การติดต่อระหว่างราชสำนักอยุธยา กับ “อังกฤษ” ที่เรืองอำนาจอยู่ในอินเดีย

อังกฤษ อินเดีย อยุธยา
(ซ้าย) สำนักงานใหญ่บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษที่กรุงลอนดอน (ขวา) กรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2209) วาดโดยบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ความสัมพันธ์ ระหว่าง “อังกฤษ” กับ “อยุธยา” เป็นความรับรู้ที่ค่อนข้างเลือนลางในประวัติศาสตร์ไทย เพราะหากพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับชาติตะวันตกในยุคนั้น เรามักจะพบเรื่องราวของอยุธยากับฝรั่งเศส โปรตุเกส หรือฮอลันดา (เนเธอแลนด์) เป็นส่วนใหญ่

ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับอยุธยา คือการติดต่อทางการค้าระหว่าง บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (EIC) กับราชสำนักอยุธยาในกำกับดูแลของกรมพระคลังสินค้า

ตั้งแต่สมัยกลางถึงปลายกรุงศรีอยุธยา อังกฤษสามารถลงหลักปักฐานด้วยการตั้งสถานีการค้าในอนุทวีปและเริ่มขยายอำนาจในบริเวณโดยรอบสถานีการค้าของพวกเขา คือ มัทราสกับเบงกอล แต่ยังไม่เริ่มการยึดครองอินเดียในฐานะอาณานิคม กระนั้น อิทธิพลของอังกฤษในอินเดียอยู่ในการรับรู้ของราชสำนักอยุธยาเป็นอย่างดี และพระเจ้าแผ่นดินสยามเองก็พร้อมที่จะติดต่อกับชาวอังกฤษ ซึ่งมองหาคู่ค้าในเอเชียอย่างกระตือรือร้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17

ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างอังกฤษกับอยุธยาเริ่มขึ้นเมื่อพ่อค้าของ EIC มาเข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (ครองราชย์ พ.ศ. 2154-2171) เพื่อถวายพระราชสาส์นแสดงความเป็นไมตรีจากพระเจ้าเจมส์ที่ 1 (James I) ในฐานะ “กษัตริย์แห่งเกรทบริเตน ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ และฝรั่งเศส”

ในกาลนั้น สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯ ให้ชาวอังกฤษเปิดสถานีการค้าในอยุธยา และยังทรงซื้อสินค้าจำนวนหนึ่งที่พวกเขานำเข้ามาด้วย แต่ดูเหมือนว่าผลกำไรจากการค้าขายกับสยามไม่เป็นที่พึงพอใจพวกอังกฤษนัก จนพวกเขาพบว่าราชอาณาจักรแห่งนี้มีข้อดีคือลู่ทางติดต่อการค้าอันยอดเยี่ยมกับชาวญี่ปุ่น อังกฤษจึงหันเหความสนใจจากอยุธยาไปหาญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว

การเปลี่ยนความสนใจครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความพยายามของอังกฤษที่จะส่งเรือพร้อมสินค้าจากฝั่งโคโรมันเดล ทางใต้ฝั่งตะวันออกของอินเดีย มากระตุ้นการค้าในสยาม ได้ถูกขัดขวางโดยกองเรือในอาณัติบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (ฮอลันดา) หรือ VOC

ด้วยเหตุนี้ ค.ศ. 1623 (พ.ศ. 2166) อังกฤษตัดสินใจปิดสถานีการค้าในอยุธยา แต่ก่อนจะออกจากสยาม พวกเขายังพยายามแสดงความเป็นมิตรต่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมด้วยการถวายบรรณาการในนามของกษัตริย์แห่งอังกฤษ นั่นคือครั้งสุดท้ายที่อังกฤษใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือในการติดต่อกับอยุธยา

แต่ปลายทศวรรษ 1650 การรุกรานเมืองละแวกโดยอันนัม (ญวน) ทำให้ EIC ต้องปิดสถานีการค้าในกัมพูชาแล้วกลับมายังอยุธยาอีกครั้ง พวกเขาได้รับการต้อนรับอย่างดีจาก สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์พระราชทานสาส์นเชิญบริษัทอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสุรัต ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ให้กลับเข้ามาค้าขายในสยามอีกครั้ง อังกฤษจึงตัดสินใจจัดการการแลกเปลี่ยนสินค้าโดยตรงกับอยุธยาจากสถานีการค้าที่มัทราส ณ ชายฝั่งโคโรมันเดลในอินเดีย

การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอังกฤษของสมเด็จพระนารายณ์ฯ อาจอธิบายได้ว่าเป็นความพยายามที่จะดึงอังกฤษเข้ามาคานอำนาจกับฮอลันดาที่กำลังมีอิทธิพลเพิ่มสูงขึ้น แต่เอาเข้าจริงอิทธิพลของฮอลันดา ตอนนั้นไม่น่าทำให้อยุธยาต้องกังวล และสมเด็จพระนารายณ์ฯ เองมีความสนพระทัยที่จะค้าขายกับอินเดียอยู่แล้ว พระองค์จึงติดต่อกับอังกฤษซึ่งเรืองอำนาจอยู่ในอินเดียนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การกลับมาเจริญสัมพันธ์ทางการค้าอีกครั้งไม่ได้สร้างผลกำไรอย่างที่บริษัทอังกฤษต้องการเช่นเคย ทั้งยังเกิดกรณีร้าวฉานที่ลุกลามเป็นข้อพิพาทขนานใหญ่ ระหว่างพวกเขากับข้าหลวงชาวอังกฤษเหมือนกันที่มะริด (ส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามในเวลานั้น) แต่เป็นพรรคพวกของออกญาวิชาเยนทร์ (ฟอลคอน) ความขัดแย้งคราวนั้นทำให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ ถึงขั้นประกาศสงครามกับบริษัทอังกฤษ และขับไล่ชาวอังกฤษออกจากราชอาณาจักรสยาม เมื่อ ค.ศ. 1687 (พ.ศ. 2230)

หลังการประกาศสงครามสยาม-อังกฤษ ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายไม่ค่อยสู้ดีไปอีกร่วมทศวรรษ กระนั้นราชสำนักอยุธยาหลังแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ ยังให้ความสนใจและต้องการสินค้าจากอินเดียอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งทอ จึงพยายามจัดหาสินค้าประเภทนี้ผ่านหลายช่องทาง ทั้งการติดต่อกับพ่อค้าเอกชนชาวอังกฤษ พ่อค้ามุสลิมในอินเดีย และผ่าน VOC ของฮอลันดา

ผู้บริหาร EIC พยายามหลีกเลี่ยงการกลับมาลงตลาดสยาม ขณะเดียวกัน เรือสินค้าสยามก็พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้มัทราส กระทั่งถึงสมัยข้าหลวงใหญ่ โธมัส พิตต์ (Thomas Pitt) คือระหว่าง ค.ศ. 1699-1709 (พ.ศ. 2241-2252) มีสัญญาณว่าอังกฤษอยากติดต่อกับสยามอีกครั้ง ด้วยการแสดงความกังวลเกี่ยวกับกรณีการปล้นเรือสยามต่อทูตสยามที่พำนักอยูที่ ซาน โตเม (San Thome) ทางใต้ของอินเดีย

ค.ศ. 1705 (พ.ศ. 2248) พิตต์ส่งสาส์นมายัง สมเด็จพระเจ้าเสือ เพื่อแสดงความเคารพ และขอให้เรือสยามกลับไปเทียบท่าที่มัทราส แต่คำขอของข้าหลวงอังกฤษไม่ได้รับการตอบกลับ อาจเป็นเพราะจดหมายของเขารวมเรื่องการทวงหนี้ที่ทูตไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เคยยืมเงินอังกฤษเพื่อเดินทางไปเปอร์เซีย

จากเอกสารฮอลันดาทำให้เราทราบว่า สมเด็จพระเจ้าเสือทรงพยายามติดต่อกับอังกฤษ ใน ค.ศ. 1706 (พ.ศ. 2249) เอกสารยังระบุว่า อังกฤษเรียกร้องให้สยามชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากข้อพิพาทสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ แต่ราชสำนักอยุธยาทำหูทวนลม ไม่ตอบสนองใด ๆ

แม้บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษจะไม่กลับเข้ามาเปิดสถานีการค้าในสยามอีก แต่พวกพ่อค้าเอกชนชาวอังกฤษ รวมถึงบรรดาลูกจ้างของบริษัทยังคงเข้ามาค้าขายในรูปแบบของการค้าส่วนตัว และพยายามทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้สำเร็จราชการอังกฤษในอินเดียกับราชสำนักอยุธยา

ในที่สุด ค.ศ. 1762 (พ.ศ. 2305) ข้าหลวงอังกฤษที่มัทราสก็ส่งสาส์นมายังราชสำนักอยุธยา เพื่อขออนุญาตเปิดสถานีการค้าที่มะริด โดยสัญญาว่าจะส่งผ้าลินินมาขายให้ราชสำนักอยุธยาในราคาเท่ากับที่ VOC ของฮอลันดาขาย

แม้แต่ในแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ รัชกาลสุดท้ายของอยุธยา อังกฤษยังพยายามกลับมาสร้างอิทธิพลในราชสำนักอยุธยาเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า สายของพวกฮอลันดารายงานว่า ในขณะที่ VOC กำลังมีข้อพิพาทกับราชสำนักอยุธยา กรณีฝ่ายฮอลันดาไม่ยอมปฏิบัติตามธรรมเนียมระหว่างกรมพระคลังกับบริษัทฯ คือ การจ่ายเงินค่าตอบแทนการทำงานประจำปีให้แก่เจ้าหน้าที่กรมพระคลังสินค้า ปรากฏว่า “พวกขุนนางแขกมัวร์” ในราชสำนักอยุธยา พยายามรบเร้าให้ออกญาพระคลังเรียกร้องเงินดังกล่าว

พวกฮอลันดาเชื่อว่า การกระทำของขุนนางแขกมัวร์มีจุดประสงค์แอบแฝง เพื่อบ่อนทำลายสถานะของฮอลันดาในสายพระเนตรของพระเจ้าแผ่นดินสยามและขุนนางทั้งหลาย เพื่อเปิดทางสู่ตลาดสยามให้พันธมิตรของพวเขา คือ พ่อค้าอังกฤษ ผ่านบุคคลชื่อ มิสเตอร์เอลเลียส (Mr. Ellias) แห่งสุรัต นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งของการวางหมากของฝ่ายอังกฤษในราชสำนักอยุธยา

แต่พัฒนาการเหล่านี้ต้องหยุดชะงัก เมื่อกองทัพพม่าเริ่มรุกรานอยุธยาตั้งแต่ปลาย ค.ศ. 1765 (พ.ศ. 2308) ซึ่งส่งผลให้ชายยุโรปชาติต่าง ๆ เริ่มถอนตัวออกจากอยุธยา ราชอาณาจักรสยามสลายตัวและย้ายศูนย์มาอยู่ที่กรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ ตามลำดับ ส่วนบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ก็ค่อย ๆ ครอบครองอินเดียทั้งหมดในนามบริติชราช

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ภาวรรณ เรืองศิลป์; รศ.ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ บรรณาธิการ. (2558). ในยุคอวสาน กรุงศรีฯ ไม่เคยเสื่อม. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 เมษายน 2567