ศึกสุดท้ายของขงเบ้ง “ขงเบ้งคนตาย หลอกสุมาอี้คนเป็น”

การสู้รบระหว่างก๊กต่างๆ ใน สามก๊ก (ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊ก ในวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร ภาพจากศิลปกรรรม วัดบวรนิเวศวิหาร, 2528)

ระหว่าง พ.ศ. 771-774 “ขงเบ้ง” ยกพลขึ้นเหนือไปโจมตีวุยก๊กของโจโฉ ถึง 4 ครั้งติดกัน แต่ก็เกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นทุกครั้ง จึงไม่อาจบุกไปยังกวนจงและเข้าประชิดลกเอี๋ยงได้ ขงเบ้งสรุปเหตุของการล้มเหลวว่า เกิดจากการขาดเสบียง และปัญหาการขนส่ง

ขงเบ้งจึงชะลอการโจมตีไว้ก่อน เพื่อพักบำรุงกองทัพไปพร้อมกับทำการเพาะปลูก เป็นการสะสมอาหารของกองทัพและแก้ปัญหาเสบียง ปัญหาต่อไปคือการขนส่ง มีคำกล่าวอยู่ ว่า “เส้นทางสู่จ๊กก๊กยากลำบากยิ่งกว่าทางขึ้นสวรรค์” แม้จะมีวัวและม้าใช้ขนเสบียงและยุทโธปกรณ์ แต่เส้นทางทุรกันดารนัก ขงเบ้งจึงประดิษฐ์ม้ากลมาเป็นเครื่องทุ่นแรง ปัญหาการขนส่งจึงลดลงไปไม่น้อย

หลังจากเตรียมการมานานครึ่งปี การโจมตีภาคเหนือเป็นครั้งที่ 5 ก็เกิดขึ้นใน พ.ศ. 777

กองทัพหนึ่งแสนนายของเขาใช้เส้นทางหุบเขาเสียกู่ และตั้งค่ายทหารอยู่ที่ทุ่งงอเจี๋ยงใกล้กับอู่กง เพื่อทำสงครามยืดเยื้อกับวุยก๊ก ครั้งนี้ขงเบ้งเตรียมความพร้อมมาอย่างดี นอกจากมีเสบียงอาหารมาพรั่งพร้อม ยังกระจายกำลังทหารไปทำไร่ไถนาเพื่อผลิตอาหารเพิ่มอีกด้วย

นอกจากนี้ ขงเบ้งยังนัดหมายกับง่อก๊กของซุนกวนให้ร่วมกันโจมตีวุยก๊กพร้อมกัน ทหารจ๊กก๊กบุกจากทางเหนือ ทหารง่อก๊กบุกจากทางใต้ จากเดิมที่การโจมตีหลายครั้งนั้น มีแต่กองทัพจ๊กก๊ก

ครั้งนี้เมื่อต้องรับศึกพร้อมกันสองด้าน พระเจ้าโจยอยจึงสั่งให้ “สุมาอี้” ไปรับมือขงเบ้ง ส่วนตนเองนำกองทัพไปรับศึกกับง่อก๊ก กองทัพง่อก๊กซุนกวนนำทัพมาเอง นอกจากนี้ยังส่งลกซุนและซุนเสียวนำทหารทัพละหมื่นนายกระจายออกไปทางซ้ายและขวา เพื่อเข้าตีเมืองซงหยงและห้วยอิน

แต่การเดินทัพของซุนกวนในครั้งนี้ไม่ได้มีความตั้งใจสักเท่าใด และเมื่อทราบว่าโจยอยจะนำทัพมาด้วยตนเอง จึงตัดสินใจว่าถอนทัพกลับ เมื่อทัพใหญ่ถอนทัพ ทัพเล็กของลกซุนและซุนเสียวจึงจำเป็นต้องถอนตาม ความร่วมมือทางทหารจากง่อก๊กจึงยุติลงตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น

อีกด้านหนึ่ง สุมาอี้เจอกับขงเบ้ง จากประสบการณ์ความพ่ายแพ้เมื่อครั้งก่อนๆ ครั้งนี้สุมาอี้จึงปิดประตูเมือง “ยื้อเวลา” ไม่ว่าขงเบ้งจะยั่วยุอย่างไรก็นิ่งเฉย

ทั้งคู่ไม่มีใครยอมใคร ยื้อสถานการณ์อยู่นาน 100 กว่าวัน ขงเบ้งจึงให้คนส่งเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับสตรีไปให้สุมาอี้ เพื่อกระทบกระเทียบสุมาอี้ว่า ขี้ขลาด ไม่กล้ารบ ไม่ใช่ลูกผู้ชาย สุมาอี้ยังคงนิ่งเฉย แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาเริ่มคับแค้นใจอยากทำศึก สุมาอี้จึงอ้างพระเจ้าโจยอยว่า

“ใช่ว่าข้าไม่ยอมออกรบ แต่เป็นเพราะว่าก่อนออกเดินทาง ฮ่องเต้สั่งไว้แล้วว่าให้เฝ้าอย่างเดียวไม่ให้ออกรบ หากทุกท่านเห็นว่าควรตอบโต้ ก็ไปขออนุญาตจากฮ่องเต้แล้วกัน”

ก่อนหน้านั้น เนื่องจากพระเจ้าโจยอยเห็นว่าฝ่ายตนเคยพ่ายแพ้จนถึงขั้นเสียเตียวคับมาแล้ว เห็นว่าขงเบ้งผู้นี้ฝีมือไม่ธรรมดา ครั้งนี้จึงเน้นย้ำไว้ว่า

“ให้เสริมการป้องกันอย่างแน่นหนา ค่อยๆ บั่นทอนความฮึกเหิมของข้าศึก ทำให้ข้าศึกตีไม่ได้และไม่ยอมถอย เมื่อเวลายืดเยื้อ ข้าศึกก็จะขาดเสบียง เมื่อการสนับสนุนเสบียงทำได้ยากลำบาก สุดท้ายก็ต้องถอยอยู่ดี เมื่อข้าศึกร่นถอย เราก็ไล่ล่า ชัยชนะก็จะได้มาโดยง่ายดาย”

การใช้วิธีป้องกันเมืองโดยไม่ออกรบ จึงเป็นความต้องการที่ตรงกันทั้งของสุมาอี้และพระเจ้าโจยอย ดังนั้นพระเจ้าโจยอยจึงให้ขุนนางที่ชื่อซินผี อัญเชิญตราอาญาสิทธิ์แห่งองค์ฮ่องเต้ออกไปเพื่อควบคุมเหล่าขุนศึก การโต้เถียงเรื่องจะออกรบหรือไม่จึงยุติลง

หากกลศึกเช่นนี้ไม่อาจตบตาขงเบ้งไม่ได้ เมื่อเกียงอุยซึ่งเป็นขุนศึกแห่งจ๊กก๊กเห็นว่าซินผีมาพร้อมกับตราอาญาสิทธิ์ของโจยอย จึงแจ้งขงเบ้งว่า “เมื่อซินผีมาถึงเห็นทีข้าศึกคงจะไม่ยอมออกศึกเสียแล้ว”

ขงเบ้งยิ้มเยาะรู้ทันลูกไม้ของสุมาอี้ จึงตอบว่า “สุมาอี้นั้นไม่อยากรบอยู่แล้ว ที่เสนอให้ขอออกรบเป็นเพียงการแสดงละครให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดูว่า เขาต้องการรบแต่รบไม่ได้เท่านั้นเอง มีคำกล่าวอยู่ว่า แม่ทัพนำทัพออกทำศึกในที่ไกลโพ้น ใช่ว่าจะต้องรอคำสั่งจากส่วนกลางทุกอย่างหากเขาต้องการรบจริงๆ ยังจำเป็นต้องขออนุญาตจากส่วนกลางที่อยู่ไกลนับพันลี้หรอกหรือ”

ขณะเดียวกันสุมาอี้ก็กำลังดูเชิงขงเบ้ง ไม่กี่วันต่อมาขงเบ้งส่งทูตมาอีก สุมาอี้ก็ให้การต้อนรับอย่างอ่อนน้อมเช่นเคย แต่ครั้งนี้เขาไม่พูดเรื่องการรบเลย แต่กลับถามไถ่ชีวิตความเป็นอยู่ของขงเบ้ง ทูตตามไม่ทันสุมาอี้ จึงตอบไปตามตรงว่า

“ท่านแม่ทัพขงเบ้งตื่นเช้าแต่นอนดึกทุกวัน ต้องดูแลทุกอย่างไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ แม้แต่เรื่องทหารถูกลงโทษด้วยการโบยยี่สิบครั้งเขายังคอยถาม เนื่องจากทำงานจนเหนื่อยเกินไป จึงไม่ค่อยเจริญอาหารนัก แต่ละมื้อกินได้น้อยมาก”

หลังจากทูตจากไป สุมาอี้พูดกับผู้ติดตามว่า เห็นทีขงเบ้งจะอยู่ได้อีกไม่นาน

สุมาอี้รู้ว่าตนสู้ขงเบ้งไม่ได้จึงเลือกใช้กลยุทธ์ “หลีกเลี่ยงการปะทะในยามที่ข้าศึกแข็งแกร่ง เพื่อรอให้ข้าศึกอ่อนแอ” ที่ต้อง “รอให้ข้าศึกอ่อนแอ” เพราะว่าไม่สามารถหาจุดอ่อนที่จะโจมตีขงเบ้งได้เลย แต่หากไม่มีขงเบ้งแล้ว จ๊กก๊กก็เป็นเรื่องง่ายสำหรับเขา

ครั้งนี้สุมาอี้ประเมินสถานการณ์ไว้ถูกต้อง กองทัพจ๊กก๊กนั้นขาดแคลนคนมีฝีมือมาโดยตลอด ขงเบ้งไม่ใช่คนหวงอำนาจ แต่เขาเป็นคนระแวดระวัง เมื่อไม่มีผู้ใต้บังคับบัญชาคนใดที่ไว้ใจให้รับหน้าที่ใหญ่ได้ เพื่อป้องกันเกิดข้อผิดพลาด ก็ต้องหักโหมทำทุกอย่างด้วยตนเอง สุขภาพเขาจึงย่ำแย่ลง

ในที่สุดขงเบ้งก็ล้มป่วยจริงดังสุมาอี้คาดการณ์ และเป็นการป่วยที่ขงเบ้งเองก็รู้ว่าตนเองไม่ไหวอีกแล้ว

หากขงเบ้งก็ยังวางแผนส่งกองทัพหนึ่งแสนนายของจ๊กก๊กให้ถอนทัพกลับอย่างปลอดภัย เขาเลือกเอียวหงีเป็นผู้บัญชาการในการถอนทัพกลับ เอียวหงีนำกองทัพกลับไปยังฮันต๋ง โดยปฏิบัติตามคำสั่งก่อนตายของขงเบ้งอย่างเคร่งครัด

เมื่อสุมาอี้เห็นความเคลื่อนไหวของทหารจ๊กก๊กทั้งที่มั่นใจว่า ขงเบ้งเสียชีวิตแล้ว ข้าศึกก็อ่อนแอ เขาสั่งให้ทหารบุกเข้าไปตีจ๊กก๊ก คาดไม่ถึงว่าทหารจ๊กก๊กไม่เพียงไม่เร่งฝีก้าวหลบหนี แต่กลับหันหน้ากลับมาสู้ ทั้งลั่นกลองรบดังกระหึ่ม ทำทีจะขอรบให้ถึงที่สุด นี่กลับเป็นสิ่งที่สุมาอี้คาดไม่ถึง และทำให้เกิดความลังเล

สุมาอี้คิดว่าขงเบ้งอาจยังไม่ตาย ไม่เพียงไม่ตายเท่านั้น หากยังใช้อุบายหลอกให้เขาออกรบ เมื่อคิดได้ดังนั้นสุมาอี้ตกใจมาก สั่งให้ถอนทัพไม่กล้าเข้าใกล้อีก ในที่สุดทหารจ๊กก๊กจึงถอนทัพกลับไปได้อย่างปลอดภัย

ทหารจ๊กก๊กถอนทัพกลับไปจนหมดแล้ว แต่สุมาอี้ยังไม่รู้ตัว จนหลายวันต่อมา สุมาอี้ถึงกล้าเดินทางมายังค่ายของทหารจ๊กก๊ก เมื่อเขาได้เห็นสิ่งของต่างๆ ที่ขงเบ้งใช้ในการบัญชาการกองทัพ และเอกสารราชการต่างๆ ที่หลงเหลือไว้ เขาอดไม่ได้ที่จะชื่นชมความสามารถของขงเบ้งและอุทานออกมาว่า “ช่างเป็นอัจฉริยบุรุษในใต้หล้าจริงๆ”

ขณะนี้สุมาอี้ถึงแน่ใจว่าขงเบ้งตายแล้วจริงๆ แต่จะไล่ล่าข้าศึกตอนนี้ก็ไม่ทันเสียแล้ว สงครามครั้งนี้ สุมาอี้คิดแผนทำลายข้าศึกมาเป็นอย่างดี สุดท้ายกลับต้องคว้าน้ำเหลว

ที่สำคัญยังเป็นเรื่องน่าอับอายที่สุดของสุมาอี้ ที่เขาถูกขงเบ้งที่ตายไปแล้วปั่นหัวเล่น ปล่อยให้ข้าศึกถอนทัพกลับไปอย่างลอยหน้าลอยตา เมื่อเรื่องนี้แพร่ออกไป ผู้คนบ้างหัวเราะเยาะ บ้างเหน็บแหนมว่า “ขงเบ้งคนตาย หลอกสุมาอี้คนเป็น”

สุมาอี้ก็ทำได้เพียงพูดแก้เก้อว่า “ข้ารู้ทันคนเป็น แต่ไม่อาจเดาใจคนตาย”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หลี่อันสือ-เขียน, เกียรติศักดิ์ ฟงปรีชากุล-แปล. สงครามสามก๊ก 26 ยุทธวิธีสู่ชัยชนะ, สำนักพิมพ์มติชน, มกราคม 2558.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม 2565