“หมูเร่ร่อน” ในพระนคร ตัวการทำให้กลิ่นจากสิ่งปฏิกูลขจรขจายไปทั่วเมือง!!?

หมู โคราช ในอดีต รัชกาลที่ 5 ประกอบ เรื่อง หมูเร่ร่อน
หมูเลี้ยงที่โคราช ภาพถ่ายราวรัชกาลที่ 5 มีคนดูแลอย่างดี ไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญเหมือนหมูในพระนคร (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

หมูเร่ร่อน ที่เพ่นพ่านอยู่ใน พระนคร ตัวการทำให้กลิ่นจากสิ่งปฏิกูลขจรขจายไปทั่วเมืองในสมัย รัชกาลที่ 7

บทความ “นาสิกประสาตภัย” : ประวัติศาสตร์ของกลิ่นเหม็นในเมืองกรุงเทพฯ โดย ผศ. ดร. นิภาพร รัชตพัฒนากุล ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2562 ได้นำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์ “ความเหม็น” ของกลิ่นต่างๆ ที่ล่องลอยอยู่ในกรุงเทพฯ “กลิ่นเหม็น” ของพระนครในเวลานั้นล่องลอยมาจากต้นตอใดกันบ้าง

หนึ่งในกลิ่นต่างๆ คือ “กลิ่น” จากสิ่งปฏิกูล

หมูเร่ร่อน ที่เพ่นพ่านอยู่ในพระนคร ตัวการทำให้กลิ่นจากสิ่งปฏิกูลขจรขจายไปทั่วเมือง นักหนังสือพิมพ์กลุ่มชาวพระนครรุ่นใหม่เริ่มจะทนกับกลิ่นนี้ไม่ได้จนต้องบ่นออกมาดังๆ ใน พ.ศ. 2469 เช่น บทความในหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองบ่นว่า หมูเร่ร่อน พวกนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความโสโครก อันจะนำมาซึ่งเชื้อโรคและเป็นการ “นิวแซนซ์” (“นิวแซนซ์” (nuisance) เป็นคำที่นักหนังสือพิมพ์นิยมใช้เมื่อกล่าวถึงสิ่งรบกวนต่างๆ อันเกิดจากสภาพแวดล้อม) แก่พระสงฆ์ สามเณร ประชาชน จนเจ้าหน้าที่กองแพทย์ฯ กรมสาธารณสุขต้องประชุมกันเพื่อหาทางกำจัดหมู แต่เรื่องก็เงียบไป

กระทั่งเมษายน พ.ศ. 2471 หมูเร่ร่อน ได้เป็นประเด็นอีก คราวนี้หนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง ได้ทำเป็นบทความข่าวต่อเนื่องหลายชิ้นติดกัน ด้วยการไปสัมภาษณ์เจ้าอาวาสวัดต่างๆ ที่อยู่ในเขตสุขาภิบาล เช่น พระธรรมธราจารย์ เจ้าอาวาสวัดมหาพฤฒาราม พระอาจารย์โป๋ เจ้าอาวาสวัดสามจีนใต้ ซึ่งสรุปลักษณะโดยรวมของหมูวัดได้ว่า หมูพวกนี้เป็นหมูฝูงเดียวกันทั้งหมด จะโยกย้ายหากินไปตามถานวัดต่างๆ ในละแวกเดียวกัน เช่น วัดประทุมคงคา วัดสัมพันธวงศ์

และมีหมูอีกฝูงที่อาศัยอยู่ในละแวกวัดบพิตรพิมุข วัดจักรวรรดิ วัดไชยชนะสงคราม วัดสระเกศ โดยจะกินอุจจาระที่ถานพระเป็นอาหาร ภายหลังกินเสร็จหมูเหล่านี้ยังได้เที่ยวสะบัดหัวสะบัดหางจนอุจจาระกระเด็นเปรอะเปื้อนตามถนนหนทาง เจ้าอาวาสวัดส่วนใหญ่รู้สึกว่าหมูพวกนี้เป็นสาเหตุแห่งความสกปรกของวัด แต่ทำอะไรไม่ได้และอยู่ด้วยความ “เคยชิน”

ในขณะที่เจ้าอาวาสวัดชนะสงครามอธิบายถึงที่มาของหมูเหล่านี้ว่าเป็น “หมูหลวง” มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ในตอนนั้นพอถึงเทศกาลตรุษ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนำสุกรมาปล่อยที่วัดนี้เสมอ

ส่วนตัวเจ้าอาวาสวัดชนะสงครามเห็นว่าหมูเหล่านี้มีประโยชน์ เพราะมันจะกินอุจจาระที่ถานพระ ทำให้ถานพระสะอาดอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่นเมื่อ 5-6 ปีก่อน เจ้าพนักงานเคยมาจับหมูพวกนี้ไปครั้งหนึ่งทำให้ถานล้น พระสงฆ์ทุกรูปต้องช่วยกันออกเงินคนละ 50 สตางค์ เพื่อจ้างคนมาขุดบ่อเพื่อขนอุจจาระฝัง เจ้าอาวาสจึงไม่อยากให้ทางการมาจับหมูไปอีก

หมู โคราช ในอดีต รัชกาลที่ 5
หมูเลี้ยงที่โคราช ภาพถ่ายราวรัชกาลที่ 5 มีคนดูแลอย่างดี ไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญเหมือนหมูใน พระนคร (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เรื่องนี้ไม่เพียงแต่อยู่ในความสนใจของนักหนังสือพิมพ์ที่หยิบมาเป็นประเด็นเขียนบทความต่อเนื่องเท่านั้น แต่คนทั่วไปบางส่วนก็มองว่าหมูเร่ร่อนก่อให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุขด้วย ตัวอย่างเช่น จดหมายที่ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ศรีกรุง กล่าวถึงวิธีการแก้ปัญหาปริมาณหมูที่เพิ่มมากขึ้นของกรมนคราทรว่ามีอยู่ 2 วิธี คือ หนึ่งการจับหมูไปปล่อยที่วัดในฝั่งธนบุรี และสองการให้เอกชนจับไป

โดยในเดือนเมษายน ปีเดียวกันนั้นเอง หลังจากหนังสือพิมพ์ทั้งบางกอกการเมืองและศรีกรุงลงข่าวเรื่องหมูวัดอย่างต่อเนื่อง สมุหพระนครบาล ได้อนุญาตให้ นายสมบุญ ขันมณี จับหมูที่ไม่มีเจ้าของเร่ร่อนอยู่ในเขตสุขาภิบาลไปเพาะเลี้ยงเพื่อทำพันธุ์ที่ลาดยาว บางซื่อ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2562