พิมาย เมืองพุทธ-มหายาน เก่าแก่สุดในลุ่มน้ำโขง ต้นแบบ “ปราสาทนครวัด”

ปราสาทหิน พิมาย เนื่องใน พุทธศาสนา นิกายมหายาน
ปราสาทหินพิมาย (ภาพจาก Facebook กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร, 14 พฤษภาคม 2563)

“ปราสาทหินพิมาย” แห่งเมือง พิมาย เป็นพุทธสถาน นิกายมหายาน เก่าแก่ที่สุดในอีสาน และในบรรดาศาสนสถานฝ่ายมหายานแห่งอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้  ได้แก่ ปราสาทบายน เมืองนครธมในกัมพูชา และปรางค์สามยอดเมืองละโว้ จังหวัดลพบุรี

เมืองพิมาย มีพัฒนาการสืบเนื่องมาจากชุมชนดึกดำบรรพ์บ้านธารปราสาท ราว 3,000 ปีมาแล้ว รวมถึงบ้านโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา บริเวณนี้คือต้นแม่น้ำมูล ซึ่งมีการค้นพบเศียรพระโพธิสัตว์สำริด

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวว่า บ้านธารปราสาท จังหวัดนครราชสีมา เป็นชุมชนโบราณมีคูน้ำล้อมรอบใกล้ตัวปราสาท ไหลไปรวมกับลำน้ำมูลในเขตเมืองพิมาย ลักษณะสำคัญของโบราณวัตถุที่ค้นพบคือ ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ บ้างเขียนเป็นเส้นสี บ้างชุบน้ำโคลนสีแดง โดยรวมมีคอแคบ และปากภาชนะแบนกว้างเป็นปากแตร ล้วนพบในชั้นดินต่ำสุด ซึ่งสัมพันธ์กับโครงกระดูกที่ฝังเป็นแนวเหยียดยาว หลายแห่ง พบร่วมกับเครื่องมือและเครื่องประดับสำริด และเปลือกหอยทะเล

แหล่งชุมชนโบราณที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมบ้านธารปราสาทกระจายอยู่ในอำเภอสูงเนิน อำเภอโนนสูง อำเภอพิมาย อำเภอเมือง และอำเภอใกล้เคียง ในจังหวัดนครราชสีมา ตามที่ราบ และตามลุ่มน้ำสาขาหลายสาย ที่จะไหลไปรวมกันเป็นแม่น้ำมูลในเขตเมืองพิมายทั้งสิ้น

การขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านธารปราสาทโดยกรมศิลปากร ได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของชุมชนในชั้นดินทางวัฒนธรรมล่างสุด ตั้งแต่ชั้นดินทางวัฒนธรรมบ้านธารปราสาท ชั้นดินทางวัฒนธรรมพิมายดำ สูงขึ้นมาจึงเป็นชั้นดินยุคทวารวดี และลพบุรี ซึ่งมีโบราณสถาน-โบราณวัตถุ ช่วยสนับสนุนเป็นจำนวนมาก

จากการคาดการณ์อายุโบราณวัตถุที่พบ “วัฒนธรรมบ้านธารปราสาท” พัฒนาอยู่ในยุคสำริดต่อเนื่องยุคเหล็กเมื่อราว ๆ 2,500 ปีมาแล้ว ขณะที่ “วัฒนธรรมพิมายดำ” เป็นยุคเหล็กตอนปลายต่อเนื่องสมัยทวารวดี ความน่าสนใจคือ แหล่งโบราณคดีสำคัญ ๆ หลายแห่ง เช่น บ้านโตนด ที่พบฐานของศาสนสถานสมัยทวารวดี และลพบุรี กับปราสาทพนมวัน มีการพบโครงกระดูกมนุษย์กับภาชนะดินเผาแบบบ้านธารปราสาทในชั้นดินล่างสุดด้วยเช่นกัน

นั่นแสดงให้เห็นว่า พัฒนาการทางสังคมของชุมชนเหล่านี้ ล้วนเริ่มต้นจากชุมชนในวัฒนธรรมบ้านธารปราสาท ที่กระจายอยู่ตามลำน้ำเล็ก ๆ โดยรอบ ก่อนเกิดเป็นบ้านเมือง มีการทำคูน้ำล้อมรอบชุมชน ขุดคลอง สร้างคันดิน เพื่อการชลประทาน และการคมนาคม จนกลายเป็นบ้านเมืองใหญ่โตในยุคประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี และลพบุรี หลักฐานที่พบในชุมชนสำคัญ ๆ ดังนี้

บ้านโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา พบแหล่งหินตั้ง ฐานศาสนสถาน รวมทั้งเศียร และชิ้นส่วนรูปหล่อสำริดพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรขนาดใหญ่ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15

บ้านพนมวัน มีร่องรอยของการพัฒนาเป็นเมือง การขุดอ่างเก็บน้ำ สร้างแนวคันดินที่แสดงขอบเขตเมือง และสร้างปราสาทมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 15 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 16-17 มีศิลาจารึกระบุชื่อเมืองว่า “รัตนปุระ”

ในบรรดาชุมชนเหล่านี้ ความเป็นศูนย์กลางบ่งชี้ไปที่เมืองพิมาย เพราะเป็นบริเวณที่ลำน้ำสายต่าง ๆ ไหลไปรวมกันเป็นแม่น้ำใหญ่ แล้วไหลผ่านที่ราบลุ่มต่ำน้ำท่วมถึง จากบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ไปจนถึงอุบลราชธานี

พิมาย ถือว่ามีพัฒนาการมาตั้งแต่เป็นชุมชนยุควัฒนธรรมพิมายดำ ถึงสมัยเมืองพระนคร มีการสร้าง ปราสาทหินพิมาย ในพุทธศตรรษที่ 17 และเชื่อว่าเป็นต้นแบบของ “ปราสาทนครวัด” ศาสนสถานอันยิ่งใหญ่ในที่ราบเขมรต่ำ บริเวณโตนเลสาบ กระทั่งพุทธศตวรรษที่ 18 ปราสาทหินพิมายจึงมีการสร้างกำแพง และประตูเมืองคล้าย “เมืองนครธม” ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ปราสาทประธาน ปราสาทหินพิมาย ก่อนการซ่อมบูรณะ
ปราสาทประธานของปราสาทหินพิมาย ก่อนการซ่อมบูรณะ, ถ่ายโดยหลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) ในสมัยรัชกาลที่ 4 (ภาพจาก Facebook กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร, 19 มิถุนายน 2561)

หลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่าบ้านเมืองรอบ ๆ ต้นแม่น้ำมูลมีพิมายเป็นศูนย์กลาง สอดคล้องกับจารึกโบราณสมัยก่อนพระนคร และสมัยพระนคร ที่ว่าบริเวณนี้คือ เขตเแดนที่เรียกว่ามูลเทศะ” มีเมืองสำคัญเรียกว่า ภีมปุระ ต่อมาคือ วิมายปุระ หรือเมืองพิมายนั่นเอง

อีกหนึ่งข้อสังเกตคือ หลักฐานทางโบราณคดีทั้งเทวรูปโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (บ้านโตนด) ตัวปราสาทหินพิมาย ที่สร้างด้วยคติพุทธศาสนาลัทธิมหายาน แสดงให้เห็นว่า บ้านเมืองในบริเวณนี้ให้ความสำคัญกับพุทธศาสนา นิกายมหายาน

บริเวณเมืองพิมายตามลำน้ำสาขาของลำน้ำมูล เช่น ห้วยแถลง ลำนางรอง และลำปลายมาศ ไปถึงเขตเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ พบชุมชนโบราณที่มีคูน้ำล้อมรอบหลายแห่ง บางแห่งมีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมพิมายดำ ก่อนเติบโตเป็นบ้านเมืองในสมัยทวารวดี เช่น บ้านเมืองฝาย บ้านประทัยรินทร์ บ้านกงรถ เป็นต้น

ชุมชนโบราณข้างต้น เป็นแหล่งพบศาสนสถาน พระพุทธรูป และเทวรูปสมัยทวารวดี มีทั้งหิน และสำริด แต่แทบทั้งหมดเป็นคติพุทธมหายาน เช่นเดียวกับโบราณวัตถุที่บ้านโตนด ลักษณะเหล่านี้ยังชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของบ้านเมืองจากเขตพิมายไปถึงเขตพนมรุ้ง อันเป็นเส้นทางโบราณที่จะตัดผ่านช่องเขาในเทือกเขาพนมดงรัก ลงสู่เมืองพระนครในที่ราบเขมรต่ำ

เขตเขาพนมรุ้ง เคยเป็นภูเขาไฟมาก่อน มีภูเขาไฟลูกเล็ก ๆ ที่ดับแล้วหลายแห่ง บนยอดภูยังมีร่องรอยของศาสนสถานที่เป็นปราสาทแบบขอมแทบทุกแห่ง เช่น ภูพนมรุ้ง ภูปลายบัด ยกเว้นภูพระอังคารที่มีเสมาหินสลักภาพเทวรูปปักรอบ เป็นลัทธิความเชื่อที่มีมาก่อนการสร้างปราสาทบนภูพนมรุ้ง

บนภูปลายบัด แม้จะมีปราสาทหินสมัยเมืองพระนคร แต่กลับพบว่ามีกรุที่บรรจุพระพุทธรูปกับเทวรูปสำริดในคติมหายานแบบที่บนในบ้านเมืองฝ้าย และบ้านโตนด อาจารย์ศรีศักร ชี้ว่า พระพุทธรูป-เทวรูปเหล่านี้คือ รูปเคารพของผู้คนในบ้านเมืองตลอดเขตพิมาย และเขตพนมรุ้ง ก่อนจะนับถือศาสนาฮินดูตามเมืองพระนคร

กล่าวได้ว่า ร่องรอยของบ้านเมือง และหลักฐานทางโบราณคดีในเขตวัฒนธรรมพิมาย และพนมรุ้ง เป็นมรดกของกษัตริย์ที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่มูลเทศะ อันมีศูนย์กลางที่ ภีมปุระ มาก่อน นักวิชาการเรียกวงศ์ของกษัตริย์เหล่านี้ว่า “มหิธรปุระ” ซึ่งเป็นราชวงศ์ของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สร้างนครธม

ศาสตราจารย์ปรีชา กาญจนาคม คณะโบราณคดี มหาวิทาลัยศิลปากร ได้ขุดค้นบ้านสัมฤทธิ์ อีกหนึ่งชุมชนโบราณในวัฒนธรรมพิมายดำ พบตุ๊กตาดินเผารูปม้า ซึ่งไม่ใช่สัตว์พื้นเมืองของแอ่งโคราช สัมพันธ์กับกระดูกม้าในแหล่งชุมชนโบราณที่บ้านโตนด ช่วยเป็นประจักษ์พยานว่า มีการติดต่อ การค้า และการเดินทางระยะไกลจากภายนอกเข้ามาถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล และสะท้อนความเจริญของบ้านเมืองแถบนี้

บ้านเมืองยุคเหล็กในลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน ยังน่าจะมีการติดต่อกับบ้านเมืองในที่ราบลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก ในภาคกลาง เพราะพบเครื่องประดับจากเปลือกหอยทะเลที่ลักษณะคล้ายคลึงกัน รวมถึงเศษภาชนะดินเผาแบบพิมายดำในชุมชนโบราณที่เมืองซับจำปา (ลพบุรี) เมืองศรีเทพ (เพชรบูรณ์) และเมืองจันเสน (นครสวรรค์)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงจาก “พิมาย พุทธ-มหายาน เก่าสุดในลุ่มน้ำโขง” ในหนังสือ ‘พลังลาว ชาวอีสาน’ มาจากไหนเขียนโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ (มติชน, ปี 2549) [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กรกฎาคม 2566