ช้างน้ำ ตัวใหญ่แค่ไหน ถึงเรียกสาวอวบๆ ว่า “อีช้างน้ำ”

ช้างมีหาง ช้าง ภาพจิตรกรรม สัตว์หิมพานต์
กุญชรวารี ช้างมีหางสัตว์หิมพานต์ในภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดคงคาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

อีช้างน้ำ เป็นคำที่ใช้ บุลลี่, ด่าทอ, จิกเรียก ฯลฯ บรรดาสาวๆ ที่มีรูปร่างอวบอ้วน แล้ว “ช้างน้ำ” ที่ว่าเป็นสัตว์ชนิดใด เหมือนหรือแตกต่างกับช้างทั่วไปหรือไม่ ที่สำคัญคือมันมีรูปร่างใหญ่โตขนาดไหน จึงนำมาใช้ต่อว่าสาวเจ้าเนื้อทั้งหลาย

เอนก นาวิกมูล เจ้าของสโลแกนว่า “เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า” กล่าวว่า ครั้งหนึ่งพยายามตัดข่าวจากหนังสือพิมพ์มาปิดลงบนกระดาษพิมพ์ดีดอย่างประณีตเก็บไปคลังข้อมูล ในบรรดาข่าวทั้งหมดที่เก็บ เขาชอบข่าวเรื่อง “ช้างน้ำตัวจิ๋ว” เป็นพิเศษ เพราะเห็นว่ามันเป็นเรื่องลี้ลับสนุกสนานดี

ข้อมูลแรกๆ ที่ทำให้เอนกรู้จักช้างน้ำคือ หนังสือชื่อล่องแก่งแม่น้ำปิง สำนักพิมพ์คลังวิทยา พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2510 ที่ ยุทธ เดชคำรณ นำข้อเขียนเรื่อง “ช้างน้ำ” ที่ ประกาญจน์  ตันน์ไพรัช เขียนไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2506 รวมอยู่ในเล่ม

จากหนังสือชื่อล่องแก่งแม่น้ำปิง ยุทธนำข้อเขียนเรื่องช้างน้ำโดย ประกาญจน์ ตันน์ไพรัช ที่เคยตีพิมพ์ในวารสารแผนกไม้สัก ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ปีที่ 1 เล่มที่ 4 วันที่ 31 มกราคม 2506 มาสรุปลักษณะของช้างน้ำไว้ว่า

ช้างน้ำเป็นสัตว์แปลกประหลาด เป็นสัตว์กึ่งนิยาย กึ่งความจริง เล่ากันเฉพาะทางเหนือของประเทศไทย ลาว พม่า และเขมรเท่านั้น มีรูปร่างเหมือนช้างที่เราใช้ลากซุง ผิดแต่ตัวมันเล็ก และชอบอาศัยอยู่ในน้ำที่เป็นวังลึกๆ งาของมันมีพิษอยู่และเป็นศัตรูอันร้ายกาจของช้างบก บริเวณใดเป็นที่อาศัยของช้างน้ำ ช้างบก [ช้างทั่วไป] จะไม่ยอมลงน้ำตรงนั้นเลย ไม่ว่าควาญจะบังคับด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม ช้างบกเท่านั้นที่จะรู้ว่าตรงไหนมีช้างน้ำอาศัยอยู่

หลักฐานการพบเห็นของประกาญจน์ คือ ครั้งที่ 1 เมื่อประมาณ พ.ศ. 2483 ขณะที่ประกาญจน์สำรวจไม้ในแม่น้ำปิงไปถึงบริเวณสบห้วยแม่ตื๋น พบชาวบ้านทอดแหได้สัตว์ประหลาดตัวหนึ่งขึ้นมา มีลักษณะเหมือนช้าง ทีแรกประกาญจน์เข้าใจว่า เป็นลูกช้างแท้ง เมื่อวัดขนาดดูก็พอจะจำได้ว่ามีส่วนสูง 6 นิ้ว ไม่มีขน หนังสีดำมอๆ เหี่ยวย่นเป็นบางแห่ง ไม่ตึงเหมือนหนังปลา ชาวบ้านที่ทราบเรื่องบอกว่านี่แหละ “ช้างน้ำ”

ครั้งที่ 2 นายประกาญจน์เห็นจากรูปถ่ายในหนังสือพิมพ์รายวันต่างประเทศฉบับหนึ่ง จำไม่ได้ว่าชื่อหนังสือพิมพ์อะไร มีคำอธิบายใต้ภาพว่าช้างน้ำ ได้จากแม่น้ำสาละวิน มันแทงเท้าช้างของชาวบ้านขณะลงไปอาบน้ำ และตัวช้างน้ำพลอยติดช้างบกขึ้นมาบนบกด้วย เพราะมันดึงงาออกจากเท้าช้างบกไม่ได้

ช้างทั้งสองต้องตายด้วยกันทั้งคู่ ทางการพม่าได้ดองซากช้างนั้นเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ และต่อมาได้ถูกขโมยไป ช้างน้ำตัวนี้สูง 3 นิ้วฟุต มีงางอนทั้ง 2 ข้าง รูปถ่ายดังกล่าว นายประกาญจน์ว่าเคยให้ท่านผู้ใหญ่และเพื่อนฝูงในสำนักงาน อ.อ.ป. ดูกันแล้ว

นายประกาญจน์กล่าวต่อไปว่า เงาของช้างน้ำก็มีพิษสง มีเรื่องเล่ากันว่า คนเราถูกแทงแม้แต่ด้วยเงาก็จะตายทันที แต่ข้อนี้ยังไม่มีประจักษ์พยาน

ต่อไปเป็นข่าว “ช้างน้ำ” จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พ.ศ. 2539 ที่เอนกเก็บไว้

ไทยรัฐ ฉบับวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2539 ขึ้นปกรูปสัตว์ประหลาดลักษณะเหมือนช้าง ตัวขนาดเท่ากลักไม้ขีด พระธุดงค์ไปพบกลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ระบุว่าเป็นช้างน้ำสัตว์ในตำนานของกะเหรี่ยง

ช้างน้ำ ช้าง หนังสือพิมพ์ ข่าว
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2539 ลงรูปช้างน้ำขนาดเล็ก 3 ตัวในกล่องสีแดง เห็นชัดเจนว่าหน้าตาเหมือนช้างทั่วไป

พระธุดงค์เปิดเผยว่าตนชื่อ พระประกิต ตันติสาโร อายุ 42 ปี เป็นชาวจังหวัดปราจีนบุรี เล่าว่า คืน 15 ค่ำวันหนึ่งก่อนเข้าพรรษา ระหว่างนั่งสมาธิโปรดสัตว์อยู่ภายในกลดที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ได้ยินเสียงร้องคล้ายเสียงช้างป่า จึงลุกจากการนั่งสมาธิ เอาไฟฉายไปส่องดูรอบๆ บริเวณกลดก็พบโขลงช้างซึ่งมีด้วยกัน 10 กว่าตัว แต่สิ่งที่น่าแปลกประหลาดคือช้างเหล่านั้นมีขนาดเล็กเท่ากลักไม้ขีดไฟ

เมื่อใช้ไฟส่องดูนานๆ ช้างก็ตกใจ พากันหนี พระประกิตจึงส่องไฟสำรวจอีกทั่วๆ บริเวณ จนพบช้างตัวหนึ่งนอนตะแคงตายอยู่ จึงเอาใบไม้ห่อซากไว้ จนรุ่งเช้าจึงได้ธุดงค์ต่อไป พอคนกะเหรี่ยงนำข้าวปลามาถวาย พระประกิตก็เล่าเรื่องดังกล่าวให้ฟัง พร้อมกับนำซากช้างที่ยังไม่เน่าเปื่อยมาให้ชาวกะเหรี่ยงดู

รุ่งขึ้น ไทยรัฐ ฉบับวันพุธที่ 23 ตุลาคม 2539 ก็ลงข่าวช้างน้ำต่อไปว่า นายสุรศักดิ์ เย็นทั่ว อายุ 30 ปี ราษฎรบ้านพระเจดีย์สามองค์ ได้รับมอบหมายจากพระประกิตให้ดูแลช้างแทน ได้หอบช้างหลบหนีความวุ่นวายจากผู้ที่สนใจไปขอซากช้างน้ำ ก่อนจะตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ พร้อมผู้สื่อข่าวไทยรัฐ เพื่อให้สัตวแพทย์จากสวนสัตว์ดุสิต รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พิสูจน์ดู

คณะผู้พิสูจน์ประกอบด้วย นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ ผู้อำนวยการสวนสัตว์ดุสิต, รศ. ดร. สืบสิน สนธิรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญจำแนกสัตว์ คณะประมง, ผศ. นายสัตวแพทย์ ดร. อนันต์ ศรีขาว หัวหน้าภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์, นายปกรณ์ โง้วมณี แห่งมูลนิธิคนรักช้าง ฯลฯ ผู้พิสูจน์จำนวนหนึ่งเห็นว่า ซากนี้ไม่ใช่สัตว์ แต่เป็นการประดิษฐ์ขึ้น ขณะที่จำนวนมากไม่กล้าฟันธง โดยให้เหตุผลในเรื่องข้อจำกัดของเครื่องมือที่ใช้กล้องขยายที่มีอัตราส่วน 10 เท่า

ช้าง ช้างน้ำ หนังสือพิมพ์ ข่าว
“อ้างพบช้างน้ำจิ๋วขาย 5 ล้าน” มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 9 พฤษภาคม 2550

ในปี 2539 ยังมีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับ ช้างน้ำ อีกหลายครั้ง ข้อมูลของข่าวก็มีความน่าสนใจแตกต่างกันไป แต่ส่วนหนึ่งที่ไม่ต่างกันเลยก็คือขนาดของช้างน้ำ ที่พบทุกครั้งจะมีลำตัวยาวประมาณ 3-6 นิ้ว และมีราคาซื้อขายค่อนข้างสูง

ดังนั้น การด่าสาวๆ ที่ค่อนข้างมีน้ำมีนวลว่า “อีช้างน้ำ” จึงผิดอย่างแรง ด้วยเป็นการผิดมารยาท ที่เอาเรื่องร่างกายคนมาบุลลี่แล้ว และยังผิดในแง่ข้อมูลอีกด้วย เพราะถ้าช้างน้ำมีจริงมันก็คือช้างจิ๋วนั่นเอง โปรดทราบ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก เอนก นาวิกมูล. “ช้างน้ำ” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม 2563.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2566