อยุธยา เคยมีต่างชาติอยู่กว่า 40 ชนชาติ ใช้กว่า 20 ภาษา และถูกยกย่องให้เป็นเมืองที่ดีที่สุดในชมพูทวีป?

ภาพ ยูเดีย หรือ กรุงศรีอยุธยา ภาพกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา อยุธยา
ภาพ “ยูเดีย” (อาณาจักรอยุธยา) วาดโดยโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

“อยุธยา” ถือเป็นยุคสมัยแห่งความหลากหลายทางชนชาติ เพราะไม่ว่าจะมองไปที่ไหนก็มีผู้คนจากทั่วสารทิศเข้ามาทำการค้าขายมากมายในพื้นที่แห่งนี้ จนปรากฏหลักฐานในบันทึกของชาวต่างชาติว่า ครั้งหนึ่งอยุธยาเคยมี ชาวต่างชาติ อยู่มากกว่า 40 ชนชาติ ใช้ภาษากว่า 20 ภาษา และยกย่องให้เป็นเมืองที่ดีที่สุดในชมพูทวีป

หากเราสังเกตแหล่งที่อยู่อาศัยใน กรุงศรีอยุธยา จะเห็นได้ว่ามีพื้นที่สำหรับคนหลายกลุ่ม ตั้งเป็นหมู่บ้านบ้าง รวมกันเป็นชุมชนบ้าง ซึ่งแต่ละพื้นที่ล้วนมีความสำคัญ ส่งผลต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสะท้อนให้เห็นถึงความหลายหลากของชนชาติ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ฮอลันดา เป็นต้น 

หนึ่งในพื้นที่ที่ทำให้เห็นถึงการเติบโตด้านเศรษฐกิจคงไม่พ้น “ถนนย่านในไก่” หรือ ถนนจีน ซึ่งเป็นศูนย์รวมชาวจีนในอยุธยา และยังเป็นพื้นที่การค้าสำคัญของชาวจีน เป็นตลาดที่คึกคักทั้งในตอนเช้าและกลางคืน ถ้าจะเปรียบเทียบก็คงไม่ต่างจากเยาวราชในปัจจุบัน 

นอกจากการค้าทางบกที่มีความสำคัญแล้ว ทางน้ำก็ไม่แพ้กัน เพราะอยุธยาถือเป็นศูนย์กลางเชื่อมการค้าตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน เต็มไปด้วยสินค้านานาชนิด จากหัวเมืองตอนใน ด้านมหาสมุทรอินเดียและจีน ทำให้มีเรือสำเภาหลายลำของต่างชาติแวะเข้ามาเทียบท่า ซื้อ-ขายที่อยุธยา ดังที่ปรากฏอยู่ใน หนังสือ พรรณนาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา ของ วินัย พงศ์ศรีเพียร ดังนี้…

“ครั้นถึงระดูลมสำเภาพัดเข้ามาในกรุงเปนมรสุมเทศกาล พวกลูกค้าพานิชสำเภาจีนแลลูกค้าแขกสลุป (เรือเล็กติดใบเสาเดียว) พวกลูกค้าพานิชสำเภาจีนแลลูกค้าแขกสลุป ลูกค้าฝรั่งกำปั่น (เรือเดินทะเล) ลูกค้าแขกกุศราช (เมืองสุรัดในอินเดีย) 

แขกชวามาลายูแขกเทศ ฝรั่งเศส ฝรั่งโลสง (เกาะลูซอนในฟิลิปปินส์) โปตุเกศ วิลันดา อิศปันยอน (สเปน) อังกฤษ แลฝรั่งดำ ฝรั่งเมืองลังกุนี แขกเกาะ เปนพ่อค้าพานิชคุมสำเภาสลุปกำปั้นแล่นเข้ามาทอดสมออยู่ท้ายคู ขนสินค้าขึ้นมาไว้บนตึกห้างในกำแพงพระนครกรุงศรีอยุทธยา ตามที่ของตนซื้อแลเช่าต่าง ๆ กัน เปิดร้านห้างตึกขายของตามเพศตามภาษา”

ไม่เพียงแค่ข้อความดังกล่าวที่แสดงให้เห็นความรุ่งเรืองทางการค้าขายของอยุธยาเท่านั้น แต่ใน จดหมายเหตุลาลูแบร์ จดหมายเหตุของทูตฝรั่งเศสอย่าง ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ที่เข้ามาในอยุธยาช่วงตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ได้ปรากฏข้อความที่น่าสนใจไว้ว่า มีชาวต่างชาติพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยามากถึง 40 ชนชาติ” และในหนังสือ Relation du voyage ของ Bourges ก็ได้กล่าวในบันทึกของตนเองว่า อยุธยามีการใช้ภาษาพูดมากกว่า 20 ภาษาเลยทีเดียว!

นอกจากนี้ บรรยากาศของกรุงศรีอยุธยายังเต็มไปด้วยความหนาแน่นของผู้คนและความเจริญถึงขีดสุด จน คริสโตเฟอร์ ไฟรก์ (Christopher Fryke) นายแพทย์ชาวเยอรมัน ผู้เข้ามาในอยุธยาก่อน ลา ลูแบร์ 5 ปี (ลา ลูแบร์ เข้ามาอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2230) ได้บรรยายถึงเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ในบันทึก Voyages to the East In-dies ว่า…

“แทบไม่มีคนใดบอกได้เลยว่า ผู้คนมากมายที่กำลังขวักไขว่ไปมากันแบบไม่หยุดหย่อนทำอะไรกัน และก็เป็นไปไม่ได้ที่คนที่เข้ามาใหม่ก็ใคร่ถามว่า มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น ต้องถือว่าการชุมนุมของผู้คน หรือการที่มีฝูงชนมากมายผิดปกติ เป็นเพียงความจอแจธรรมดาของเมืองนี้

ถนนเกือบทุกสายในเมืองมีคลองที่ดีตัดผ่านเหมือนอย่างที่เมืองร็อตเตอร์ดัม ขนาดที่ว่าผู้คนสามารถใช้เรือเดินทางจากที่หนึ่งของเมืองไปสู่อีกที่หนึ่งของเมืองได้ ซึ่งนับว่าอำนวยความสะดวกแก่การทำมาค้าขายอย่างเต็มที่ ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า เมื่อพิจารณาทุกสิ่งแล้ว ไม่เห็นว่าจะมีเมืองอื่นใดที่ดีกว่านี้ในชมพูทวีปทั้งหมด

นับเป็นอีกหลักฐานของ ชาวต่างชาติ ที่สะท้อนภาพความรุ่งเรืองของ อยุธยา ได้เป็นอย่างดี 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช. กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2567