ต้นวงศ์กษัตริย์กัมพูชา อยู่ที่ “มูลเทศะ” ในภาคอีสาน

ปราสาทนครวัด นครวัด กัมพูชา เขมร สมัย พระนคร
ภาพวาดนครวัดจากหนังสือ Voyage d'exploration en Indo-Chine เมื่อ ค.ศ. 1866

“มูลเทศะ” คือพื้นที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคอีสาน บริเวณต้นแม่น้ำมูล ตั้งแต่เขตปราสาทพนมวัน ปราสาทหินพิมาย ปราสาทเขาพนมรุ้ง เป็นถิ่นฐานดั้งเดิม หรือ “ถิ่นบรรพบุรุษ” ที่เกี่ยวดองเป็น “เครือญาติ” ของกษัตริย์ที่สถาปนาอาณาจักร “กัมพูชา” ขึ้นบริเวณทะเลสาบเขมร เพราะมีพยานหลักฐานเป็นศิลาจารึก โบราณวัตถุ โบราณสถาน จารึกโบราณสมัยก่อนและหลังเมืองพระนครบ่งชี้ว่า บริเวณลุ่มน้ำมูลคือเขตแดนที่เรียกว่า มูลเทศะ มีเมืองสำคัญเรียก “ภีมปุระ” ซึ่งต่อมาคือ วิมายปุระ หรือเมืองพิมาย

ทั้งปราสาทหินพิมายและปราสาทหินพนมรุ้ง ล้วนเป็นสิ่งปลูกสร้างของกษัตริย์ที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ มูลเทศะ กับภีมปุระ มาก่อน นักวิชาการเรียกกษัตริย์วงศ์วานนี้ว่า ราชวงศ์มหิธปุระ มีกษัตริย์องค์สำคัญคือ “พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2” ผู้สร้างปราสาทนครวัด และ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 7” ผู้สร้างเมืองนครธม

ขบวนแห่ “เครือญาติ” กษัตริย์กัมพูชา

รูปสลักขบวนแห่ทหารในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ ปราสาทนครวัด นอกจากแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ฉัน “เครือญาติ” ระหว่างกษัตริย์เขมรเมืองพระนคร กับบ้านเมืองแว่นแคว้นต่าง ๆ ที่อยู่โดยรอบและที่อยู่ห่างไกลออกไปแล้ว ยังบอกให้รู้ถึง “เครือข่าย” ทางการค้าภายในบนเส้นทางการคมนาคม-การค้าในยุคสมัยนั้นด้วย

จารึกที่มีกำกับขบวนแห่ทหาร ทำให้รู้พระนามกษัตริย์องค์สำคัญและนามเจ้านายกับขุนนางที่เข้าร่วมขบวน รวมถึงชื่อเมืองกับชื่อกลุ่มชน การสืบค้นโดย ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์, จิตร ภูมิศักดิ์ และอาจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม ทำให้รู้ว่ากษัตริย์เขมรเมืองพระนคร มีความสัมพันธ์ “อย่างใกล้ชิด” กับเมืองพิมาย เมืองละโว้ และเมืองเชงฌาล และเกี่ยวข้องกับ “ชาวสยาม”

ภาพสลักรูปกองทัพสฺยำกุก ที่ผนังระเบียงปราสาทนครวัดด้านทิศใต้ปีกตะวันตก เดิมมีข้อความจารึกว่า “เนะ สฺยำกุก” ปัจจุบันถูกกะเทาะหลุดหายไปแล้ว (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2552)

พิมาย ศูนย์กลาง “มูลเทศะ”

อยู่ที่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ในปัจจุบัน เมืองพิมายอยู่บริเวณต้นลำน้ำมูล เขตอีสานใต้ มีพัฒนาการไม่น้อยกว่า 3,000 ปี และร่วมยุคสมัยกับเมืองละโว้ บริเวณตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา นักวิชาการเชื่อว่า พิมาย คือ “บ้านเกิด” ของกษัตริย์ราชวงศ์มหิธรปุระ ที่สถาปนาอาณาจักรกัมพูชาขึ้นบริเวณทะเลสาบเขมร

กษัตริย์เมืองพิมายที่เลื่อมใสพุทธศาสนานิกายมหายาน สร้างปราสาทหินพิมายขึ้นเป็นพุทธสถานราวพุทธศตวรรษที่ 17 ต่อมากษัตริย์แห่งเมืองพระนคร เชื้อสายมหิธรปุระ ได้ให้ช่างเอาแบบไปสร้าง “ปราสาทนครวัด” เป็นปรางค์ 5 ยอด อย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน ปราสาทพิมายยังเป็นต้นแบบของ ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เพราะจารึกปราสาทพนมรุ้งบอกว่า พิมาย, นครวัด, พนมรุ้ง ล้วนเป็น “เครือญาติ” ใกล้ชิดกัน

เอกสารยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ระบุชื่อ เมืองพิมาย กับ เมืองพนมรุ้ง ว่าเจ้าเมืองยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาที่มีอำนาจเหนือดินแดนลุ่มแม่น้ำมูล บริเวณอีสานใต้ ต่อมาจึงยกนครราชสีมา หรือเมืองโคราช เป็นศูนย์กลางอำนาจของภูมิภาค “มูลเทศะ” สถานะของเมืองพิมายจึงลดบทบาทความสำคัญลง

ปราสาทพิมาย (ภาพจากโดรน มติชนทีวี)

อำนาจของเขมร ต่อ “มูลเทศะ”

อาจารย์ศรีศักร อธิบายลักษณะความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบเครือญาติด้วยประเพณีแต่งงานระหว่างเมืองในภาคอีสาน (เขมรสูง-มูลเทศะ) กับ กัมพูชา (เขมรต่ำ) ในตอนหนึ่งของหนังสือ แอ่งอารยธรรมอีสาน ดังนี้

“ขอมได้เข้ามามีอิทธิพลในทางวัฒนธรรมและการเมืองอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในบริเวณสองฝั่งแม่น้ำมูลนั้นได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชาอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะบรรดาปราสาทสำคัญ ๆ ในย่านนี้ปรากฏมีศิลาจารึกซึ่งระบุพระนามพระมหากษัตริย์ขอมเป็นผู้สร้าง หรือไม่ก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเสมอ

อันที่จริงดินแดนลุ่มน้ำมูลมีความสัมพันธ์ทั้งในทางการเมืองและวัฒนธรรมกับขอมมาช้านานแล้ว ดังที่ข้าพเจ้าได้ระบุไว้ในวารสารฉบับที่แล้วว่า ‘ตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของเจ้าชายจิตรเสน ผู้ต่อมาได้ครองราชย์ในแคว้นเจนละในพระนามมเหนทรวรมัน’ ในสมัยหลังลงมา ความสัมพันธ์กับขอมที่กัมพูชาก็ยังคงมีอยู่ เพราะปรากฏพบศาสนสถานแบบขอมในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-15 หลายแห่ง…

อันพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 นี้ บรรดานักปราชญ์ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ถือเป็นกษัตริย์สำคัญองค์หนึ่งของกัมพูชาซึ่งมีเดชานุภาพมาก ได้ทรงขยายอาณาเขตของขอมออกไปอย่างกว้างขวาง พบศิลาจารึกของพระองค์ในที่ต่าง ๆ ที่ไกลไปจากกัมพูชา เช่น ศิลาจารึกหลักที่ 19 ที่พบที่ลพบุรี แต่ว่าในขณะเดียวกันบรรดานักปราชญ์เหล่านั้นก็มีความเห็นว่าพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มาจากดินแดนอื่น

โดยเฉพาะศาสตราจารย์เซเดส์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจารึกขอมก็มีความเชื่อในระแรก ๆ ว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ทรงเป็นเจ้านายจากแคว้นนครศรีธรรมราชไปครองราชย์ที่กัมพูชา อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของข้าพเจ้ายุติลงที่ว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ทรงเป็นเจ้านายจากแคว้นอื่น ซึ่งอาจจะเป็นแว่นแคว้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยนี้ ที่ได้ไปครองราชย์ยังเมืองพระนคร อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ทางเครือญาติซึ่งเกิดจากการแต่งงานกันระหว่างกษัตริย์ของทั้งสองแคว้น

และพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 คงทรงดองในทางเครือญาติกับกษัตริย์ในแคว้นต่าง ๆ เช่นในลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วย จึงได้มีศิลาจารึกกล่าวพระนามในถิ่นต่าง ๆ …”

อาจารย์ศรีศักร ยังกล่าวด้วยว่า แม้หลักฐานทางศิลาจารึกและโบราณสถานแสดงให้เห็นว่า ภาคอีสานตอนใต้แถบลุ่มน้ำมูลมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรมกับกัมพูชา แต่บ้านเมืองมีอิสระในตนเองสูง

เพราะศิลาจารึกหลักที่ 120 ที่ปราสาทพนมรุ้ง กล่าวถึงพระราชานามว่า “พระเจ้าหิรัณยวรมัน” และ “พระนางหิรัณยลักษมี” ซึ่งเป็นพระราชบิดาและพระราชมารดาของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” และ “พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1” กษัตริย์แห่งอาณาจักรกัมพูชา ราชนัดดานาม “พระเจ้ากษิตีนทราทิตย์” ยังสมรสกับราชธิดาของทั้ง 2 พระองค์ข้างต้น และมีพระราชโอรสคือ “พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2” ผู้สร้าง นครวัด นั่นเอง

นครวัด กัมพูชา
ภาพถ่ายนครวัด เมื่อ ค.ศ. 1866 โดย Emile Gsell

จะเห็นว่าทั้ง พระเจ้าหิรัณยวรมัน และ พระเจ้ากษิตีนทราทิตย์ ล้วนเป็นกษัตริย์แห่ง “มูลเทศะ” ที่ถูกระบุพระนามไว้ในปราสาทพนมรุ้ง แม้ไม่ได้เป็นกษัตริย์แคว้นกัมพูชาฝั่งเขมรต่ำ แต่เพราะความเป็น “เครือญาติ” พระราชโอรสและพระราชนัดดา ได้แก่ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6, พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 และพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 จึงมีโอกาสได้ไปครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งเมือง “พระนคร” ในกัมพูชา

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงขึ้นจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2549). “พลังลาว” ชาวอีสาน มาจากไหน?. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2566