ผู้เขียน | เสี่ยวจิว |
---|---|
เผยแพร่ |
เหตุใด “เตียวคับ” ใน “สามก๊ก” ถึงเป็นแม่ทัพที่ยัดเยียดคำว่าปราชัยให้ “ขงเบ้ง” ได้รู้ซึ้ง?
ในวรรณกรรม สามก๊ก นั้น “ขงเบ้ง” ปราดเปรื่องรอบรู้สรรพวิทยา ไม่ว่าจะเป็นพิชัยสงคราม, คำนวณเรื่องฟ้าฝน, กลอุบายที่ใช้ล่วงฝ่ายตรงข้าม ฯลฯ แม้แต่จิวยี่ที่ตัวจริงเก่งทั้งบุ๋นบู๊ (ในวรรณกรรม) ยังแพ้ให้ขงเบ้งจนแค้นกระอักเลือดตาย, สุมาอี้เองก็เคยหลงกลขงเบ้งมาที่ถูกตีพ่ายมีกำลังแค่หยิบมือ ทำใจดีสู้เสือเปิดประตูเมือง ดีดพิณบนป้อมอย่างปลอดโปร่ง จนสุมาอี้คิดว่าเป็นกลลวงจึงยกทัพกลับไม่เข้าตี
แต่ “เตียวคับ” ผู้เป็น “แม่ทัพ” อ่านขงเบ้งออก และทำศึกชนะขงเบ้ง
เตียวคับ เกิดที่ตำบลเจิ้ง เมืองโฮกั้นแห่งเอ๊กจิ๋ว เป็นแม่ทัพรองปราบศึกในสังกัดอ้วนเสี้ยว สร้างผลงานหลายครั้งแต่อ้วนเสี้ยวไม่เคยมองเห็นความสำคัญ ไม่ได้รับการยกย่อง พ.ศ. 743 เมื่ออ้วนเสี้ยวทำศึกชี้เป็นชี้ตายในสงครามกัวต๋อ ช่วงแรกอ้วนเสี้ยวได้เปรียบ แต่เตียวคับมองว่าแม้โจโฉจะมีแม่ทัพและกำลังทหารน้อยมาก แต่มียุทธวิธีและสติปัญญาดี หากทำศึกปะทะกันตรงๆ น่าจะไม่ดีนัก จึงเตือนอ้วนเสี้ยวว่า
“ท่านแม่ทัพแม้จะมีชัยหลายครั้ง แต่จะทำศึกตรงๆ กับโจโฉเกรงว่าไม่เหมาะนัก ควรแอบจัดกำลังทหารม้าส่วนหนึ่งเร่งไปบุกรังฮูโต๋ของโจโฉ เพื่อตัดทางมิให้มีทัพหนุนมาช่วย เมื่อโจโฉไม่มีกองหนุน ศึกตรงหน้าก็ตีไม่แตก จะถอยก็ถอยไม่ได้ ต่อให้ไม่รบก็ต้องแพ้อยู่ดี”
แต่อ้วนเสี้ยวประเมินตัวเองสูงเกินไป จึงปฏิเสธเตียวคับ
ขณะที่โจโฉกลับทำตามข้อเสนอของเขา รับนำกำลังทหารไปตีตำบลอัวเจ๋าทันที เตียวคับรู้ดีว่าอิเขงแม่ทัพที่รักษาอัวเจ๋าต้านโจโฉไม่ไหวแน่ และอัวเจ๋าก็เป็นที่เก็บเสบียงของอ้วนเสี้ยว หากเสบียงโดนชิงกองทัพจะทำศึกต่อได้อย่างไร เขาจึงเตือนอ้วนเสี้ยวให้รับส่งทัพใหญ่ไปช่วยอัวเจ๋า ก็โดนกุนซือกัวเต๋าคัดค้าน
อ้วนเสี้ยวไม่ฟังเตียวคับเช่นเคย แต่เชื่อคำของกัวเต๋า แทนที่จะแบ่งกำลังทหารม้าบางส่วนไปช่วยอิเขง กลับทุ่มเทกำลังทหารทั้งหมดไปตีค่ายโจโฉ ผลก็คือ อิเขงโดนโจโฉตีพ่ายแพ้ถูกฆ่าตาย และทหารอ้วนเสี้ยวก็ตีค่ายโจโฉไม่แตก กองกำลังสองฝ่ายล้วนพ่ายศึก เป็นเหตุให้ทหารฝ่ายอ้วนเสี้ยวเสียกำลังใจ กัวเต๋าเห็นแผนของตนไม่สัมฤทธิผลก็เบี่ยงเบนความสนใจ หันกลับใส่ร้ายเตียวคับว่า
“พอเตียวคับได้ฟังว่าเราพ่ายแพ้ก็ปรบมือดีใจเป็นการใหญ่”
เมื่อเสนอความเห็นแล้วไม่รับฟัง เสนอแผนการให้ก็ไม่สนใจ ผู้อื่นเสนอแผนไม่ได้เรื่อง ตนกลับกลายเป็นแพะรับบาป เตียวคับจึงไปเข้ากับโจโฉ
เตียวคับอยู่กับอ้วนเสี้ยว 9 ปีไม่เคยได้รับความสนใจเท่าที่ควร แต่เมื่อไปอยู่กับโจโฉ โจโฉต้อนรับอย่างดี และเขาได้รับแต่งตั้งเป็นแม่ทัพฝ่ายหนุน เตียวคับจึงเหมือนปลาได้น้ำ ไม่ใช่จอกแหนที่ล่องลอยอยู่ในสระอย่างแต่ก่อน ระหว่างที่โจโฉทำศึกรวมภาคเหนือเป็นปึกแผ่น เตียวคับร่วมรบด้วยแทบทุกสมรภูมิ สร้างความดีความชอบครั้งแล้วครั้งเล่า
เมื่อเล่าปี่ตั้งค่ายประจันหน้ากับทัพโจโฉนั้น แม้ว่าแฮหัวเอี๋ยนจะเป็นแม่ทัพหลัก แต่เล่าปี่ไม่ได้เห็นว่าแฮหัวเอี๋ยนเป็นคู่ต่อสู้ด้วย กลับไปหวาดหวั่นกับเตียวคับแทน เมื่อแฮหัวเอี๋ยนโดนฮองตงตัดหัวตายไปนั้น ปฏิกิริยาของเล่าปี่คือแทบไม่รู้สึกประหลาดใจอะไร
“ฆ่าแฮหัวเอี๋ยนแล้วอย่างไร ในเมื่อคนร้ายกาจตัวจริงยังไม่โดนกำจัด”
พ.ศ. 771 ขงเบ้งยกทัพใหญ่เข้าเขากิสาน ซึ่งอยู่ในเขตเมืองเทียนซุย มณฑลเองจิ๋วของวุยก๊ก เมื่อมีข่าวบอกศึกเรื่องทัพของขงเบ้งมาถึง ราชสำนักวุยก๊กก็ระส่ำระสาย เมืองเทียนซุย ลำอั๋นและเตงอันก็แปรพักตร์ไปเข้ากับขงเบ้ง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์พระเจ้าโจยอยมีพระราชบัญชาให้โจจิ๋นแม่ทัพใหญ่ไปตั้งกองบัญชาการที่เมืองไปเซียในฝูงเจิงจวิ้น เพื่อกำราบสามเมืองที่แปรพักตร์ไป จากนั้นให้เตียวคับนำทัพไปรบกับขงเบ้ง
เตียวคับยกทัพไปทางตะวันตก ปะทะกับม้าเจ็กแม่ทัพของจ๊กก๊กที่เกเต๋ง
เกเต๋งนั้นอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ หากใครตีได้ก็จะได้เองจิ๋วไปด้วย ขงเบ้งเองก็เล็งเห็นข้อนี้ จึงส่งม้าเจ๊กซึ่งขงเบ้งไว้ใจ ให้นำทัพเข้าไปยึดเกเต๋งเสียก่อน
เตียวคับ เชี่ยวชาญกลศึก ย่อมรู้ดีว่าไม่อาจเสียเกเต๋งเด็ดขาด มิฉะนั้นจะเกิดภัยร้ายแรงตามมา เมื่อมาถึงเกเต๋ง พบว่าม้าเจ๊กที่เข้าเกเต๋งได้ก่อน ไม่เพียงไม่เข้าไปตั้งค่ายในเกเต๋ง แต่กลับไปตั้งค่ายบนเขาสูงด้านใต้แทน นับว่าเสียกลศึกยิ่งนัก ในใจเขายินดียิ่ง รีบสั่งกำลังเข้าโอบล้อมม้าเจ๊กไว้ เมื่อม้าเจ๊กโดนโอบล้อมก็เริ่มขาดเสบียงอาหารขาดน้ำที่ละน้อย จนจำต้องนำทัพฝ่าวงล้อมออกมา ผลก็คือโดนเตียวคับที่วางกลดักไว้แล้วฆ่าฟันล้มตายเป็นอันมาก
เตียวคับยึดเกเต๋งได้ ทำให้เส้นทางสู่ตะวันออกของขงเบ้งถูกปิด ส่วนทัพอีกสายหนึ่งของจูล่งและเตงงายก็พ่ายให่โจจิ๋น และปราบสามเมืองที่แปรพักตร์ไปในครั้งนี้ ทำให้วุยก๊กพลิกจากภาวะวิกฤตมามั่นคงขึ้น
ศึกเกเต๋งนี้หากมองภายนอกเป็นศึกระหว่างเตียวคับกับม้าเจ๊ก แต่จริงๆ เป็นศึกระหว่างเตียวคับกับขงเบ้ง เพราะม้าเจ๊กนั้นเป็นคนที่ขงเบ้งเลือกมานำทัพแลมอบอำนาจให้เอง ม้าเจ๊กแพ้ ก็เท่ากับขงเบ้งแพ้ เตียวคับจึงกลายเป็นคนแรกที่รบชนะขงเบ้งนั่นเอง
ปีถัดมา ขงเบ้งยกทัพมาตีวุยก๊กอีกครั้ง ครั้งนี้ขงเบ้งไม่เข้าทางกิสาน แต่เข้าทางซันกวน ผลคือต้องรบปะทะกับเฮกเจียวซึ่งประจำอยู่ที่เมืองตันฉอง ตันฉองนั้นเป็นเมืองเล็กๆ ทหารก็น้อย พระเจ้าโจยอยทรงหวาดวิตกกับสถานการณ์ที่ตันฉองนัก จึงมีพระบัญชาให้เตียวคับนําทหารไปช่วย ก่อนเดินทางยังตรัสถามเตียวคับว่า
“กว่าเจ้าจะนําทัพไปถึง ตันฉองจะโดนขงเบ้งตีแตกไปก่อนแล้วหรือไม่”
เตียวคับกลับตอบอย่างมั่นใจว่า “เกรงว่ากระหม่อมยังไปไม่ถึง ขงเบ้งก็เลิกทัพเสียก่อนแล้ว”
ที่แท้เตียวคับคาดไว้แต่แรกแล้วว่าฝ่ายขงเบ้งขาดเสบียง ไม่อาจทําสงครามยืดเยื้อได้ ส่วนเฮกเจียวนั้นก็พอจะมีสติปัญญาวางแผนรบอยู่บ้าง ขอเพียงตั้งรับได้นานวัน ตัดทางเสบียงของขงเบ้ง เท่านี้ก็คลี่คลายวิกฤตที่ตันฉองได้แน่
การคาดการณ์ของเตียวคับนับว่าแม่นยํามาก เมื่อเดินทัพออกไปได้เพียงครึ่งทาง ขงเบ้งก็ขาดแคลนเสบียงจนถอยทัพกลับไปแล้ว แม้ว่าทั้งสองยังไม่ได้ทําศึกประจันหน้ากันจริงๆ แต่ก็อาจกล่าวได้ว่าเตียวคับคาดการณ์แม่นยํา มีชัยเหนือขงเบ้งไปอีกครา
พ.ศ.774 ขงเบ้งยกทัพไปกิสานอีกครั้ง นับเป็นการบุกภาคเหนือครั้งที่สี่ วุยก๊กส่งสุมาอี้เป็นแม่ทัพใหญ่ นําเตียวคับมารับศึกขงเบ้ง ครั้งนี้สุมาอี้นําทัพหลักเข้ากิสานไปหาขงเบ้งด้วยตนเอง แล้วให้เตียวคับไปรับมือกับอองเป๋งที่ด้านทิศใต้ของกิสานเตียวคับนับว่าเจองานหินบุกกี่ครั้งก็โดนอองเป๋งจัดการจนต้องถอย เมื่อไม่มีหนทางเอาชนะจึงทําได้เพียงยกทัพกลับ
ส่วนสุมาอี้นั้นแย่ยิ่งกว่า ถูกขงเบ้งฆ่าฟันทหารล้มตายเป็นอันมาก ฝ่ายวุยก๊กเสียหายยับเยิน สุมาอี้ทราบดีว่าครั้งนี้ตนยังไม่มีวิธีจัดการขงเบ้ง จึงทําเป็นปิดค่ายไม่ยอมยกทัพออกรบเอาดื้อๆ คิดจะใช้ประโยชน์จากข้อเสียเปรียบที่ทัพจ๊กก๊กขาดแคลนเสบียงอีกครั้ง เพื่อถ่วงเวลากับขงเบ้ง
สุมาอี้แกล้งตายไม่ยอมออกรบ ขงเบ้งเองก็ไม่รู้จะทําอย่างไร นานวันเข้าเสบียงก็ร่อยหรอ ขงเบ้งจําต้องยอมถอยทัพอีกครั้ง
เมื่อขงเบ้งถอย สุมาอี้คิดว่าตนได้โอกาส สั่งให้เตียวคับยกทัพตามไปตี แต่เตียวคับไม่เห็นด้วย
“พิชัยสงครามกล่าวไว้ว่า ล้อมทัพต้องเหลือทางหนี ถอนทัพห้ามตีตลบหลัง”
แต่สุมาอี้นั้นต้องการแก้หน้าที่เสียทหารไปจํานวนมาก จึงไม่รับฟังคําทัดทานจากเตียวคับ ยังคงดึงดันบังคับให้เตียวคับยกทัพตามไปตีตลบหลัง เตียวคับนั้นรู้พิชัยสงครามเป็นอย่างดี ด้วยสติปัญญาของขงเบ้ง ยามถอยจะไม่มีการป้องกันได้อย่างไร ขงเบ้งวางหลุมพรางไว้ที่ทุ่งบอกบุ๋นก่อนแล้ว พอเตียวคับเข้ามาสู่หลุมพราง ทหารทั้งปวงก็ระดมยิงเกาทัณฑ์ เตียวคับถูกเกาทัณฑ์สิ้นอยู่ ณ ที่นั้น
หากจะกล่าวว่าเตียวคับตายด้วยเงื้อมมือของขงเบ้ง ยังมิสู้กล่าวว่าตายเพราะสุมาอี้ เพราะสุมาอี้ไม่เชื่อคำแนะนำของเตียวคับ ดึงดันให้เขานำทหารออกไปรบ จนต้องพบจุบจบในที่สุด
อ่านเพิ่มเติม :
- “อ้ายลูก 3 พ่อ” คำด่าสุดเจ็บแสบจากสามก๊ก ที่เตียวหุยด่าได้ดีจนโลกจำ
- ลิบอง ขุนศึกแห่งสามก๊กผู้ชนะศึกโดยไม่ต้องรบ
- “กาเซี่ยง” กุนซืออัจฉริยะไม่กี่คนในสามก๊ก ที่มีบั้นปลายชีวิตสงบสุข
ข้อมูลจาก :
หลี่อันสือ เขียน, นวรัตน์ ภักดีคำ จันทรัตน์ สิงห์โตงาม แปล. วีรบุรุษสามก๊ก 27 ขุนศึกผู้เป็นเลิศ, สนพ.มติชน, พ.ศ. 2560
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ธันวาคม 2561