“จีนฮกเกี้ยน” ตั้งถิ่นฐานที่ไหนใน “อยุธยา” ทำอาชีพอะไร ถึงขั้นได้เป็นขุนนางจีนในราชสำนัก?

จีน จีนฮกเกี้ยน อยุธยา พระยาโกษาจีน
ภาพ : Ch3 Thailand

“จีนฮกเกี้ยน” เป็นจีนชาติพันธุ์หนึ่งที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานใน “อยุธยา” เป็นลำดับแรก ๆ (อีกชาติพันธุ์หนึ่งคือจีนแต้จิ๋ว แต่ถ้าหากว่าเทียบกันยังน้อยกว่าฮกเกี้ยนมากนัก) ต่อมา ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญมากที่สุดในอยุธยา ว่าแต่พวกเขาทำอาชีพอะไรและอยู่ที่ไหน?

ในช่วงแรก “จีนฮกเกี้ยน” เข้ามาทำการค้าขายในอยุธยา ไม่ว่าจะเป็น ทอง เงิน ผ้าไหม ผ้าแพร ฯลฯ ก่อนที่จะมีประชากรจากแดนมังกรซึ่งเป็นชาวฮกเกี้ยนหลั่งไหลมามากขึ้นเรื่อย ๆ และเข้ามาค้าขาย เกิดกิจการและธุรกิจมากมาย จนมีสายสัมพันธ์กับชนชั้นนำในอยุธยามากขึ้น เนื่องจากสยามก็ต้องการส่งสินค้าและค้าขายกับจีน 

ต่อมาชาวจีนฮกเกี้ยนจำนวนไม่น้อยก็เริ่มรับราชการ อย่างครั้งหนึ่งเคยมีขุนนางชาวจีนเข้ามาดำรงตำแหน่ง ออกญาสมบัติธิบาล หรือ พระยาโกษาจีน ซึ่งเป็นผู้ดูแลควบคุมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเมืองทั้งหมด 

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้จีนฮกเกี้ยนมักได้รับพระบรมราชานุญาตให้อาศัยอยู่บริเวณเกาะเมือง ภายในกำแพงเมือง ซึ่งเป็นบริเวณใกล้เคียงกับอาณาเขตของชนชั้นนำ ดังที่เราเห็นในปัจจุบัน อย่าง ย่านคลองนายก่าย (ในใก่/ไส้ไก่), คลองประตูจีน, ป้อมหอราชคฤห์, วัดถนนจีน วัดทองหรือสุวรรณดาราม (ชื่อในสมัยรัตนโกสินทร์) ฯลฯ

นอกจากนี้ชุมชนจีนฮกเกี้ยนสมัยนั้นได้ชื่อว่าเป็น “ไชน่าทาวน์” เหมือนเยาวราชในปัจจุบัน เนื่องจากความใหญ่โต ความคึกคัก ซึ่งมาจากอำนาจและบารมีที่กลุ่มชนชาวฮกเกี้ยนได้สั่งสมไว้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กำพล จำปาพันธ์ และโมโมทาโร่, Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2566.

https://lek-prapai.org/home/view.php?id=5024


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ตุลาคม 2566