สุมาอี้ “ฟันธง” ในใจ หลังจากคุยกับทูตของขงเบ้งว่า “ขงเบ้งอยู่ได้อีกไม่นาน”

ภาพวาดสมัยราชวงศ์หมิง (ซ้าย) ขงเบ้งขี่ม้าตามเล่าปี่ลงจากเขา เมื่อเล่าปี่ไปเชิญเป็นครั้งที่ 3

พงศาวดารสามก๊กจี่ ภาคจ๊กก๊ก บทประวัติขงเบ้ง ครั้งหนึ่ง ขงเบ้ง ส่งทูตไปพบสุมาอี้ สุมาอี้ ไม่ได้ถามเรื่องการทหาร แต่ถามเรื่องการกินอยู่หลับนอนชีวิตประจำวันและการทำงานของขงเบ้งอย่างละเอียด จึงทราบว่าขงเบ้งนอนดึกตื่นเช้า ทำงานทุกอย่างเอง แบกรับภาระหนักเกินปกติวิสัย และกินอาหารไม่ได้มาก

สุมาอี้ฟันธง ขงเบ้งต้องตายในไม่ช้าแน่  

ทำไมสุมาอี้กล้าฟันธงเช่นนี้ นั่นเพราะหลักการแพทย์ของจีน โรคทั้งหลายเกิดจาก “ชี่-พลัง” ความโกรธทำให้ชี่พุ่งสูง, ดีใจทำให้ชี่เฉื่อยช้า, โศกเศร้าทำให้ชี่สลาย, กลัวทำให้ชี่ตก, หมกมุ่นทำให้ชี่ขับแข็ง

ขณะที่ทั้งชีวิตขงเบ้งคิดแต่เรื่องปราบวุยก๊ก และระมัดระวังง่อก๊กฉวยโอกาส อุทิศทั้งกายใจเพื่อจ๊กก๊ก กินนอนไม่เป็นสุข ยิ่งหลังจากที่เล่าปี่เสียชีวิต ขงเบ้งต้องเป็นผู้แบกภาระทั้งหมด จึงยิ่งละเลยการดูแลถนอมสุขภาพ

ขณะที่ความรู้ของคนโบราณ มีแนวคิดว่าถนอมรักษาสุขภาพกายใจดี สามารถมีอายุยืนยาวเกินร้อยปี

โดยการถนอมรักษาสุขภาพ อันดับแรกนั่นคือการถนอมรักษาจิตใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการถนอมรักษาสุขภาพ การถนอมรักษาใจนั้น ลัทธิเต๋า ขงจื๊อ และพุทธศาสนา มีทัศนะในเรื่องนี้ไม่เหมือนกันทีเดียว แต่หลักการพื้นฐานคล้ายกัน เช่น คนส่วนมากเห็นว่าเรื่องสําคัญที่สุดในการถนอมรักษาจิตใจคือรักษาคุณธรรมในใจ ให้มีสภาพจิตใจเบิกบานแจ่มใส สุขุมหนักแน่น โดยเห็นว่าอารมณ์ที่ผันแปรง่ายจะนําโรค มาสู่ร่างกาย

คัมภีร์หวงตี้เน่ยจิงบันทึกว่าอารมณ์ทั้ง 7 อันได้แก่ ดีใจ โกรธ ทุกข์ร้อน หมกมุ่น โศก เศร้า กลัว และตื่นเต้นตกใจ เป็นสาเหตุสําคัญของความเจ็บป่วย ดังมีคํากล่าวว่า “โกรธทําลายตับ ดีใจทําลายหัวใจ หมกมุ่นทําลายม้าม ทุกข์ร้อนทําลายปอด กลัวทําลายไต”

ดังนั้น ต้องรักษาเหตุผลและความสมดุลทางอารมณ์จึงจะปฏิบัติต่อความเจริญหรือเสื่อมในชีวิตได้อย่างปกติสุข ไม่ดีใจเพราะวัตถุ เสียใจเพราะคิดถึงตัวเอง ปล่อยให้เป็นไปตามภววิสัย จึงจะแข็งแรง อายุยืน

ขงเบ้งเองก็เข้าใจในเรื่องการถนอมสุขภาพ และเคยกล่าวว่า “หากไม่สันโดษจะไม่สามารถทําให้เจตน์แจ่มใสได้ หากไม่สมถะจะไม่สามารถมีปณิธานกว้างไกลได้” แต่น่าเสียดายที่กลับไม่สามารถปฏิบัติได้

จากหลักการพื้นฐานเรื่องถนอมรักษาจิตใจ ก็ประยุกต์เป็นหลักปฏิบัติเพื่อถนอมสุขภาพกายออกมา เช่น ปรับเรื่องการกินและวิธีบํารุงรักษาร่างกาย ให้สอดคล้องกับลักษณะของแต่ละฤดูกาล ตามที่คัมภีร์หวงตี้เน่ยจิงแนะนําไว้

ฤดูใบไม้ผลิสรรพสิ่งกลับฟื้นคืนชีพ คนจึงสามารถนอนดึกตื่นเช้าได้พร้อมกับ “เดินออกกําลังในลานบ้าน” เดินให้มากสักหน่อยก็จะช่วยบํารุงร่างกาย ฤดูร้อนอากาศร้อน ฉะนั้น คนควรรักษาจิตใจให้สงบ ระวังอย่าให้เกิดอารมณ์ใด ๆ, ฤดูใบไม้ร่วงควรนอนหัวค่ำตื่นเช้า พอไก่ขันก็ลุกจากที่นอน, ฤดูหนาวอากาศเย็นยะเยือก ควรนอนหัวค่ำตื่นสาย การปฏิบัติเช่นนี้แสดงถึงหลัก “วสันต์และคิมหันต์บํารุงหยาง สารทและเหมันต์บํารุงยิน”

ในคัมภีร์ดังกล่าวยังระบุว่า “ดูนานทําลายเลือด นอนนานทําลายพลัง (ชี่) นั่งนานทําลายกล้ามเนื้อ ยืนนานทำลายกระดูก เดินนานทำลายเอ็น” คนเราจึงต้องออกกําลังอย่างพอดีทั่วถึงทุกส่วน

ขณะที่ทั้งชีวิตขงเบ้งคิดแต่เรื่องปราบวุยก๊ก และระมัดระวังง่อก๊กฉวยโอกาส อุทิศทั้งกายใจเพื่อจ๊กก๊ก ยิ่งหลังจากที่เล่าปี่เสียชีวิต ขงเบ้งจึงเป็นผู้แบกภาระทั้งหมด

เมื่อสุมาอี้ได้คุยกับทูตของขงเบ้ง จึงกล้าฟันธงได้ว่า “ขงเบ้งต้องตายในไม่ช้าแน่”

ขงเบ้งตายเพราะทำงานหนักตาย คล้าย ๆ กับที่คนบ้างานสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนญี่ปุ่นเสียชีวิตด้วยโรค Karoshi Syndrome โรคร้ายของคนรักงานเกินเหตุ ที่ชอบพูดกันว่า “งานหนักไม่เคยทำให้ใครตายจริง” จึงต้องพิจารณากันใหม่

 


ข้อมูลจาก

หลี่ฉวนจวินและคณะ (เขียน), ถาวร สิกขโกศล (แปล), 101 คำถามสามก๊ก. สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กรกฎาคม 2563