นรลักษณ์สุมาอี้มีอะไรไม่ดี โจโฉจึงระแวงว่าจะชักนำเภทภัย

ภาพวาด สุมาอี้
ภาพวาด “สุมาอี้” โดยศิลปินจีนในอดีต

ไม่ว่ากษัตริย์ ขุนนาง นายทหาร นักอักษรศาสตร์ และบุคคลทั่วไป มักใช้วิชานรลักษณ์พิจารณาคัดเลือกบุคคล ในวรรณกรรมสามก๊ก โจโฉแห่งวุยก๊ก ก็ใช้วิชานรลักษณ์ประกอบการตัดสินใจ เพื่อเลือกใช้คน ดังเช่นกรณีของ “สุมาอี้”

ในยุคราชวงศ์ฮั่น และยุคสามก๊ก วิชานรลักษณ์ (โหงวเฮ้ง) แพร่หลายมาก วิชานี้ดูลักษณะของอวัยวะทั้งห้าบนใบหน้า (คิ้ว ตา จมูก ปาก หู) หรืออวัยวะส่วนอื่น เพื่อพยากรณ์บอกนิสัย ดวงชะตา โชคเคราะห์ ความรู้ความสามารถ ตลอดจนวิถีราชการในอนาคต

หลักของวิชานรลักษณ์ของจีนโบราณนั้น แท้จริงแล้วใช้สุขภาพของร่างกายและพลังชีวิตกับสภาพจิตใจที่ปรากฏบนสีหน้าท่าทาง ทั้งยังรวมวิทยาการด้านการแพทย์ วิชายินหยาง และธาตุทั้งห้า วิชาอี้ (ความเปลี่ยนแปลง) ตลอดจนความเชื่อพื้นบ้านไว้ด้วยกัน ถือเป็นสหวิทยาการใหญ่วิชาหนึ่ง มาใช้พยากรณ์ความมั่งคั่งทางทรัพย์สินและสถานะทางสังคม

สุมาอี้ (ค.ศ. 179-251) เป็นขุนนางคนสำคัญของวุยก๊ก พงศาวดารจิ้นซู (ราชวงศ์จิ้น) บทประวัติพระเจ้าจิ้นชวนตี้ บันทึกไว้ว่า “พระองค์ (สุมาอี้) ใจระแวงริษยาแต่ภายนอกดูโอบอ้อม มีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว องค์วุ่ยอู่ตี้ (โจโฉ) มีปณิธานหาญกล้า ได้ข่าวว่าสุมาอี้มีท่าทางหันมองเหมือนหมาจิ้งจอก ใคร่จะทดสอบ จึงสั่งให้เดินขึ้นหน้าแล้วให้หันกลับมามอง สุมาอี้หันหัวมามองได้โดยตัวไม่เคลื่อนไหว”

คำ “หันมองเหมือนหมาจิ้งจอก” มาจากบทนิพนธ์เรื่องลุ่นจีจู้ซู (อรรถาธิบายการเก็บสะสม) ของเจี่ยอี้ ที่ว่า “ฝนไม่ต้องตามฤดูกาล ราษฎรหันมองเหมือนหมาจิ้งจอก ปีร้ายไม่ได้ผลเก็บเกี่ยว ผู้คนขายตำแหน่งขายลูก ได้ยินเรื่องเช่นนี้ มีด้วยหรือในแผ่นดินนี้ที่ผู้คนในยามประสบภัย แล้วจะไม่หวาดกลัว” ชี้ให้เห็นว่า ปีข้าวยากหมากแพง ราษฎรไร้ที่พึ่ง ต่างมีสีหน้าท่าทางวิตกกังวล ท่าทางหันมองเหมือนหมาจิ้งจอกนี้บ่งบอกว่า เวลาหันมองหัวหันไปได้ 90 องศาโดยตัวไม่เคลื่อนไหว

ธรรมชาติของหมาจิ้งจอกมีนิสัยขี้ระแวง กลัวถูกศัตรูเข้ามาทำร้ายทางด้านหลังอยู่เสมอ ดังนั้น ขณะวิ่งไปข้างหน้าจะมีกิริยาล่อกแล่กหันมองข้างหลังอยู่มิได้ขาด วิชาดูนรลักษณ์เรียกว่าลักษณะหันมองของหมาจิ้งจอก แต่ก็มีคนกล่าวว่า บุคลิกจิ้งจอกชำเลืองนี้หมายถึง การระแวงด้านหลังอยู่ตลอดเวลา คอยชำเลืองมองอยู่ตลอดเวลาโดยตัวไม่เคลื่อนไหว เหมือนท่าทางเจ้าเล่ห์ระแวงของหมาจิ้งจอก

เล่าสืบกันมาว่า ฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) โจโฉ สุมาอี้ โกวเจี้ยน ล้วนมีลักษณะดังกล่าวนี้

คนที่มีบุคลิก “หมาจิ้งจอกหันมอง” หรือหมาจิ้งจอกชำเลืองนี้มีนิสัยเจ้าเล่ห์โหดร้าย ลงมืออย่างอำมหิต ผู้คนไม่ควรเข้าใกล้ เนื่องจากสุมาอี้มีลักษณะ “หมาจิ้งจอกหันมอง” โจโฉซึ่งชำนาญการนรลักษณ์และอ่านคนจึงรู้สึกว่าสุมาอี้เป็นภัยต่อตระกูลโจ

พงศาวดารจิ้นซู บทประวัติพระเจ้าจิ้นซวนตี้กล่าวว่า “(โจโฉ) เกรงว่าสุมาอี้จะเป็นภัยต่อตนจึงห่างเหิน อีกทั้งเคยฝันว่าม้าสามตัวกินอาหารในรางเดียวกัน รู้สึกวิตกกังวลมาก จึงพูดกับโจผีว่า ‘สุมาอี้มิใช่ผู้ที่จะอยู่ใต้ปกครองคนอื่น เจ้าต้องเตรียมพร้อมเสมอ’”

ข้างสุมาอี้ที่ถูกโจโฉระแวงจึงยิ่งระวังตัว ตั้งใจทำงานอย่างแข็งขันรอบคอบ ‘แม้กระทั่งการเลี้ยงสัตว์ ก็ย่ำเท้าไปดูเอง’ อีกทั้งใช้การสนับสนุนให้แซ่โจแย่งราชสมบัติราชวงศ์ฮั่นสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ

รัชศกเจี้ยนอาน ปีที่ 24 (ค.ศ. 219) เมื่อซุนกวนมีหนังสือมาอ่อนน้อมต่อโจโฉ สนับสนุนให้โจโฉตั้งตัวเป็นกษัตริย์ สุมาอี้พูดกับโจโฉว่า “ชะตาราชวงศ์ฮั่นสิ้นสุด ใต้เท้าได้ใจคนในใต้ฟ้านี้ถึงเก้าในสิบส่วนแล้ว ซุนกวนยอมอ่อนน้อม นี่เป็นเจตนาแห่งสวรรค์ ซุนตี้ราชาแห่งแคว้นอวี่ ราชวงศ์เซี่ย อิน (ซาง) และโจวมิใช่จะยอมสละราชสมบัติ แต่เพราะกลัวฟ้ารู้อาณัติแห่งสวรรค์ (ว่าชะตาของตนจบลงแล้ว)”

ขณะนั้นขุนนางของโจโฉที่สนับสนุนราชวงศ์ฮั่นยังมีอยู่มาก ท่าที่ของสุมาอี้เช่นนี้จึงเป็นที่พอใจของโจโฉมาก ดังนั้น โจโฉจึงค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติต่อสุมาอี้จากระแวงมาเป็นไว้เนื้อเชื่อใจ

หลังจากโจโฉเป็นวุ่ยอ๋อง สุมาอี้ได้เป็น “จงซู่จื่อ-ผู้อภิบาลสั่งสอน” ช่วยเหลือโจผี ได้รับ “ความสำคัญไว้วางใจ” จากโจผีมาก ครั้นโจผีแย่งสมบัติราชวงศ์ฮั่นแล้วเลื่อนตำแหน่งสุมาอี้เป็น “ฝู่จวินต้าเจียงจวน-นายพลทะนุบำรุงทหาร” ทำหน้าที่เลขาธิการ มีบรรดาศักดิ์เป็นเซี่ยงเซียงโหว โจผียกทัพไปตีง่อก๊กสองครั้ง ล้วนให้สุมาอี้อยู่รักษานครฮูโต๋

ก่อนโจผีตายได้มอบหมายให้สุมาอี้เป็นขุนนางผู้ใหญ่กำกับราชการช่วยพระเจ้าวุ่ยหมิงตี้ (โจยอย) ในรัชกาลพระเจ้าโจยอย สุมาอี้กุมอำนาจทางการทหารของวุ่ยก๊ก เป็นขุนนางผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจสูงสุด ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า สุมาอี้ “เมื่อครั้งปราบกงซุนเหวินอี้ ได้ฆ่าคนครั้งใหญ่ ตอนพิฆาตโจซอง บรรดาพวกพ้องก็ถูกประหารสามชั่วโคตรหมดทั้งชายหญิงเด็กผู้ใหญ่ ตลอดจนผู้หญิงที่ออกเรือนไปแล้วก็ไม่ละเว้น และในที่สุดก็ชิงอำนาจราชวงศ์วุ่ย”

แม้กระทั่งลูกหลานเองสุมาอี้เองก็ละอายและกลัวความเหี้ยมโหดอำมหิตทางการเมืองของเขา

พงศาวดารจิ้นซู บันทึกไว้ว่า “เมื่อครั้งพระเจ้าจิ้นหมิงตี้ หว่างเต่าเฝ้าอยู่ ตรัสถามถึงเหตุที่บรรพชนของพระองค์ได้แผ่นดิน หวางเต่าทูลเรื่องตั้งแต่สุมาอี้เริ่มตั้งตัวจนถึงช่วงปลายของยุคสุมาเจียว (จิ้นเหวินตี้) พระเจ้าโจมอ (เกากุ้ยเซียงกง) ขี้ระแวงและโหดร้าย สมกับความเจ้าเล่ห์ระวังตัวเยี่ยงหมาจิ้งจอกของตระกูลสุมา

พระเจ้าจิ้นหมิงตี้ทราบความโหดร้ายของบรรพชนถึงกับฟุบหน้าลงกับโต๊ะพูดว่า ‘หากเป็นอย่างที่ท่านพูด ราชวงศ์จิ้นจะอยู่ยืนยาวได้อย่างไร’ ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

หลี่ฉวนจวินและคณะ เขียน, ถาวร สิกขโกศล แปล. 101 คำถามสามก๊ก, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2565