ครึกครื้น! “โรงรับจ้างทำชำเราบุรุษ” สมัย ร.5 เสียงดัง สถานทูตข้างๆ ไม่เป็นอันทำงาน

จิตรกรรมฝาผนัง วัดทองธรรมชาติ
ภาพประกอบเนื้อหา - จิตรกรรมฝาผนัง วัดทองธรรมชาติ กรุงเทพมหานครฯ

สยามเป็นหนึ่งในชาติที่ธุรกิจค้าประเวณีเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก นำมาซึ่งรายได้จำนวนมหาศาลแก่เจ้าของกิจการ แต่ผลกระทบอีกด้านก็ทำให้สถานทูตที่อยู่ใกล้เคียงกันทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศให้ย้าย “โรงโสเภณี” หรือ “โรงรับจ้างทำชำเราบุรุษ” ไปอยู่ที่อื่น

ความเฟื่องฟูของกิจการกลุ่มนี้ รัฐบาลถึงขั้นตรา “พระราชบัญญัติสัญจรโรค ร.ศ. 127” เมื่อ พ.ศ. 2452 ขึ้น เพื่อควบคุมโรคติดต่อของหญิงโสเภณีเหล่านี้ รวมถึงเก็บภาษีเจ้าของกิจการซ่องโสเภณีอย่างเป็นระบบ แทนที่การออกตั๋วอนุญาตค้าประเวณีจากเจ้าภาษี

Advertisement

พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดให้หญิงโสเภณีต้องได้รับการตรวจโรคจากแพทย์ รวมทั้งต้องขออนุญาตประกอบอาชีพโสเภณี โดยผู้มีสิทธิขอประกอบอาชีพโสเภณีนั้นต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป และต้องเสียเงิน 12 บาทสำหรับการขอใบอนุญาตหนึ่งครั้ง ซึ่งใบอนุญาตดังกล่าวจะมีอายุ 3 เดือน

เมื่อดูจากค่าใบอนุญาตที่หญิงโสเภณีจะต้องจ่ายให้กับรัฐ จะเห็นว่ารายได้หญิงของโสเภณีคงไม่น้อยทีเดียว ส่วนรัฐก็มีรายได้จำนวนไม่น้อยเช่นกันจากการเก็บภาษีจากหญิงโสเภณี และโรงโสเภณีที่จะต้องเสียเงินค่าอนุญาตตั้งโรงโสเภณีในราคาครั้งละ 30 บาท ซึ่งนายโรงจะต้องขอใบอนุญาตใหม่ทุก ๆ สามเดือน เช่นเดียวกับหญิงโสเภณี

สำเพ็ง พ.ศ. 2452 เป็นย่านการค้า และแหล่งเที่ยวกลางคืน มีสถานรื่นรมณ์เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งโรงโสเภณี โรงบ่อน และโรงสูบฝิ่น (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม ๒๕๕๖)

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้นายโรงที่ทำหน้าที่ดูแล โรงรับจ้างทำชำเราบุรุษ ต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ชายทำหน้าที่เป็นนายโรง สิ่งหนึ่งที่กฎหมายฉบับนี้ดูจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ ความสะอาดของโรงโสเภณี โดยได้กำหนดให้บริเวณโรงโสเภณีต้องปราศจากสิ่งโสโครก รกรุงรัง และต้องปกปิดมิดชิดไม่ให้เห็นผู้คนที่เดินผ่านไปมาเห็นข้างในโรงโสเภณีได้

ที่สำคัญ โรงโสเภณีจะต้องแขวนโคมเพื่อเป็นสัญลักษณ์ เป็นที่มาของคำว่า โรงโคมเขียวโคมแดง เพราะในเวลาต่อมาแม้รัฐบาลจะไม่ได้ประกาศว่าโรงโสเภณีจะต้องแขวนโคมสีอะไร แต่ในขณะนั้นโรงโสเภณีจำนวนมากเลือกที่จะแขวนโคมสีแดงและสีเขียว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ตามข้อกำหนดของรัฐบาล

งานประวัติศาสตร์โสเภณีในประเทศไทยอย่าง งานเรื่อง หญิงโคมเขียว ของเทพชู ทับทอง และงานวิทยานิพนธ์ของดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ เรื่อง “โสเภณีกับนโยบายของรัฐบาลไทย พ.ศ. 2411-2503” ได้กล่าวถึงสตรีชาวจีนและชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาเป็นโสเภณีในประเทศสยาม นอกเหนือจากสตรีชาวไทย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ ไม่ใช่แค่ชาวจีนและญี่ปุ่นเท่านั้นที่เข้ามาเป็นโสเภณีในประเทศไทย แต่ยังมีชาวตะวันตกที่เข้าประกอบอาชีพดังกล่าว และดูเหมือนว่าโรงโสเภณีที่มีสตรีชาวตะวันตกมาให้บริการนี้ ดูจะครึกครื้นมีแขกมาใช้บริการกันไม่ขาดสาย จนเป็นเหตุให้ทางอุปทูตเยอรมันต้องทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศให้ย้ายโรงโสเภณีแห่งนี้ไปอยู่ที่อื่น!

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2453 ดร.เรมี่ (Dr. Remy) อุปทูตเยอรมันประจำประเทศสยาม ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอให้ทางกระทรวงช่วยจัดการย้ายโรงโสเภณีที่อยู่ติดกับสถานทูตเยอรมันบนถนนสุรศักดิ์ออกไป เนื่องจากว่าโรงโสเภณีแห่งนี้ส่งเสียงดังรบกวนสถานทูตเป็นอย่างมากทั้งกลางวันและกลางคืน

ทว่าเมื่อกระทรวงการต่างประเทศจะเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็พบว่า นายโรงดังกล่าวคือ นางแอนนา ซาร์เนลเบอร์ (Anna Zarnelber) สตรีชาวรัสเซีย โดยได้เช่าพื้นที่ของนางฮัดจิ หวัง ชาวจีนซึ่งเป็นคนในบังคับอังกฤษ เพื่อเปิดโรงโสเภณีดังกล่าว โรงโสเภณีนี้มีหญิงโสเภณีทั้งหมด 6 คน โดย 5 คนเป็นผู้หญิงชาวรัสเซีย ส่วนอีกคนคือนางแอนนา ฟรูลานี่ (Anna Furlani) สตรีชาวอิตาเลียน

สยามซึ่งอยู่ภายใต้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาติมหาอำนาจต่าง ๆ รวมทั้งรัสเซีย จึงไม่สามารถจะบังคับให้นางซาร์เนลเบอร์ย้ายโรงโสเภณีของตนออกไปได้ตามความต้องการของอุปทูตเยอรมัน รัฐบาลทำได้เพียงส่งจดหมายร้องเรียนไปที่อุปทูตรัสเซียให้เข้ามาช่วยแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งทางรัสเซียได้ชี้แจงว่านางซาร์เนลเบอร์จะย้ายโรงโสเภณีของตนเองออกไปเมื่อหมดสัญญาในวันที่ 1 กันยายนปีดังกล่าว

ทางรัฐบาลสยามเองจึงทำได้เพียงแต่แจ้งให้ทางอุปทูตเยอรมันทราบว่า จะต้องทนฟังเสียงอึกทึกครึกโครมของโรงโสเภณีต่อไปอีกหกเดือน! โรงโสเภณีดังกล่าวถึงจะย้ายไป

เอกสารดังกล่าวนอกจากจะทำให้เห็นความคึกคักของ “โรงโสเภณี” หรือ “โรงรับจ้างทำชำเราบุรุษ” ที่ส่งเสียงรบกวนการทำงานของอุปทูตจนต้องร้องเรียนให้รัฐบาลสยามเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ยังทำให้เห็นว่าสตรีที่ประกอบอาชีพในสยามเวลานั้น ไม่ใช่มีแค่คนไทย จีน หรือญี่ปุ่น แต่ยังมีสตรีชาวตะวันตกอีกด้วย ซ้ำสตรีเหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นนายโรงโสเภณีเสียเองอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กต.77.2/9 อุปทูตเยอรมันให้ย้ายโรงหญิงนครโสเภณีที่อยู่ใกล้สถานทูตไปที่อื่น วันที่ 20 – 21 มีนาคม 2453

“พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทร์ ศก 127,” ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 24, ตอนที่ 51 (22 มีนาคม 2450): 1365 – 1370.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กันยายน 2561