ช้าง-สินค้าส่งออก สมัยกรุงศรีอยุธยา

การจับช้าง การค้าช้าง ใน เพนียด
การจับช้างในเพนียด

ช้าง เป็นสัตว์ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในสังคมไทยเป็นเวลานาน เรื่องเล่าตามตำนาน หรือเอกสารโบราณมีการกล่าวถึงบทบาทของ ช้าง ในแง่มุมต่างๆ ทั้งยังตำราความรู้เกี่ยวกับช้างโดยเฉพาะที่เรียกว่า “ตำราคชศาสตร์”

ในอดีตช้างไทยมีอยู่ชุกชุมในป่าทั่วประเทศ โดยเฉพาะผืนป่าเขตหัวเมืองเหนือย่างสุโขทัย พิษณุโลก, หัวเมืองฝั่งตะวันตกอย่างกาญจนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี, ฝั่งตะวันออกแถบจันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี และหัวเมืองใต้ตั้งแต่ตะนาวศรี ไปถึงพุนพิน และจัมโปนหรือพัทลุง

ราชพาหนะและยุทธปัจจัย

ช้างยังจัดเป็นหนึ่งในรัตนะคู่กับพระจักรพรรดิราช เรียกว่า “หัตถีรัตนะ” ในสมัยอยุธยาพระยา ช้างต้นมีสถานภาพสูงส่งเทียบได้กับขุนนางในตำแหน่งเจ้าพระยา ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง ชาวฝรั่งเศส ผู้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับสยามไว้ในหนังสือเรื่อง “ประวัติศาสตร์แห่ง พระราชอาณาจักรสยาม” (Histoire du Royaume de Siam) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2314 กล่าวว่า “ขุนนางที่มีเกียรติสูงที่สุดก็ไม่ถือเป็นการเสื่อมเกียรติที่จะมาทำการรับใช้ช้าง (ของพระมหากษัตริย์)” [1]

ช้างตัวที่ต้องตามตำราคชลักษณ์คือมีลักษณะอันเป็นมงคลโดยเฉพาะช้างเผือก จะได้รับเลือกให้เป็นช้างทรงหรือช้างต้นของพระมหากษัตริย์ ส่วนตัวที่คุณสมบัติด้อยลงมาจะพระราชทานให้เจ้านายและขุนนางลดหลั่นไปตามศักดิ์ ช้างลักษณะดีจึงมักถูกเลี้ยงอยู่ในเมืองหลวงหรือตามหัวเมืองสำคัญๆ โดยมีกฎระเบียบระบุจำนวนช้างในครอบครองสำหรับบุคคลฐานะต่างๆ ไว้อย่างเข้มงวด

ช้างส่วนใหญ่จะขึ้นระวางเป็นช้างหลวงโดยสังกัดในกรมพระคชบาล ซึ่งเป็นกรมใหญ่ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ แบ่งการบังคับบัญชาเป็น 2 กรมย่อยคือ กรมพระคชบาลขวา และกรมพระคชบาลซ้าย นอกจากกองทหารช้างชาวสยามแล้ว ยังมีกองทหารช้างข้างฝ่ายมอญด้วย โดยแบ่งเป็น 2 กรมย่อยเหมือนกันคือ กรมโขลงขวา และกรมโขลงซ้าย

เป็นเรื่องน่าสังเกตว่า นับตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นมา กรมช้างหรือกรมพระ คชบาลมีบทบาทสำคัญอย่างสูงในทางการเมือง เพราะการช่วงชิงอำนาจถึงสองครั้งมีขุนนางในกรมช้างเกี่ยวข้องด้วย คือครั้งที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงก่อการยึดอำนาจจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาพระปิตุลาก็ทรงได้รับความร่วมมือจากขุนนางส่วนใหญ่ในกรมพระคชบาล และเมื่อครั้งที่ออกพระเพทราชาเจ้ากรมพระคชบาลก่อการยึดอำนาจปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และสามารถโค่นอำนาจของออกญาวิชาเยนทร์กับฝรั่งเศสลงได้

ตุรแปงกล่าวถึงความสำคัญเรื่องการเรียนรู้ในการขี่ช้างของชาวสยามไว้ว่า “การฝึกหัดอย่างหนึ่งซึ่งเขาฝึกบรรดาเจ้านายในพระราชอาณาจักรก็คือการขี่ช้าง เช่นเดียวกับในทวีปยุโรปเขาสอนผู้มีสกุลให้ขี่ม้า ความสามารถจริงๆ ก็คือวิธีขึ้นขี่บนคอช้างเป็นต้น” [2]

ช้างจะใช้ในการสงครามทั้งเป็นพาหนะของนายทัพ นายกอง ขนส่งลำเลียงเสบียงและอาวุธ สเคาเต็นกล่าวว่า ช้างป่าจะได้รับการฝึกปรือเพื่อใช้ในการรบ ลากปืนใหญ่ ขนสัมภาระและเสบียงอาหาร [3]

ความสำคัญของช้างนี่เองเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราชสำนักเข้ามาควบคุมการค้าช้างอย่างเข้มงวด และช้างได้กลายเป็นสินค้าผูกขาดอย่างหนึ่งของราชสำนัก

การค้าช้างของราชอาณาจักรอยุธยา

การค้าช้างคงมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยาแล้วดังหลักฐานจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 กล่าวว่ารัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมีการค้าช้างและม้าในกรุงสุโขทัย อย่างไรก็ดีการค้าช้างในยุคนั้นยังเป็นการค้าในวงจำกัดคือระหว่างชุมชนหรือเมืองที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกันนัก เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่การขนส่งลำเลียงค่อนข้างยุ่งยาก ต่อเมื่อถึงสมัยอยุธยาการค้าช้างได้ขยายตัวกลายเป็นสินค้าส่งออกข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังดินแดนที่ห่างไกลออกไป

การค้าช้างทางทะเลของสยามน่าจะเริ่มมีในช่วงหลังเสียกรุงครั้งที่ 1 เพราะจากเอกสารต่างชาติในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น กล่าวถึงเพียงการส่งงาช้างไปขายร่วมกับสินค้าของป่าอื่นๆ นอกจากนี้หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกพม่าก็ยึดเอายุทธปัจจัยจำนวนมากมายมหาศาลลำเลียงไปยังหงสาวดี ช้างม้าซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธปัจจัยก็น่าจะถูกยึดเอาไปด้วยเพื่อตัดกำลังของอยุธยา

ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาจนถึงช่วงที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นครองราชย์มีสงครามติดพันยาวนาน สมเด็จพระนเรศวรทรงทำสงครามกับหัวเมืองต่างๆ เมื่อทรงได้ชัยชนะก็ทรงให้รวบรวมกำลังพลและช้างม้าเอาไว้ใช้งาน พระราชพงศาวดารกรุงเก่ากล่าวว่าครั้งที่ทรงทำสงครามยุทธหัตถีมีชัยชนะทรงได้ช้างใหญ่สูง 6 ศอก มาถึง 300 ช้าง ช้างพลายและพังระวางเพรียวอีก 500 เชือก [4] ช่วงเวลานั้นจึงน่าจะยังไม่มีการส่งช้างไปขายต่างประเทศ เพราะมีความจำเป็นในการใช้อยู่มาก ประกอบกับหัวเมือง ทวาย มะริด และตะนาวศรี ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งตะวันตกของสยามถูกพม่ายึดไว้ตั้งแต่ครั้งเสียกรุง (ทำให้สยามไม่มีเมืองท่าส่งออกสินค้าไปยังอ่าวเบงกอล) จนกระทั่งช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร จึงทรงยึดหัวเมืองดังกล่าวกลับมาไว้ในพระราชอำนาจได้สำเร็จ

การค้าช้างน่าจะเริ่มมีขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถหรือรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งเป็นช่วงเวลาบ้านเมืองสงบสุขปราศจากศึกสงครามใหญ่ และเจริญถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์ปราสาททอง

การค้าช้างในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถและรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมน่าจะมีอยู่บ้าง แต่ไม่มากเท่าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เพราะในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถและรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้น สยามประสบปัญหาจากการขึ้นมามีอำนาจของฟิลิป เดอ บริโต (Philip de Brito) [5] ทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสที่ตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองสิเรียมของมอญ และพยายามขยายอิทธิพลลงมาควบคุมเมืองท่าฝั่งตะวันตกของสยาม เมื่อเดอ บริโตถูกพม่าปราบปรามลงไปได้ พม่าก็พยายามขยายอิทธิพลเข้ามาทางตะวันตกแทน จนกระทั่งปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงมีการตกลงทำสัญญาสงบศึกระหว่างสยามกับพม่า โดยพม่ายอมคืนหัวเมืองทางฝั่งตะวันตกให้สยาม [6] ส่งผลให้การค้าที่เมืองมะริดและตะนาวศรีได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง

เมื่อถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หัวเมืองมะริด และตะนาวศรีก็อยู่ในความควบคุมของอยุธยาโดยสมบูรณ์ ทำให้สยามมีเมืองท่าสำหรับส่งออกสินค้าสู่ฝั่งตะวันตกได้สะดวกขึ้น ประกอบกับสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงต้องการขยายการค้าในฝั่งตะวันตกเพื่อทดแทนความตกต่ำของการค้าที่เกิดขึ้นในฝั่งตะวันออกอันเนื่องมาจากทางการญี่ปุ่นประกาศปิดประเทศ และการขยายอิทธิพลของฮอลันดาในทะเลตะวันออกจนส่งผลกระทบต่อสยาม การค้าฝั่งตะวันตกที่เพิ่มขึ้นพลอยทำให้ตลาดค้าช้างของสยามเติบโตตามไปด้วย

ในสมัยอยุธยาช้างไม่ใช่สินค้าที่ใครจะใคร่ค้าได้ เหมือนในสมัยสุโขทัย แต่พระมหากษัตริย์ทรงสงวนสิทธิ์ประกอบการค้าช้างเพียงพระองค์เดียว และไม่ทรงอนุญาตให้ผู้ใดทำการค้าได้ [7]

หนังสือ “สำเภากษัตริย์สุไลมาน” ซึ่งเป็นบันทึกการเดินทางของคณะทูตอิหร่านที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ กล่าวว่า ช้างเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอย่างหนึ่งของสยาม ทุกปีพระมหากษัตริย์จะทรงจัดให้มีการคล้องช้าง โดยแต่ละครั้งจะจับช้างได้ราว 200-400 ตัว ช้างส่วนหนึ่งจะถูกฝึกให้เชื่องเพื่อใช้งานและส่งขาย [8]

จากจำนวนช้างที่กล่าวถึงในบันทึกของอิหร่าน แสดงว่าในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์การค้าช้างเป็นกิจการใหญ่ที่ทำรายได้เข้าพระคลังมิใช่น้อย นอกจากราชสำนักจะดำเนินการจับช้างเองแล้ว ยังอนุญาตให้ชาวบ้านจับช้างป่ามาใช้งานได้ แต่ต้องอยู่ในความควบคุมโดยต้องแจ้งจำนวนของช้างต่อทางราชการ นอกจากนี้ช้างบางเชือกยังถูกส่งมาเป็นค่าภาคหลวงแทนภาษีของราษฎรที่จ่ายให้แก่ราชสำนัก [9] ซึ่งเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ราชสำนักจะได้ช้างมาไว้ใช้งานและส่งขายต่างประเทศ

ตลาดค้าช้างใหญ่ที่สุดคือบริเวณรอบอ่าวเบงกอล ได้แก่แถบเมืองท่าชายทะเลฝั่งตะวันตกของสยาม และฝั่งตะวันออกของอินเดีย เมืองท่าหลักที่ส่งออกช้างจากสยามมีอยู่ 2-3 จุด คือ เมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี กับเมืองที่อยู่ในคาบสมุทรภาคใต้ฝั่งตะวันตก คือตรัง [10] จากเมืองท่าเหล่านี้ช้างจะถูกลำเลียงโดยทางเรือเพื่อไปยังเมืองท่าฝั่งตะวันออกของอินเดียโดยมีตลาดรับซื้อใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เมืองท่าของอาณาจักรเบงกอล และเมืองท่าแถบชายฝั่งโคโรแมนเดล (เอกสารไทยเรียกว่า “โจฬมณฑล” คือบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย) ลงไปจนถึงศรีลังกา

ในเบงกอลช้างของสยามจะใช้ชักไม้ออกจากป่า เป็นพาหนะในการเดินทางและทำสงคราม เช่นเดียวกับในแถบที่ราบสูงเดคคานตอนกลางค่อนไปทางใต้ของชมพูทวีปอันเป็นที่ตั้งของราชอาณาจักรอิสระ 3 แห่งคือ พิชปูร (Biapur) อะหมัดนคร (Ahmadnagar) และกอลกอนดา (Golgonda) อาณาจักรทั้งสามแห่งเป็นรัฐมุสลิมที่ปกครองโดยกษัตริย์ ผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ [11] ซึ่งทำสงครามต่อต้านการขยายอำนาจของจักรพรรดิโมกุลที่มีอำนาจอยู่ทางตอนเหนือ และพยายามขยายอาณาเขตลงมาครอบครองรัฐแถบเดคคาน

จักรพรรดิโมกุลสองพระองค์คือชาห์เจฮัน (Shah Jahan-ครองราชย์ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) และออรังเซบ (Aurangzeb-ครองราชย์อยู่ร่วมสมัยกับสมเด็จพระนารายณ์) เป็นกษัตริย์มุสลิมนิกายสุหนี่ที่เคร่งครัดมาก ทั้งสองพระองค์พยายามจะยึดครองรัฐมุสลิมนิกายชีอะห์ทั้งสามด้วยการส่งกำลังทหารไปโจมตีหลายครั้ง สงครามระหว่างจักรวรรดิโมกุลและอาณาจักรชีอะห์ดำเนินอยู่ยาวนาน เป็นสาเหตุที่ทำให้กษัตริย์เหล่านั้นต้องทรงใช้ช้างเพื่อการสงครามเป็นจำนวนมากจึงมีการสั่งนำเข้าช้างจากสยาม

คุณลักษณะพิเศษของช้างสยามที่ทำให้บรรดาเจ้าเมืองแขกต้องการ คือความฉลาด ฝึกฝนง่าย แข็งแรงอดทน บรรทุกสัมภาระได้มาก ทั้งยังเหมาะกับภูมิอากาศของแคว้นต่างๆ ในอินเดีย เช่นป่าฝนเขตร้อนของเบงกอลเป็นต้น อันที่จริงในศรีลังกาก็มีช้างอยู่มากแต่ช้างลังกามีขนาดเล็กกว่าช้างสยามไม่เหมาะกับงานหนัก [12] เจ้าเมืองแขกจึงนิยมชมชอบช้างสยามซึ่งมีรูปร่างใหญ่โตสูงสง่า

ช้างที่จะส่งออกไปขายยังต่างประเทศคงไม่ใช่ช้างป่า แต่ต้องเป็นช้างที่ผ่านการฝึกฝนหรือเลี้ยงดูโดยมนุษย์มาระยะหนึ่ง มิเช่นนั้นจะควบคุมให้อยู่ในเรือซึ่งมีพื้นที่จำกัดได้ยาก เพราะช้างอาจตื่นตกใจจนก่อให้เกิดอันตรายได้

สันนิษฐานว่ากรมพระคชบาลที่มีครูผู้ฝึกช้างอยู่ในสังกัดเป็นจำนวนมาก น่าจะมีหน้าที่ฝึกช้างทั้งที่เป็นช้างหลวงใช้ในราชการ และช้างที่จะส่งออกไปขายยังต่างประเทศด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้บรรดาทูตเมืองแขกซึ่งต้องการซื้อช้างต้องติดต่อโดยตรงกับราชสำนักซึ่งทำหน้าที่ผู้จัดหา ลำเลียง และฝึกช้างเพื่อส่งขาย

ช้างที่มาจากทุกภูมิภาคน่าจะลำเลียงเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาก่อนเพื่อคัดเลือกไว้ฝึกใช้งานหรือส่งขาย ในสมัยราชวงศ์ปราสาททองตลาดกลางค้าช้างในกรุงศรีอยุธยาคงคึกคักพอสมควร เพราะจากเอกสารต่างชาติระบุว่า สยามจะค้าช้างเป็นประจำทุกปี ขบวนคาราวานช้างจากป่าทั่วราชอาณาจักรที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาคงเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับนักเดินทางชาวต่างชาติ จึงมีบันทึกถึงเรื่องราวของช้างสยามไว้ในจดหมายเหตุหลายฉบับ

พ่อค้าที่ต้องการซื้อช้างจากสยามจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ในการประกอบการค้าแต่ละครั้ง โดยต้องมีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายก่อน เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชานุญาตแล้วจึงจะดำเนินการได้ อย่างเช่นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ่อค้าจากเบงกอลได้ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือเพื่อขออนุญาตนำช้างออกนอกพระราชอาณาจักรหลายครั้งด้วยกัน [13]

ตุรแปงกล่าวถึงความสำคัญของการค้าช้างของสยาม ไว้ดังนี้

…พระเจ้าแผ่นดินและบรรดาเจ้านายจับช้างได้เป็นอันมาก จึงทรงเลือกช้างงามๆ ไว้ใช้งานและส่งเชือกที่เหลือไปเมืองมะริด เพื่อขายให้แก่พ่อค้าที่มาจากฝั่งโคโรแมนเดลเพื่อทำการค้านี้ และนำเอาผ้างามๆ จากเบงกอล เมืองสหรัตและประเทศเปอร์เซียมาแลกเปลี่ยน เกือบทุกปีมีการขายช้างอย่างน้อยห้าสิบเชือก การค้าช้างนี้แหละ ทำให้พระราชอาณาจักรสยามมีผ้าทุกชนิดมากมายซึ่งนำมาจากทุกภูมิภาคในเอเชีย นี่แหละความร่ำรวยอันแท้จริงของชาวสยาม ซึ่งอาศัยการค้าช้างและค้างาช้างจึงได้รับผลผลิตต่างๆ จากต่างประเทศ… [14]

ช้างที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ขายได้จะถูกลำเลียงต่อไปยังเมืองตะนาวศรีและมะริดซึ่งมีท่าเรือขนส่งสินค้าต่อไปยังเมืองท่าต่างๆ ในอินเดีย เมืองท่าสำคัญของอาณาจักรเบงกอลที่เป็นแหล่งรับซื้อช้าง สยามคือบะละซอร์ (Balasore) พิพลี (Pipli) และฮักลี (Hugli) พ่อค้าจากเมืองท่าเหล่านี้ จะนำเรือมาซื้อช้างที่เมืองตะนาวศรี [15] นอกจากนี้พระเจ้ากรุงสยามยังทรงมีสถานีการค้าอยู่ที่บะละซอร์เพื่อทรงค้าช้างและดีบุก จากบันทึกของพ่อค้าชาวอังกฤษระบุว่าเมื่อ พ.ศ. 2222 พระเจ้ากรุงสยาม (สมเด็จพระนารายณ์) ทรงส่งเรือหลวงจำนวน 2 ลำจากตะนาวศรีบรรทุกช้างมาขายที่บะละซอร์ [16]

สำหรับเมืองท่าของอาณาจักรในแถบเดคคาน ซึ่งเป็นตลาดรับซื้อช้างสยามคือมะสุลีปะตัม (Masulipatum) ซึ่งเป็นเมืองท่าริมทะเลทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ตั้งอยู่บนชายฝั่งโคโรแมนเดล

มะสุลีปะตัมเป็นเมืองท่านานาชาติของราชอาณาจักรกอลกอนดา ปกครองโดยข้าหลวงหรือนิชามซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกุตาบ ชาฮีร์แห่งไฮเดอราบัด (Qutab Shahi of Hydarabad) ประมุขของกอลกอนดา ข้าหลวงแห่งมะสุลีปะตัมจะมีกองเรือค้าขายของตนเองเพื่อประกอบการค้าระหว่างสยามกับกอลกอนดา นอกจากนี้ราชสำนักสยามก็ยังว่าจ้างเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเมืองมะสุลีปะตัม ทำหน้าที่นายหน้าคอยจัดหาสินค้าที่สยามต้องการและระบายสินค้าของสยามสู่ตลาดฝั่งตะวันตกด้วย [17] จากมะสุลีปะตัมสินค้าจะถูกลำเลียงไปยังรัฐข้างเคียงทางแม่น้ำกฤษณา ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ที่มีสาขาแยกออกไปอีกหลายสายโดยไหลผ่านไปจนถึงพิชปูรทางฝั่งตะวันตกของอินเดีย มะสุลีปะตัมจึงเป็นเมืองท่าระบายสินค้าต่างๆ ของสยามรวมทั้งช้างไปสู่อินเดียภาคใต้และตะวันตกเฉียงใต้

การค้าช้างของสยามส่วนใหญ่ดำเนินการโดยพวกพ่อค้าแขก โดยเฉพาะพ่อค้าชาวอินเดีย เนื่องจากช้างสยามเป็นที่นิยมมากในอินเดีย ทั้งในเบงกอล และเดคคาน [18] พ่อค้าเหล่านี้จะนำช้างลำเลียงใส่เรือ ซึ่งน่าจะมีการออกแบบห้องบรรทุกให้เหมาะสมจะนำช้างเดินทางออกไปในทะเลได้หลายวัน “สำเภากษัตริย์สุไลมาน” เล่าว่า ราคาช้างในสยามตกอยู่ราวตัวละ 7 ถึง 8 โตมาน (เงินอิหร่าน 1 โตมาน เทียบได้กับเงินอังกฤษประมาณ 3 ปอนด์เศษในช่วงเวลานั้น ราคาช้างหนึ่งเชือกจึงน่าจะอยู่ที่ 20-25 ปอนด์อังกฤษ) แต่ถ้าหากช้างรอดชีวิตจากการเดินทางและนำไปขายยังต่างประเทศจะได้ราคาถึง 30 โตมาน (ราว 100 ปอนด์) เลยทีเดียว [19] ราคาที่สูงขึ้นถึง 4 เท่านี่เองเป็นแรงจูงใจอย่างดีที่ทำให้พ่อค้าแขกอินเดียเข้ามาหาซื้อช้างสยามไปขาย การค้าช้างจึงเฟื่องฟูมากในช่วงเวลานั้น

ความซบเซาของการค้าช้าง

หลังจากเฟื่องฟูอยู่หลายสิบปี การค้าช้างของสยามก็ประสบปัญหาอันเนื่องมาจากอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของชาวตะวันตกในราชสำนักสยาม ส่งผลให้การค้าที่เคยอยู่ในมือของพวกมุสลิมถูกชาวตะวันตกแย่งชิงผลประโยชน์ไป โดยเฉพาะเมื่อคอนสแตนติน ฟอลคอน พ่อค้าและนักแสวงโชคชาวกรีกได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งออกญาวิชาเยนทร์ ที่ปรึกษาของสมเด็จพระนารายณ์ แทนที่อกามะหะหมัด หรือออกญาศรีเนาวรัตน์ ขุนนางมุสลิมเชื้อสายอิหร่านซึ่งถึงอนิจกรรมไปเสียก่อน

ฟอลคอนสนับสนุนการค้าของชาวอังกฤษและฝรั่งเศสโดยขัดขวางการค้าของพวกมุสลิม จนเป็นเหตุให้พ่อค้าแขกไม่พอใจ และได้ร่วมกันต่อต้านการค้าของสยามที่ผ่านทางพ่อค้ายุโรปโดยไม่ยอมช่วยเหลือกระจายสินค้าของสยามในตลาดฝั่งตะวันตกเหมือนเมื่อก่อน ทั้งยังขัดขวางการค้าของสยามไม่ให้ได้รับความสะดวกต่างๆ ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระนารายณ์ภายใต้การถวายคำแนะนำของฟอลคอนจึงตอบโต้ ด้วยการยึดเรือสินค้าของมุสลิมในแถบเมืองท่าของสยาม นอกจากนี้ฟอลคอนยังจัดตั้งกองเรือเพื่อปล้นสะดมสินค้าของพ่อค้าแขกและยังส่งกองเรือไปเผาทำลายเมืองท่าหลายแห่งของอาณาจักรกอลกอนดา ความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นทั้งสองอาณาจักรประกาศสงครามแก่กัน ส่งผลให้การค้าระหว่างสยามกับรัฐต่างๆ ในอินเดียประสบภาวะชะงักงัน

“สำเภากษัตริย์สุไลมาน” กล่าวว่าด้วยปัญหาความขัดแย้งระหว่างสยามกับอินเดียช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทำให้พ่อค้ามุสลิมจากอินเดียหันไปซื้อช้างจากที่อื่นซึ่งมีราคาถูกกว่า [20] โดยพ่อค้าเบงกอลและเดคคานได้หันไปซื้อช้างจากพะโคหรือหงสาวดี ซึ่งกลายเป็นตลาดการค้าที่รุ่งเรืองขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 23 [21] ช้างจากหัวเมืองมอญและพม่าได้กลายเป็นคู่แข่งของช้างสยาม แถมยังมีราคาถูกกว่าช้างของสยามอีกด้วย จากบันทึกของตุรแปงทำให้พอจะประมาณช้างที่สยามส่งออกไปขายในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาว่า มีประะมาณ 50 เชือกต่อปี ซึ่งน้อยกว่าในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ซึ่งน่าจะมีถึง 300 เชือก

สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้การค้าช้างซบเซาลงก็เพราะ Demand หรือความต้องการช้างในการใช้งานน้อยลง เนื่องจากรัฐมุสลิมชีอะห์ในแคว้นเดคคาน รวมทั้งอาณาจักรเบงกอลได้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของจักรพรรดิโมกุลเสียแล้ว ทำให้ความต้องการช้างเพื่อใช้ในสงครามพลอยลดน้อยลงไปด้วย

แม้การค้าช้างของสยามหลังสมัยราชวงศ์ปราสาททองจะซบเซาลงไปมาก แต่ราชสำนักราชวงศ์บ้านพลูหลวงก็ยังคงส่งช้างออกไปขายที่อินเดียอยู่เป็นระยะๆ ดังหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงเก่ากล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงให้ต่อเรือกำปั่นขนาดระวางปากกว้าง 6 วา แล่นใบไปที่เมืองมะริดเพื่อบรรทุกช้างออกไปขายที่อินเดียจำนวน 40 ช้าง [22]

การค้าช้างยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า และได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ได้เปลี่ยนไปใช้เส้นทางค้าขายที่เมืองตรังแทน เพราะทวาย มะริด และตะนาวศรีถูกพม่ายึดไปได้ตั้งแต่เสียกรุงครั้งที่ 2

การค้าช้างของหลวงคงยกเลิกไปในรัชกาลที่ 4 เมื่อมีการยกเลิกพระคลังสินค้า อันเป็นการยกเลิกระบบผูกขาดทางการค้าของราชสำนักนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง, ประวัติแห่งพระราชอาณาจักรสยาม, แปลโดย ปอล ซาเวียร์ (กรุงเทพฯ : สหประชาพาณิชย์, 2530), หน้า 157.

[2] เรื่องเดียวกัน, 158

[3] “จดหมายเหตุของโยสต์ สเคาเต็น” ใน ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2542\), หน้า 270.

[4] “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 3, หน้า 311.

[5] ฟิลิป เดอ บริโต เป็นทหารรับจ้างโปรตุเกส ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้พาสมัครพรรคพวกเข้ามายึดพื้นที่แถบเมืองสิเรียมของมอญ แล้วสร้างป้อมปราการขึ้น ต่อมาบริโตได้สถาปนาตนเองเป็นเจ้าเมืองและพยายามขยายอิทธิพลในแถบเมืองท่าชายฝั่งของมอญ ภายหลังถูกกองทัพของพระเจ้าอนอกเพทลุง (Anaukpetlun) แห่งพม่าปราบปรามสำเร็จ และเดอ บริโตถูกสังหารในที่สุด

[6] เอกสารฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา, หน้า 23

[7] ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง, ประวัติแห่งพระราชอาณาจักรสยาม. หน้า 158.

[8] Muhammad Rabi, The Ship of Sulaiman, p. 150

[9] สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ “ตำนานภาษีอากรบางอย่าง” ใน ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ เล่ม 2 (กรุงเทพฯ : เจริญรัตน์การพิมพ์ 2515), หน้า 157.

[10] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน

[11] ศาสนาอิสลามแบ่งแยกออกเป็น 2 นิกายใหญ่ๆ คือ นิกายสุหนี่เป็นนิกายที่มีประชากรนับถือมากที่สุด ส่วนอีกนิกายหนึ่งคือชีอะห์ที่ประชากรนับถือมากเป็นอันดับสอง นิกายชีอะห์มีหลักคำสอนเหมือนกับนิกายสุหนี่ ต่างกันตรงที่ฝ่ายชีอะห์จะให้ความสำคัญกับบุคคลที่สืบสายเลือดมาจากพระศาสดามะหะหมัด โดยถือว่าเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์และเป็นผู้สืบทอดแนวทางที่ถูกต้องของอิสลาม ฝ่ายสุหนี่มักมองว่าพวกชีอะห์เป็นพวกแปลกแยกออกไปจึงเกิดความขัดแย้งถึงขั้นทำสงครามกันหลายครั้ง มุสลิมทั้งนิกายสุหนี่และชีอะห์ต่างก็เข้าไปตั้งถิ่นฐานและเผยแผ่แนวทางคำสอนตามลัทธิความเชื่อในอินเดีย ภายหลังนิกายชีอะห์มีศูนย์กลางอยู่ที่รัฐในแถบที่ราบสูงเดคคาน เช่น กอลกอนดา และพิชปูร ส่วนนิกายสุหนี่ได้รับการสนับสนุนจากจักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมกุล

[12] Muhammad Rabi, The Ship of Sulaiman, p. 168.

[13] เอกสารฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา, หน้า 253.

[14] ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง, ประวัติแห่งพระราชอาณาจักรสยาม, หน้า 158.

[15] Thomas Bowrey. A Geographical Account of Countries Round the Bay of Bengal, 1669-1679, ed. R.C. Temple (London: Hakluyt Society, 1905), p. 185.

[16] Sila Tripati, “Ports and Maritime Activities of Orissa (16th to 19th centuries)”, in K. S. Mathew ed. Ship-Building and Navigation in the Indian Ocean Region A.D. 1400-1800 (New Delhi : Munshiram Monoharlal, 1997), p. 160.

[17] บันทึกของโยสต์ สเคาเต็น ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และจดหมายเหตุคณะบาทหลวงฝรั่งเศสในช่วงต้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์กล่าวว่าพระมหากษัตริย์สยามทรงมีพนักงานท้องถิ่นในเมืองมะสุลีปะตัมและแถบโคโรแมนเดล ซึ่งจะคอยแสวงหาสินค้าต่างๆ รวมทั้งขายสินค้าให้กับสยาม ดูรายละเอียดใน Adrien Launay, Histoire de La Mission de Siam 1662-1881 : Documents Historique Vol. I (Paris: Foreign-Mission Society, 1920, p. 70.)

[18] Muhammad Rabi, The Ship of Sulaiman, p. 150.

[19] Ibid.

[20] Ibid.

[21] บันทึกการค้าของอังกฤษรายงานว่าในช่วงนั้นการค้าระหว่างพะโคกับเมืองท่าต่างๆ ในอินเดียเพิ่มมากขึ้นหลายเท่า

[22] “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธk ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 3 หน้า 431.


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก ดร. จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. “ช้างเป็นสินค้า ค้าช้างสมันอยุธยา” ใน, ศิลปวัฒนธรรม มกราคม 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2565