“ถนนลูกหลวง” มาจากไหน ลูกหลวงที่ว่าคือใครบ้าง?

ถนนลูกหลวง
ป้ายถนนลูกหลวง (ภาพ : มติชนสุดสัปดาห์)

หลังจากมีคอนเทนต์ “ถนนหลานหลวง” ไปว่า “หลาน” ที่ว่าในถนนเส้นนี้คือพระองค์ใด (อ่านต่อได้ที่นี่) ครั้งนี้จึงได้โอกาสมาอธิบาย “ถนนลูกหลวง” บ้าง ว่า “ลูก” ที่ว่าคือพระองค์ไหน

“ถนนลูกหลวง” เป็นถนนเก่าแก่อีกเส้นหนึ่งในกรุงเทพมหานครที่มีความสำคัญ เพราะเชื่อมโยงกับถนนสำคัญอีกหลายเส้น อย่าง ถนนนครปฐม ถนนพระราม 5 ถนนนครสวรรค์ รวมไปถึง “ถนนหลานหลวง” 

สถานที่สำคัญใกล้เคียงถนนลูกหลวงก็มีมากมาย เช่น ทำเนียบรัฐบาล สำนักเลขาธิการรัฐมนตรี ตลาดสะพานขาว วัดสมณานัมบริหาร (วัดญวณสะพานขาว) เป็นต้น

แล้วเหตุใดถึงได้ชื่อว่าถนนลูกหลวง? 

ข้อมูลใน นิทรรศการหมุนเวียนออนไลน์ “เล่าเรื่องอาคารกับวันวานรอบพิพิธภัณฑ์” ของ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่าไว้ว่า เหตุที่ได้ชื่อ “ลูกหลวง” มีที่มาคล้ายกับถนนหลานหลวง คือ เป็นที่ตั้งวังของเหล่าเจ้านาย ผู้ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหมือนกับที่ถนนหลานหลวง คือ เป็นที่ตั้งวังของพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ 5 เช่นเดียวกัน

วังที่ตั้งอยู่บริเวณนั้น ประกอบไปด้วย 4 แห่ง ดังนี้…

1. วังลดาวัลย์ หรือ วังแดง ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์

2. วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี

3. วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ หรือที่หลายคนรู้จักว่า “วังนางเลิ้ง”

4. วังไชยา ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส

ปัจจุบันพื้นที่บริเวณวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และวังไชยา ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส ได้กลายมาเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครและกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://museumbuildingandsurroundingspace.com/วันวานรอบพิพิธภัณฑ์/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤษภาคม 2567