก๊กฉวยโอกาส ทำให้กินนอนไม่เป็นสุข ยิ่งหลังจากเล่าปี่เสียชีวิต ขงเบ้งยิ่งต้องรับบทหนัก สุขภาพจึงย่ำแย่ลงเรื่อยๆ นำสู่วาระสุดท้ายในวัยราว 53 หรือ 54 ปี

ถึงอย่างนั้น ขงเบ้ง กุนซือคนสำคัญก็ยังไว้ลาย จนเป็นที่มาของประโยคอันลือลั่นว่า “ขงเบ้งคนตาย หลอกสุมาอี้คนเป็น”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

หลี่ฉวนจวินและคณะ (เขียน), ถาวร สิกขโกศล (แปล), 101 คำถามสามก๊ก. สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2567