เรื่องเพศสมัยกรุงเก่า “รับจ้างทําชําเราแก่บุรุษ” มีเจ้าของ “ซ่อง” เป็นถึง “ออกญา”

จิตรกรรม ฝาผนัง ชาย หญิง กำลัง ร่วมรัก
ภาพประกอบเนื้อหา - จิตรกรรมฝาผนัง วัดตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา แสดงให้เห็นชายหญิงต่างชาติขณะเข้าบทรักอยู่ในตัวอาคาร

“เรื่องเพศ” สมัยกรุงเก่า “รับจ้างทําชําเราแก่บุรุษ”

ผู้หญิงกับผู้ชายชาวสยามสมัยโบราณ มีวิถีชีวิตอย่างไร? เป็นเรื่องน่าสนใจ แต่หาหลักฐานยาก เพราะไม่ต่อยมีบันทึก ถึงจะมีก็น้อย เพราะฉะนั้นก็เดาๆ กันไปตามความเข้าใจของแต่ละคน

Advertisement

หลักฐานที่น่าสนใจชุดหนึ่งอยู่ในหนังสือจดหมายเหตุลาลูแบร์ (ฉบับแปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร) แต่ก็มีไม่มากนัก และมักเป็นเรื่องผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย วิถีชีวิตของผู้ชายคงไม่น่าสนใจเท่าผู้หญิง ลาลูแบร์จึงมีเรื่องผู้หญิงมากกว่า ส่วนเรื่องผู้ชายจะมีมากตอนบวชเป็นพระ แต่นั่นก็เป็นประเด็นทางศาสนามากกว่าจะเป็นวิถีชีวิตผู้ชาย

ลาลูแบร์เป็นเอกอัครราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญทรงพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นี่เท่ากับเป็นชนชั้นสูงมองเรื่องต่างๆ ด้วยสายตาของชนชั้นสูงฝรั่งเศสที่มีขนบธรรมเนียมและประเพณีของชาวยุโรปกํากับอยู่ด้วย

ฉะนั้น ลาลูแบร์จึงเห็นว่าการอยู่กินด้วยกันของผู้หญิงกับผู้ชายโดยไม่มีพิธีแต่งงาน เป็นเรื่องน่าละอาย แต่ในสังคมชาวสยามระดับสามัญชนแล้วเป็นเรื่องธรรมดา ดังนี้

การสมสู่อยู่กินด้วยกันอย่างเสรีโดยมิได้ประกอบพิธีแต่งงานนั้น ไม่เป็นสิ่งที่น่าอัปยศ โดยเฉพาะในหมู่ราษฎรสามัญ เขาถือว่าเมื่อได้สมสู่อยู่กินด้วยกันแล้ว ก็เสมือนว่าได้แต่งงานกันแล้ว และถ้าเกิดความไม่ปรองดองกันขึ้น ต่างฝ่ายต่างก็แยกทางกันไป ก็มีผลเท่ากับการหย่าร้างกันไปในตัวนั้นแล

ฟังน้ำเสียงของลาลูแบร์แล้วเหมือนจะเหยียดๆ ราษฎรสามัญชาวสยามยุคนั้นอยู่ในที่ ทําราวกับว่าชนชั้นสูงไม่ได้ทําอย่างนี้

ลาลูแบร์เห็นอีกว่าหญิงชาวสยามก็ทะนงตนมากพอที่จะไม่ยอมทอดเนื้อทอดตัวให้แก่คนต่างประเทศโดยง่าย หรืออย่างน้อยก็ไม่เจรจาวิสาสะด้วยตรงนี้พอเข้าใจได้ เพราะนอกจากขนบธรรมเนียมและประเพณีแล้ว ดูเหมือนชาวสยามจะกลัวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวยุโรปด้วยซ้ำไป เพราะชาวยุโรปผิวขาว ฟันก็ขาวเหมือนฟันหมา น่ากลัวออกจะตายไป ที่สําคัญคือพูดกันไม่รู้เรื่อง ถ้าพูดกันรู้เรื่องบ้างก็คงไม่น่ากลัวนัก

แต่เรื่องนี้สาวมอญไม่กลัว ลาลูแบร์จดว่า 

หญิงชาวพะโคที่อยู่ในประเทศสยาม ซึ่งตนเองก็เป็นคนต่างประเทศอยู่แล้ว ยังติดต่อกับคนต่างประเทศด้วยกันมากกว่า (หญิงชาวสยาม) จึงถือกันว่าเป็นหญิงแพศยา ในทัศนะของบุคคลที่ไม่เล็งเห็นว่านางปรารถนาที่จะหาสามีสักคนหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้ นาง (หญิงชาวพะโค) จึงมีความซื่อตรงต่อสามีจนกว่าเขาจะทอดทิ้งนางไป และเมื่อนางตั้งครรภ์ขึ้น ก็มิได้รับการดูหมิ่นถิ่นแคลนจากชาวพะโคด้วยกันแต่ประการใด นางกลับภูมิใจเสียอีกที่ได้สามีเป็นคนผิวขาว

ในพระนครศรีอยุธยายุคนั้นมีชาวต่างชาติมาอยู่มากมาย ยกเว้นฝรั่งชาวยุโรปเสียแล้ว คนเหล่านั้นก็นับเป็นชาวสยามนั้นแหละ โดยเฉพาะพวกแขก มอญ ลาว น่าจะมีมากกว่าพวกอื่น

ลาวนั้นยกไว้ ถือเป็นญาติสนิท แต่แขกกับมอญเป็นเครือญาติห่างออกไป เพราะพูดกันคนละภาษา ทําให้พวกแขกกับมอญต้องรวมกลุ่มอยู่เฉพาะพวกของตนต่างหากออกไป และประกอบอาชีพที่พวกอื่นดูถูก เช่นอาชีพปั้นหม้อ เป็นต้น

เมื่ออยู่ในฐานะต่ำต้อยอยู่แล้ว การจะมีผัวฝรั่งชาวยุโรปแล้วถูกประณามว่าหญิงแพศยาก็ไม่น่าเสียหาย เพราะมีแต่พวกภาษาอื่นเท่านั้นที่ดูถูก เช่นพวก ไทย ลาว ฯลฯ แต่พวกเดียวกันเองไม่ได้ดูถูก ตรงข้ามกลับจะเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจด้วยซ้ำไปที่มีฐานะดีขึ้น

สมัยต้นกรุงเทพฯ นี้เอง ฝรั่งชาวยุโรปก็ชอบแต่งงานกับสาวมอญมากกว่าสาวไทย เพราะสาวไทยหวงตัวตามประเพณีผู้ดี และยังนับถือผีของตนอย่างเหนียวแน่น แต่สาวมอญถูกเหยียดหยามอยู่แล้ว จึงไม่รังเกียจที่จะแต่งงานกับฝรั่ง กลับจะเป็นเรื่องดีเสียอีกที่มีความเป็นอยู่ดีกว่าเดิม

เรื่องอย่างนี้จะว่าอย่างไหนดีหรือไม่ดีไม่ได้ ดูแต่เมื่อสงครามเวียดนามที่ผ่านมาเถิด เมื่อมีทหารอเมริกันมาตั้งฐานทัพอยู่ในเมืองไทย พวกสาวไทยจํานวนไม่น้อยเป็นเมียเช่าทหารอเมริกันออกถมถืดไป ตอนแรกๆ ก็ด่ากันพึม ตอนหลังไม่เห็นด่า กลับได้ลูกชายลูกสาวมาเป็นดารา นักร้อง นางแบบ สร้างรายได้ดีเสียอีก

แต่ที่ลาลูแบร์บอกอีกตอนหนึ่งว่า เหตุที่สาวมอญเมืองพะโคนิยมแต่งงานกับฝรั่งชาวยุโรปนั้น

อาจเป็นเพราะหญิงชาวพะโคมีอารมณ์รักเหนือกว่าหญิงชาวสยามกระมัง และอย่างน้อยที่สุดนางก็มีความรู้สึกแรงกล้ามากกว่าเป็นแน่

ตรงนี้เห็นจะไม่จริง

ลาลูแบร์คิดสัปดนมากไปตามคํานินทาสาวมอญที่มีมานานนักหนาว่ามอญขวางหมายถึงอวัยวะเพศของสาวมอญไม่ตั้งตรงเหมือนสาวอื่นทั่วไป แต่ขวาง ดังกลอนนิราศวัดเจ้าฟ้า ของสุนทรภู่ที่ทักสาวมอญสามโคก เมืองปทุมธานี ว่า

ฝ่ายลาวลาวเกล้ามวยสวยสะอาด
แต่ขยาดอยู่ว่านุ่งผ้าถุง
ทั้งห่มผ้าตาหรี่เหมือนสีรุ้ง
ทั้งผ้ามุ่งนั้นก็อ้อมลงกรอมตีน

เมื่อยอเท้าก้าวย่างสว่างแวบ
เหมือนฟ้าแลบแลผาดแทบขาดศีล
นี่หากเห็นเป็นเด็กแม้นเจ๊กจีน
เจียนจะปืนซุ่มซ่ามไปตามนาง

ชาวบ้านนั้นปั่นอีเลิ้งใส่เพิงพะ
กระโถนกระทะอ่างโอ่งกระโถงกระถาง
เขาวานน้องร้องถามไปตามทาง
ว่าบางขวางหรือไม่ขวางที่นางมอญ

เขาเบือนหน้าว่าไม่รู้ดูเถิดเจ้า
จงถามเขาคนข้างหลังที่นั่งสอน
ไม่ตอบปากบากหน้านาวาจร
คารมมอญมิใช่เบาเหมือนชาวเมือง

เห็นไหม สุนทรภู่ก็คิดสัปดน แต่ถูกสาวมอญศอกกลับจนหน้าแตกหนีไป

ที่นี้พูดถึงสาวไทยชาวสยามบ้าง ลาลูแบร์บอกว่าหญิงราษฎรสามัญมีเสรีที่จะไปไหนมาไหนก็ได้ จะมีผัวเมื่อไรก็ได้ ไม่มีใครห้าม แต่กับลูกสาวขุนนางแล้วมีข้อห้ามมากมาย มีกรอบประเพณี กําหนดกฎเกณฑ์แน่นอน ถ้าใครทําผิดจะถูกขายเข้าซ่อง แน่ะ ลงโทษกันถึงขนาดนั้น ดังนี้

ขุนนางสยามหวงบุตรีมากเท่ากับที่หึงหวงภรรยาของตนดุจกัน และถ้าบุตรีคนใดกระทําชั่ว ขุนนางผู้บิดาก็ขายบุตรีส่งให้แก่ชายผู้หนึ่ง ซึ่งมีความชอบธรรมที่จะเกณฑ์ให้สตรีที่ตนซื้อมานั้นเป็นหญิงแพศยาหาเงินได้ โดยชายผู้มีชื่อนั้นต้องเสียเงินภาษีถวายพระมหากษัตริย์ กล่าวกันว่า ชายผู้นี้มีหญิงโสเภณีอยู่ในปกครองของตนถึง 600 นาง ล้วนแต่เป็นบุตรีขุนนางที่ขึ้นหน้าขึ้นตาทั้งนั้น อนึ่งบุคคลผู้นี้ยังรับซื้อภรรยาที่สามีขายส่งลงเป็นทาสี ด้วยโทษคบชู้สู่ชายอีกด้วย

จะเห็นว่าเป็นลูกสาวขุนนางมีกินมีใช้สบาย แต่ไม่มีอิสระ แถมยังถูกลงโทษหนักถ้าทําผิด หรือพ่อไม่ชอบ แต่ที่ลาลูแบร์บอกว่าเจ้าของซ่อง หนึ่งมีหญิงโสเภณีของตนถึง 600 คน ออกจะเป็นจํานวนเล่าลือมากกว่าจะเป็นจริง อย่าลืมว่าไม่ได้มีช่องนี้ช่องเดียว แต่มีซ่องอื่น อีก ถ้ารวมกันทั้งหมดก็จะมีโสเภณีเป็นพัน คน เป็นไปได้ยังไง กองทัพสมัยนั้นจะมีคนเท่าไร ลองคิดดู แล้วโสเภณีมีมากขนาดนี้มิเป็นกองทัพหรือ

หรือมีเท่านั้นจริงๆ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันแฮะ

ลาลูแบร์บอกอีกว่า เจ้าของซ่องแห่งหนึ่งมีบรรดาศักดิ์ถึงออกญาทีเดียว ดังนี้

บรรดาผู้ที่มีบรรดาศักดิ์สูงนั้น หาใช่เจ้าใหญ่นายโตเสมอไปไม่ เช่นเจ้ามนุษย์อัปรีย์ที่ซื้อผู้หญิงและเด็กสาวมาฝึกให้เป็นหญิงนครโสเภณีคนนั้น ก็ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นออกญา เรียกกันว่าออกญา มีน (Oc-ya Meen) เป็นบุคคลที่ได้รับการดูถูกดูแคลนมากที่สุด มีแต่พวกหนุ่มลามกเท่านั้นที่ไปติดต่อด้วย

นี่แสดงว่าขุนนางในกรุงศรีอยุธยาหารายได้พิเศษด้วยการตั้งซ่อง ก็อย่างเดียวกับตํารวจสมัยนี้คุมซ่องนั่นแหละน่า

ซ่องในกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ตามตลาด เอกสารจากหอหลวงยุคปลายกรุงศรีอยุธยายังจดว่าซ่องแห่งหนึ่งอยู่ตลาดบ้านจีนปากคลองขุนละครไชย มีศาลเจ้าจีนอยู่ท้ายตลาดด้วย เป็นตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือและทางบก มีตึกกว้านร้านจีนมาก ขายของจีนมากกว่าของไทย

บริเวณตลาดจีนที่ว่าอยู่ปากคลองขุนละครไชย หมายถึง คลองตะเคียนที่อยู่นอกเมืองด้านทิศตะวันตก  เป็นย่านจอดเรือสินค้าที่มาจากอ่าวไทย เรียกว่าย่านท่าเรือนั่นเอง

ที่นี่ไม่ได้มีซ่องเดียว แต่มีถึง 4 ซ่อง เอกสารจากหอหลวงใช้คําไพเราะว่า ซ่องทั้งหมดนี้ รับจ้างทําชําเราแก่บุรุษ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เรื่องเพศ สมัยกรุงเก่า ‘รับจ้างทําชําเราแก่บุรุษ'” เขียนโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม 2563